ข้างหน้าทางชำรุด ป้ายสีแดงเขียนด้วยตัวอักษรสีดำปักไว้ก่อนถึงทางโค้งขึ้นเขาราวๆ 500 เมตร
แสงไฟหน้ารถทอลำฝ่าม่านฝนได้ไม่เกิน 5 เมตร ประกอบกับแสงฟ้ายามโพล้เพล้ ช่างหลอกตาดีแท้
ปลายทางยังอยู่อีกยาวไกล การดันทุรังขับรถบนเขาสูงคดเคี้ยวในสภาพอากาศเลวร้าย ถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหน้าผาหินทรายที่พร้อมจะถล่มลงมาได้ทุกเวลา
แม้ทางข้างหน้าจะอันตรายและสุ่มเสี่ยงถึงชีวิต แต่ก็ไม่อาจย้อนกลับไปทางเดิมที่ผ่านมาได้ รถคันอื่นๆ ที่ต้อยตามกันมาอาจเสียขบวน พลัดหลงออกจากเส้นทาง หรือที่เลวร้ายที่สุดคือพลัดตกสู่หุบเหวเบื้องล่าง ทางแคบเกินกว่าจะกลับตัว หนำซ้ำยังไม่มีไหล่ทางให้เบี่ยงหลบอีกด้วย
ทางเลือกเดียวที่มีอยู่ก็คือ มุ่งไปข้างหน้าเท่านั้น
ณ จุดเริ่มต้น เราต่างคนต่างมาจากคนละทิศคนละทาง ไม่มีใครเลือกและเป็นผู้ถูกเลือกว่าจะต้องอยู่ข้างหน้าหรือรั้งท้าย บางสิ่งบางอย่างจะบอกเราเอง
รถยนต์คันเก่าบ่งบอกถึงหลักไมล์ของคนขับและความทรหดอดทนของตัวเครื่อง ไม่ว่าจะแตะเบรกหรือเข้าโค้ง ย่อมให้ผู้ที่ตามมาข้างหลังเชื่อมั่นและทำตาม (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดูแต่คันข้างหน้าจนลืมเส้นทางและรถยนต์ของตัวเองหรอกนะ)
ไม่ว่าจะเป็นการขับรถขึ้นเขา การเดินเลียบหน้าผาสูงชัน หรือแม้แต่เดินบนทางเท้าที่แสนจะร่มรื่น “สติ” คือสิ่งที่สำคัญที่สุด แม้บทเรียนจะเป็นเรื่องสำคัญ เราดูและฟังเสียงคนที่อยู่ข้างหน้า เพราะเสียงนั้นบอกถึงประสบการณ์ที่เขาสัมผัสมาก่อน แต่เราก็ต้องมี “สติ” อยู่กับย่างก้าวของเราจริงๆ ด้วย
ยิ่งสูง ยิ่งแคบ และยิ่งหนาว ดังนั้น การจะเดินทางไปให้ถึงย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งแรงพลังในการปีนป่าย แน่นอนว่า ผู้ที่ตามมาอาจอยู่ห่างๆ หรือออกนอกเส้นทางไปบ้าง แต่ทุกเส้นทางที่แต่ละคนเลือกเดินไปนั้น มีสายใยบางๆ ที่นอกจากจะเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองแล้ว ยังเชื่อมโยงถึงสรรพสิ่งที่อยู่รอบข้างเสมอ ไม่ว่าเราจะรับรู้หรือทำเป็นไม่รู้ก็ตาม
นานมาแล้วมีนักเดินทางคนหนึ่ง ขณะที่พระอาทิตย์กำลังจะตก ความมืดกำลังโรยตัวปกคลุมอาณาบริเวณช้าๆ เขากวาดสายตาไปรอบๆ มองเห็นเพียงท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ ในดินแดนที่ห่างไกลความเจริญ ไม่มีแม้แต่ดวงไฟเล็กๆ ที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของกระท่อมสักหลัง เขาจึงครุ่นคิดถึงสถานที่ที่พอจะซุกหัวนอนในค่ำคืนที่กำลังจะมาถึง
ในแสงสลัว เขามองเห็นต้นหญ้าขึ้นสูงอยู่เต็มท้องทุ่ง เขาจึงรวบใบของพวกมันผูกไว้ด้วยกัน ในขณะที่โคนยังยึดอยู่กับผืนดิน ไม่นานนักกระท่อมหญ้าที่มีชีวิตก็พร้อมเป็นที่พำนักของนักเดินทาง
เช้าวันรุ่งขึ้น เขาก็แก้ปมออก กระท่อมหญ้าก็คลี่คลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องทุ่งดังเดิม มีเพียงร่องรอยเล็กๆ น้อยๆ สำหรับทุ่งหญ้าและ
ความทรงจำของนักเดินทางที่เป็นหลักฐานถึงการมาเยือนของเขาเท่านั้น*
แท้จริงแล้วนักเดินทางสัมพันธ์กับเส้นทางอย่างนั้น
แต่ด้วยความคิดที่ว่าตนมีอิสรภาพและอำนาจเหนือสรรพสิ่ง นักเดินทางบางคนจึงเนรมิตคฤหาสน์อันวิจิตรพิสดารซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องพล่าผลาญทรัพยากรและชีวิตของผู้คนรายทางเหลือคณานับ ทั้งที่มีเป้าหมายเพียงเพื่อจะซุกหัวนอนชั่วแรมคืนเท่านั้น แต่สิ่งที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังคือเศษซากปรักหักพังอันแปดเปื้อนและเป็นพิษต่อผืนแผ่นดิน
ด้วยเหตุนี้ การ “อยู่” และ “เป็น” ของเราล้วนมีความหมายและส่งผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นความรับผิดชอบที่เราควรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แน่นอนว่าไม่เฉพาะเพียงชั่วอายุของคนรุ่นเราเท่านั้น
ยกตัวอย่างกรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เป็นประเด็นที่ควรหยิบยกมาพิจารณาอย่างมีสติและรอบคอบอย่างยิ่ง การมองด้วยสายตาที่ปราศจากอคติ จะทำให้เรา “เห็น” ภาพรวมของสถานการณ์ตามความเป็นจริง “เห็น” รายละเอียดในแง่มุมต่างๆ อย่างลึกซึ้ง “เห็น” จุดที่เกิดการบิดเบือนผิดเพี้ยนไป และที่สำคัญคือ “เห็น” ความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยในมิติต่างๆ เพื่อค้นหาทางออกที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ คนที่อยู่นอกพื้นที่ คนรุ่นหลัง คนที่อยู่อีกซีกโลก และที่สำคัญคือระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมองค์รวม
การหยิบยกข้อมูลทางวิชาการและวิชามารมาห้ำหั่นฝ่ายตรงข้ามด้วยความเกลียดชังและมาดหมายที่จะเอาชนะถ่ายเดียวนั้น ยากที่จะทำให้เห็นทางยุติปัญหาได้ มีแต่จะทำให้ปัญหาบานปลายและเรื้อรังมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ฉุดรั้งให้ตนเองตกต่ำลงทุกขณะ นี่คือเหตุที่พยายามเน้นย้ำอยู่เสมอว่าทำไม “สติ” จึงมีความสำคัญนัก
กับสถานการณ์ที่บีบคั้นให้เราต้องเลือกข้าง โดยมีการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศโยงใยอยู่เบื้องหลัง คือตัวแปร (หรืออาจจะเป็นต้นตอ) ที่ทำให้โจทย์ของสังคมยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อไม่มีทางเลี่ยง เราจึงควรมองโจทย์นี้ในเชิงสร้างสรรค์ที่จะมาท้าทายพลังแห่ง “สติปัญญา” ของคนในสังคมทุกระดับชั้น ขอย้ำว่า ทุกระดับชั้น การเคลื่อนไหวของมวลชนกลุ่มต่างๆ ในห้วงที่ผ่านมา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้เท่านั้น ยังมีหุบเหว ขวากหนาม หรือแม้แต่ทางแยก รอคอยที่จะทดสอบเราอยู่เบื้องหน้าอีกมากมาย
การเข้าถึงข้อมูลเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คน “เห็น” สถานการณ์ต่างๆ อย่างรอบด้านมาขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการเน้นย้ำความแตกต่างของกลุ่มคน จนนำไปสู่การแบ่งแยกฝักฝ่ายอย่างชัดเจน ดังนั้น แม้ข้อมูลจะช่วยให้เรา “เห็น” ทั้งภาพรวม รายละเอียด และความเชื่อมโยง แต่ข้อมูลก็เป็นเหมือน “ดาบ” ที่ไม่มีตา จึงขึ้นอยู่กับว่าดาบนี้จะอยู่ในมือใคร ซึ่งแม้จะเป็นดาบทื่อขึ้นสนิมแต่เมื่ออยู่ในมือของผู้มีอำนาจ ก็อาจเถือแถไปจนได้
แต่กระนั้น เราก็ยังคงคาดหวังว่า ดาบที่คมกริบจะอยู่ในมือของผู้ที่มีสติปัญญาและคุณธรรม เพื่อตัดปมปัญหาต่างๆ ให้ขาดสะบั้นลง
ที่สำคัญ จงอย่าลืมว่า เราทุกคนต่างถือดาบอยู่ในมือ
แม้เวลาจะล่วงเข้าสู่ยามดึกแล้ว แต่ฝนก็ยังคงเทลงมาอย่างไม่ขาดสาย ดวงไฟหน้ารถยังซื่อตรงต่อหน้าที่ หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล โค้งอันตรายก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุดลงง่ายๆ เรา-ในฐานะผู้กุมบังเหียนพาหนะแห่งชีวิตและโชคชะตาของสรรพสิ่ง มิอาจประมาทแม้เสี้ยววินาที
แสงไฟจากรถคันเก่าที่อยู่ข้างหน้าลิบๆ แม้จะทำให้เชื่อมั่นและอุ่นใจ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องรับผิดชอบต่อตัวเองและรถคันหลังที่กำลังตามมาด้วย
ป.ล. อย่าลืมคาดเข็มขัดด้วยล่ะ เดี๋ยวตร.จับ!
*ดัดแปลงจากหนังสือ วะบิ ซาบิ สำหรับศิลปิน นักออกแบบ กวี & นักปรัชญา เขียนโดย เลนนาร์ด โคเรน, แปลโดย กรินทร์ กลิ่นขจร สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.