ใช้ประโยชน์จากความป่วยไข้

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 23 มิถุนายน 2013

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยน ฤดูกาลผันแปร เดี๋ยวร้อนอ้าว เดี๋ยวแฉะ เดี๋ยวก็เย็นฉ่ำ ทำให้หลายคนประสบความป่วยไข้ ผู้เขียนก็พลอยเป็นไข้หวัดไปกับเขาด้วยเหมือนกัน

ความป่วยไข้อาจทำให้บางคนตัดสินใจหาทางออกด้วยการไปหาหมอ ซื้อยากินที่ร้านขายยา ไม่ว่าจะเป็นยาลดไข้ คลายกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบ ยาปฏิชีวนะ ก็เพื่อให้หายจากอาการไข้หวัดรีบกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

คำแนะนำของแพทย์ที่บอกว่า “ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เยอะๆ” ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้วสำหรับคนไข้  บางคนขอให้หมอฉีดยา “เจ็บจี๊ดแต่แป๊บเดียว ดีกว่าป่วยนานๆ” บางคนขอยาปฏิชีวนะจากหมอ ยิ่งแพงยิ่งมั่นใจว่าจะหายเร็ว จากสามวันหาย อาจหายได้ภายในพรุ่งนี้ เพื่อให้ทำงานได้ตามปกติ กินของที่ชอบ อาหารทอด อาหารเย็นได้ตามเดิม  ไม่อยากนอนพักอยู่นานๆ เพราะเบื่อและเหงาเกินไป

การปฏิเสธความเจ็บป่วย หรือ “เร่งให้หายป่วย” นั้นกำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หารู้ไม่ว่าพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลเสียต่อสุขภาวะของสังคมโดยรวม ความอยากรีบหายป่วยทำให้เกิดการตรวจรักษาเกินความจำเป็นซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นทำให้เกิดอาการเชื้อดื้อยา ที่ทำให้ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่รุนแรงขึ้นราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ ความหงุดหงิดรำคาญใจรีบหายป่วยอาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการด้วยข้อหา “รักษาได้ไม่เร็วพอ”

วัฒนธรรมปฏิเสธความป่วยไข้ไม่ใช่ฝีมือของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความร่วมมือทั้งฝ่ายผู้ป่วยและผู้ให้บริการสุขภาพ  ฝ่ายผู้ป่วยก็คาดหวังให้ระบบสุขภาพมาสนองความต้องการของตน ด้วยการสนับสนุนธุรกิจที่ตอบสนองความเจ็บป่วยได้ดีผ่านการซื้อขายในกลไกตลาดเสรีสุขภาพ  ในขณะที่ผู้ให้บริการก็ได้รับประโยชน์จากการปฏิเสธความป่วยไข้ของผู้ป่วย ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองให้ผู้ป่วยเจ็บไข้น้อยที่สุด การฉีดยาก็ต้องเข็มเล็กที่สุด ผ่าตัดก็ต้องแผลเล็กและหายเร็ว

แพทย์ ยา เทคโนโลยีทางการแพทย์ ร้านยา กลายเป็นคำตอบหลักของความเจ็บป่วย การหายป่วยหมายถึงการพบหมอ ซื้อยา กินยา ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ไม่ต้องปรับพฤติกรรมสุขภาพ ไม่ต้องอดทน ไม่ต้องสืบสาวหาเหตุปัจจัยแห่งความเจ็บป่วย ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่ต้องดูแลสุขภาพตนเอง เพียงซื้อประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมเพียงพอ ไปหาหมอเก่งๆ ก็น่าจะพอแล้ว เหล่านี้อาจฟังดูสุดโต่งเกินไป แต่ลึกๆ ในใจของใครหลายคนอาจคิดเช่นนี้

คำแนะนำของแพทย์ที่ว่า “ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนเยอะๆ” ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้วสำหรับคนไข้ยุคนี้

ความปรารถนาให้พ้นความเจ็บป่วยโดยเร็วไม่ใช่เรื่องผิด แต่การปฏิเสธต่อความเจ็บป่วยอาจทำให้เกิดความทุกข์ใจเพิ่มจากความป่วยกาย เพราะการไม่ยอมรับความเจ็บป่วยก็คือการไม่ยอมรับความจริงของชีวิต การผลักไสความจริงดังกล่าวนั่นเองที่ทำให้เกิดทุกข์ ทั้งที่จริงแล้วความเจ็บป่วยก็มีแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงชวนให้มองความป่วยไข้อีกแง่มุมหนึ่ง ความป่วยไข้เป็นของดีเพราะทำให้ร่างกายได้กระตุ้นภูมิต้านทานให้ทำงาน ความป่วยไข้ทำให้เราได้ทบทวนว่าที่ผ่านมาเรามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่ พักผ่อนเพียงพอหรือเปล่า และควรจะปรับปรุงความเป็นอยู่หรือวิถีชีวิตของเราอย่างไร ความป่วยไข้ทำให้เรากลับมาดูแลและอ่อนโยนต่อร่างกายของตนเองอีกครั้ง ความป่วยไข้ยังเป็นอนุสติที่ให้เราเห็นความไม่เที่ยงของร่างกาย ฝึกฝนความอดทนในการเผชิญความเจ็บป่วยเพื่อเตรียมรับความเจ็บป่วยที่อาจเกิดกับเราในอนาคต ตลอดจนความตายที่จะต้องมาถึงเราในวันหนึ่ง  การพิจารณาความป่วยไข้ยังทำให้เรารู้สึกขอบคุณร่างกายยามที่สุขภาพดี เมื่อหายป่วยก็มีความสุขได้ง่ายขึ้นเพราะ “เพียงไม่ทุกข์ ก็สุขแล้ว” การมองความป่วยไข้ในแง่มุมนี้นับว่าทำให้เราได้ประโยชน์และเป็นมิตรกับความป่วยไข้มากขึ้น

ในทางพุทธวัชรยานแบบธิเบตมีวิธีการภาวนาแบบหนึ่ง คือ เมื่อตนเองป่วยไข้ ก็อธิษฐานขอแบกรับความป่วยไข้เช่นนี้ของสรรพสัตว์ทั้งหลายไว้แต่เพียงผู้เดียว ใช้ความทุกข์และความเจ็บป่วยนั้นเผาลนกิเลสให้จางหายไปสิ้น เป็นการบ่มเพาะความกรุณาในใจ ผู้เขียนเคยทดลองใช้การภาวนาดังกล่าวก็พบว่าความเจ็บไข้ไม่สบายนั้นน่ากลัวน้อยลง ส่วนหนึ่งก็เพราะเปิดใจรับความเจ็บป่วยได้มากขึ้น ความอยากหายป่วยทุเลาลง ความทุกข์ใจก็คลายจางลง

บทความนี้ไม่ได้คาดหวังให้ผู้อ่านปฏิเสธการรักษาหรือการดูแลสุขภาพ หากแต่ดูแลร่างกายอย่างตระหนักรู้ แสวงหาวิถีการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตน ในขณะเดียวกันก็สามารถหาประโยชน์จากความเจ็บป่วยที่เข้ามาตักเตือนและสอนให้เราเห็นความจริง  การใช้การแพทย์ดูแลสุขภาพก็มิใช่เพื่ออื่นใด นอกจากเป็นปัจจัยให้เราได้กลับมาทำประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นนั่นเอง


ภาพประกอบ

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher