Before I die ตาย ก่อน ตาย

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ 10 พฤศจิกายน 2013

เย็นวันศุกร์ — ใจกลางกรุงเทพฯ — รถติด

คลื่นคนเดินไหลตามๆ กันไปบนทางเดินลอยฟ้าย่านสยามสแควร์ พวกเขาและเธอกำลังจะลอยไปสู่แห่งหนใดในความปรารถนาของตัวเอง  และไม่ทันรู้ตัว จากทางเดินเหนือถนนที่รถยนต์เรียงรายอยู่ข้างใต้นั้น ก็นำพามาสู่บันไดเลื่อนในศูนย์การค้าอันเจริญตาและโอ่อ่า ใครบางคนไหลเคลื่อนลงมาสู่โถงด้านล่างของศูนย์การค้านั้นด้วยบันไดไฟฟ้า  บรรยากาศรอบตัว สรรพเสียง และทุกองศาการมอง ณ ที่แห่งนั้น ล้วนแล้วแต่ถูกแต่งแต้มฉาบทาด้วยสรรพสินค้า และบริการเพื่อปลุกเร้าความอยากได้ อยากมี อยากเป็น

เบื้องหน้าของเธอคนนี้ มีการรวมตัวของผู้คนนับร้อยแน่นขนัดอยู่หน้าเวที อาจไม่แปลกนัก หากเป็นเวทีอีเว้นท์ส่งเสริมการตลาด ประกวดประชัน โดยมีดาราหนุ่มหล่อสาวสวยชื่อดังเป็นแม่เหล็กดึงดูด พร้อมแสงสีเสียงตระการตาและกระหึ่มรูหู แต่นี่กลับเป็นเวทีที่มีการพูดถึงความถดถอยของชีวิต ความจริงที่ไม่มีใครปรารถนา

วงคุยหัวข้อ “ป่วยเป็นก็เห็นสุข” มีบรรดาผู้ที่ถูกโรคภัยรุมเร้า แต่ก็ยังหยัดยืนที่จะมีชีวิตดีๆ ต่อไป ตามด้วยการเสวนาระหว่างหนึ่งพระ กับหนึ่งฆราวาสคนช่างคิดช่างเขียนในหัวข้อ “Before I die” แง่คิดดีๆ เพื่อให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ลืมตาย และวันต่อมา สตรีสูงวัยแต่หัวใจเบิกบานเสมอ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ก็จะมาบอกเล่าการเตรียม “พร้อมก่อนตาย”

ไม่น่าเชื่อว่า ฝูงชนที่เข้ามาเสพ แสวง และตอบสนองความต้องการของตัวเองในห้างสรรพสินค้า จะมีคนมุ่งหน้ามานั่งฟังสิ่งซึ่งเป็นความเป็นจริงของชีวิตกันอย่างหนาแน่น ยังไม่เคยเห็นว่ามีเวทีใดในห้างใหญ่แห่งนี้ จะมีคนสนใจถึงกับต้องนั่งลงกับพื้น แทรกตัวอยู่ตามช่องว่าง เพียงเพื่อสดับตรับฟังความเป็นจริงของชีวิต

นี่ไม่ใช่งานอีเว้นท์ที่มีสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือเนื้อหนังหน้าตาสวยงามของดาราเป็นเครื่องล่อ แต่นี่คือความจริงที่เราควรตระหนัก แต่กลับถูกโลกทำให้หลงลืมว่า ความเจ็บป่วยล้มตาย เป็นสิ่งธรรมดาที่อาจเกิดกับเราหรือคนที่เรารักได้ทุกเมื่อ  เชื่อว่าหลายคนที่เดินผ่านไปมาในห้างแห่งนั้นบนบริโภควิถี เมื่อได้เงี่ยหูฟังความจริงของชีวิต อาจฉุกคิดอะไรขึ้นมาบ้าง  เหมือนที่พิธีกรหนุ่มบนเวทีบอกว่า เดี๋ยวเสร็จงานคงต้องรีบโทรหาใครอีกหลายคน เพราะหากคิดว่าเวลาในชีวิตเรากำลังจะหมดลงในอีกไม่นาน เราจะลำดับความสำคัญได้ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง การเดินห้างอาจไม่จำเป็นและเร่งด่วนเท่าการกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ พี่น้อง คนรัก นั่นคือความปรารถนาที่แท้  และในความเป็นจริงไม่มีใครบอกได้ว่า ใครจะตายเมื่อไหร่ อาจกะทันหันเพียงชั่วลมหายใจเฮือกหน้าก็ได้ หรืออาจจะยืนยาวไปอีกหลายสิบปี

“พรุ่งนี้กับชาติหน้า ไม่แน่ว่าชาติหน้าอาจมาถึงก่อน” — พระไพศาล วิสาโล กล่าว

ความปวดร้าวทุกข์ทนกับความตาย ไม่ว่าจะของตัวเองหรือคนใกล้ตัว เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่หากเราไม่ประมาท มีการเตรียมพร้อม ก็ทำให้เราข้ามผ่านภาวะนั้นไปได้โดยไม่ทุกข์มากนัก

“ความตายไม่น่ากลัวเท่าความกลัวตาย”

“คนกล้า ตายครั้งเดียว  คนขลาด ตายหลายครั้ง”

“ความตายคือการเปลี่ยนสภาพ”

ข้อความสั้นๆ ที่ปรากฏอยู่ในสมุดจดเล่มเล็กๆ เป็นข้อคิดที่ได้จากการนั่งฟังเสวนา ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำความเข้าใจ และเห็นจริงตามนั้น ไม่เพียงแต่จะยอมรับความตายได้มากขึ้น พระไพศาล วิสาโล ผู้นำแนวคิดการเผชิญความตายอย่างสงบมาสู่ผู้คนในสังคม ยังชี้ให้เห็นว่า การตาย เป็นวาระสำคัญของชีวิตที่ไม่มีโอกาสแก้ตัว การตายที่ดี การตายที่สงบงดงามเกิดขึ้นได้ ต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจ และเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนหรือซ้อมตายทุกขณะ

เพราะการตายคือการพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักหมดทุกอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง อาชีพการงาน คนที่เรารัก หรือแม้กระทั่งร่างกายของตัวเราเอง  จึงไม่แปลกว่าคนเราจึงกลัวตาย เพราะเรายังยึดติดในสิ่งต่างๆ แต่พอถึงวันที่จำต้องละวางพลัดพรากทั้งหมดที่เรามี ก็ยากจะทำใจ นั่นจึงเป็นที่มาของความทุกข์  ความกลัวตายถึงกับทำให้คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงจนหลงลืมว่า วันหนึ่งความเป็นจริงในสิ่งนี้ต้องเกิดกับเราทุกคน และมันจะน่ากลัวน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าวันนี้เราทำความรู้จัก ทักทายความตาย ซ้อมตาย ซ้อมปล่อยวางบางสิ่งบางอย่างในชีวิต

ระหว่างนั่งฟังสิ่งน่าคิดบนเวที ท่ามกลางผู้คนมากหน้าหลายตา หญิงสาวนางหนึ่งก้าวจ้ำผ่านเข้ามา  ด้วยความคุ้นหน้ายิ่งนัก สุดท้ายก็ลุกไปทัก ไม่น่าเชื่อว่าหญิงสาวเจ้าของบุคลิกปราดเปรียว โฉบเฉี่ยว สมกับเป็นแอร์โฮสเตสมาดมั่น เธอตั้งใจมาฟังบางสิ่งในงานนี้ ทั้งที่ไม่รู้จักใครเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้พูดบนเวที หรือกระทั่งคนจัดงานจะเป็นใคร จัดงานนี้เพื่ออะไร เพียงเธอได้ข่าว เธอก็ก้าวเข้างานมาอย่างตั้งใจ

สาวเปรี้ยว เกาะกระแสแฟชั่น โลดแล่นอยู่ในโลกสมัยใหม่ ทำให้แปลกใจไม่ได้ว่าอะไรบันดาลใจให้เธอมานั่งอยู่บนพื้นห้างสรรพสินค้า เพื่อฟังบางสิ่งจากบางคนที่เธอไม่เคยรู้จักบนเวที  หลังเลิกงานบนเวที ในมุมหนึ่งของร้านอาหาร เธอนั่งคุยให้ฟังถึงชีวิต “นางฟ้า” หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง เธอก็พกพาความเชื่อมั่นเข้าสู่อาชีพแอร์โฮสเตส และแต่งงานกับหนุ่มชาวต่างชาติ มีครอบครัวที่อบอุ่นกับลูกสาววัยน่ารัก ความปกติสุขที่มีอยู่ไม่ได้ทำให้เธอประมาทกับชีวิต

ใครจะรู้ว่า วันไหน อะไรจะเกิดขึ้นกับเราบ้าง ความธรรมดาๆ ของวันๆ หนึ่ง อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วที่เราปรารถนา เช้ามาเรายังรู้สึกตัว หายใจ และร่างกายยังคงทำหน้าที่เป็นปกติ สามีที่รักยังอยู่กับเรา ลูกยังงอแงให้เราหงุดหงิดบ้าง น้ำยังไหล ไฟยังสว่าง มีเงินให้จ่ายค่าน้ำมันรถ มีอาหารกิน มีอะไรๆ อีกหลายอย่างที่พอต่อการมีชีวิตอยู่ในวันนั้นๆ ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี  เพียงแค่นี้ก็อาจจะเป็นความปกติสุขอย่างเหลือล้น เมื่อเทียบกับบุคคลในรายการเล่าข่าวยามเช้า ที่ลูกพลัดตกน้ำตาย แม่ยายถูกหลอกเงินจนหมดตัว ผัวเก่าใจร้ายกลับมาฆ่าล้างแค้น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ฟ้าผ่า และสารพัดเหตุที่ทำให้เกิดการพลัดพราก สูญเสีย จนชีวิตเสียศูนย์

“พรุ่งนี้กับชาติหน้า ไม่แน่ว่าชาติหน้าอาจมาถึงก่อน”

แน่นอนว่า การระลึกนึกถึงความตาย ซึ่งเป็นการพลัดพรากแบบหมดจด จะทำให้เราเห็นเรื่องอื่นเป็นเรื่องเล็ก ความพลัดพรากสูญเสียของคนอื่นที่ตื่นเช้ามาเรารับรู้ผ่านข่าวสาร น่าจะช่วยสะกิดเตือนได้ว่า หากวันหนึ่งเหตุการณ์ไม่ปกติสุขเช่นนี้เกิดขึ้น เราจะวางใจอย่างไรให้ทันทุกข์ที่ถาโถมเข้ามา ชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์เป็นบทเรียนให้แก่กันและกันเสมอ เพียงแค่ไม่เห็นเป็นความชินชาว่าเป็นข่าวร้ายรายวัน

การเตรียมตัว ยอมรับ และกล้าเผชิญหน้ากับการพลัดพรากอย่างหมดจดเมื่อวันสุดท้ายของชีวิตมาถึง ก็จะทำให้วันนี้ ชั่วโมงนี้ และนาทีนี้ เป็นโมงยามที่ดีที่สุดของชีวิต ที่พร้อมจะทำทุกอย่างให้หมดจด งดงาม โดยไม่ต้องคาดหวังการแก้ตัว เพราะไม่แน่ว่าจะยังมีเวลาแก้ตัวต่อกันหรือไม่

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

ผู้เขียน: นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

หลังจากจบการศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เข้าสู่อาชีพในสายสื่อสารมวลชนทำข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ นอกจากสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมแล้ว ยังสนใจแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมแวดล้อม ระยะหลังสนใจแนวทางการเรียนรู้พัฒนาตัวเองในมิติของชีวิตจิตใจ