หลายตัวตนในโลกสองใบ

มะลิ ณ อุษา 8 กันยายน 2013

อาจฟังดูพิลึกพิลั่น หากจะบอกว่าโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้มีมากกว่าหนึ่งใบ!

แน่นอนว่า โลกใบแรกจะต้องเป็นโลกทางกายภาพที่เราสามารถรับรู้ได้ทางอายตนะภายใน ไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งดูเหมือนว่าโลกใบแรกของเราจะแคบลงและมีข้อจำกัดมากเกินไป จึงได้มีคนประดิษฐ์คิดค้นโลกเสมือนจริงขึ้นมาในรูปลักษณ์ต่างๆ กัน เป็นโลกที่เราสามารถออกแบบสร้างสรรค์ไปได้สุดจินตนาการ ซึ่งเมื่อก่อนจะมีเพียงศิลปิน ผู้เสพยาชนิดหลอนประสาท และผู้ที่มีอาการทางจิตเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงดินแดนแห่งนี้ได้ แต่ทุกวันนี้ดินแดนแห่งนี้เปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม คุณสามารถเดินเข้าสู่โลกแห่งความเสมือนจริงได้ทุกที่ทุกเวลา ช่างหน้าตื่นเต้นยินดีเสียนี่กระไร!

จากการเก็บข้อมูลสถิติพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ (Social Network) ของคนไทย โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ.* พบว่า ปัจจุบันคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยสัปดาห์ละ 32 ชั่วโมง เท่ากับว่าในหนึ่งวัน เราอยู่ในโลกออนไลน์เฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมงครึ่ง หักลบเวลานอนประมาณ 8 ชั่วโมง เวลาทำงานหรือเรียนอีก 8 ชั่วโมง เวลาเดินทางไปที่ทำงานหรือโรงเรียนอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง จะเหลือเวลาสำหรับกิจกรรมอื่นๆ อีกเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง ไม่พอแม้กระทั่งดูหนังให้จบสักเรื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วจะใช้เวลาช่วงไหนในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและธรรมชาติรอบตัว?

คำตอบอยู่ที่นี่ ในโลกเสมือนจริง ในโรงเรียนหรือที่ทำงาน เราอาจจะมีเพื่อนร่วมชั้นเรียน อาจารย์ เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ที่บ้านก็มีพ่อ แม่ ลูก หลาน สัตว์เลี้ยง ฯลฯ ซึ่งในแต่ละวันเราใช้เวลาร่วมกันน้อยมาก แต่เราก็ไม่เหงา เพราะเรามีเพื่อนในโลกอีกใบหนึ่ง เรามีเพื่อนที่จะร่วมรบกับเหล่าปีศาจร้าย มีเพื่อนร่วมสร้างสรรค์เมือง ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ออกแบบแฟชั่น และเพื่อนที่จะคอยปลอบประโลมและกดไลค์ในสิ่งที่เราโพสต์

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่สมองของเราจะได้รับการตั้งโปรแกรมให้เป็นอัตโนมัติว่าจะต้องหาทางบันทึกและถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะหนึ่งๆ ออกมาให้เร็วที่สุดและน่าประทับใจที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตอนกินข้าว นั่งรถประจำทาง เข้าคิวซื้ออาหาร เดินเล่นในสวน เล่นกับแมว ฯลฯ  วิธีที่ได้รับความนิยมมากก็คือการถ่ายภาพประกอบคำอธิบาย และการเล่าเรื่องผ่านบทสนทนา ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้รับการสนับสนุนจากค่ายผลิตโทรศัพท์มือถือโดยบรรจุกล้องถ่ายภาพและโปรแกรมอัพโหลดรูปภาพคุณภาพสูงไว้บริการอย่างครบครัน คุณสามารถอัพโหลดรูปภาพได้ทุกที่ทุกเวลา (อีกเช่นกัน)

เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะสนใจว่าคนอื่นจะคิดกับเราอย่างไร การตอบรับสิ่งที่เรานำเสนอในโลกอินเตอร์เน็ต จึงค่อนข้างมีผลต่อความรู้สึก และดูเหมือนว่าผู้ผลิตเครื่องมือสื่อสารจะเข้าใจปรากฏการณ์นี้เป็นอย่างดี จึงได้มีตัวเลือกในการติดตามการตอบสนองของคนอื่นที่มีต่อสิ่งที่เรานำเสนอมากมายหลายรูปแบบ และที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ คือ การกดไลค์ การแชร์ และการติดตาม (follow)

คุณเคยโพสต์ข้อความหรือรูปภาพลงในเฟซบุ๊คแล้วเฝ้าดูว่าจะมีคนมากดไลค์หรือแสดงความคิดเห็นไหม? และเคยลองตั้งคำถามกับตัวเองบ้างไหมว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

ก่อนการโพสต์ข้อความหรือภาพลงในสื่อต่างๆ มักจะต้องผ่านการคัดกรองและประเมินทางความคิดหรือความรู้สึกแทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งลึกๆ แล้วในการโพสต์แต่ละครั้งมีเป้าหมายแอบแฝงอยู่ด้วยเสมอ แม้กระทั่งถ้อยคำอุทานสั้นๆ ที่แทบจะไม่สื่อความหมายใดๆ แต่จริงๆ แล้ว นั่นคือการแสดงออกถึงการต้องการการรับรู้จากใครสักคนเป็นอย่างน้อย

อาการเหงา โดดเดี่ยว และต้องการการยอมรับ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนยุคนี้ ผู้คนทุกยุคทุกสมัยล้วนแต่เคยผ่านประสบการณ์นี้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ดูเหมือนว่าโลกที่ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีจะมีเครื่องมือช่วยให้ผู้คนออกจากความโดดเดี่ยวได้อย่างมากมายหลายหลาก ในเวลา 24 ชั่วโมง คุณแทบจะไม่รู้สึกถึงการอยู่คนเดียวตามลำพังเลย เพียงแค่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ก็จะพบว่ามีผู้คน (ที่รู้สึกเหมือนกัน) รอคอยอยู่มากมาย

แต่ละวันเราใช้เวลากับผู้คนรอบตัวน้อยมาก แต่เราก็ไม่เหงา เพราะเรามีเพื่อนในโลกอีกใบที่จะคอยปลอบประโลมและกดไลค์ในสิ่งที่เราโพสต์

แต่เพียงแค่การกดปุ่มไอคอนรูปคนกอดกันจะทำให้รู้สึกถึงความอบอุ่นของอ้อมกอดได้จริงหรือ?

ตรงกันข้าม การโพสต์ข้อความ แปะรูปภาพ ในสังคมออนไลน์มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความวิตกกังวลและนำไปสู่ความเครียดได้ง่ายกว่าการพูดหรือเขียนลงในสมุดบันทึก ยกตัวอย่าง เพียงแค่คนที่เราส่งข้อความไปขอเป็นเพื่อนแล้วไม่ตอบรับ หรือไม่มีคนกดไลค์ ก็สูญเสียความมั่นใจและเกิดความเครียดขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจะปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตไปทำอย่างอื่นแล้ว ความวิตกกังวลก็ยังติดตามวนเวียนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ในทางการแพทย์จึงได้มีการบรรจุอาการซึมเศร้าที่เกิดจากเฟซบุ๊ค (Facebook Depression)** เพิ่มเติมขึ้นมา

ในการทบทวนอัตตา หากย้อนกลับไปไล่เรียงดูในไทม์ไลน์ ตั้งแต่จุดที่เริ่มใช้งานเฟซบุ๊คจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ก็จะพบเงื่อนงำบางอย่างที่เราบรรจงสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาต่างๆ มิหนำซ้ำบางคนมีชื่อในทะเบียนเฟซบุ๊คมากกว่าหนึ่งชื่อ

เด็กนักเรียนมัธยมต้นที่อยู่ข้างบ้านคนหนึ่งมีทะเบียนในเฟซบุ๊คถึง 3 ชื่อ ซึ่งแต่ละชื่อก็มีข้อมูลประวัติที่แตกต่างกันไป เธอได้สร้างตัวตนใหม่ เรื่องราวใหม่ให้กับบุคคลทั้ง 3 ดูเผินๆ อาจมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว ตัวตนในแต่ละชื่อนั้นแฝงเร้นไว้ด้วยสารบางอย่างที่แม้แต่ตัวเธอเองก็มองไม่เห็น และที่สำคัญคือเธอได้สำคัญมั่นหมายว่าบุคคลทั้งสามนั้นคือตัวตนของเธอที่แท้จริง และค่อยๆ ถอยห่างออกจากโลกอีกใบที่โคจรรอบๆ ตัวเธอ ที่ซึ่งคนรอบข้างไม่อาจเข้าใจและหยิบยื่นความมั่นคงภายในให้กับเธอได้ ตัวตนในโลกแห่งความเป็นจริงจึงค่อยๆ ละลายเลื่อนไหลไปสู่โลกเสมือน จนบางครั้งเธอตื่นมาในตอนเช้าพร้อมความลังเลสงสัยว่า จริงๆ แล้ว เธอคือใคร

ลำพังการรู้เท่าทันอัตตาเพื่อขัดเกลาให้บรรเทาเบาบางลงก็ยากอยู่แล้ว การเหลื่อมซ้อนกันของอัตตาในโลกเสมือนที่เราสร้างขึ้นมาเองยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ต้องหาทั้งอัตตาตัวจริงและอัตตาเสมือนที่มีสายใยบางๆ เกี่ยวร้อยกับอัตตาตัวจริงให้เจอ ความทุกข์ความร้อนรนจึงจะได้รับการแก้ไข มิเช่นนั้นแล้ว เราก็ยังคงหลงกับเกมสับขาหลอกตัวเองนี้อยู่ร่ำไป


ข้อมูล

ภาพประกอบ

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน