คนบุญในสายสวนโมกข์คงคุ้นเคยกับนิทานไทยเรื่องหนึ่งที่ท่านพุทธทาสได้นำไปถ่ายทอดในรูปนิทานภาพไว้ในโรงมหรสพทางวิญญาณ เล่าเรื่องตายายที่ปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า
วันหนึ่งมีอีกามาแอบกิน เมื่อจะถูกตายายลงโทษเฆี่ยนตี เด็กเฝ้าไร่ก็ไปขอร้องให้นายพรานช่วยยิงอีกา แต่นายพรานบอกไม่ใช่กงการอะไรของข้า เด็กจึงไปขอให้หนูกัดสายธนูนายพราน หนูก็ไม่ช่วย
เด็กออกขอความช่วยเหลือไปเป็นทอดๆ ก็ยังถูกปฏิเสธ ทั้งบอกให้แมวไปช่วยกัดหนู ขอให้หมาให้ไปกัดแมว ขอให้ค้อนไปตีหมา ให้ไฟไหม้ค้อน ขอให้น้ำดับไฟ ขอให้ตลิ่งพังใส่น้ำ ให้ช้างพังตลิ่ง ก็ยังไม่มีใครยอมให้ช่วยตามคำขอของเด็กเฝ้าไร่ ทุกคนต่างตอบว่า ไม่ใช่กงการอะไรของข้า
จนเขาไปเจอกับแมลงหวี่ แมลงตัวน้อยบอก ข้าจะไปตอมตาช้าง ช้างเจอเข้าอย่างนั้นก็กลับคำบอกจะไปพังตลิ่ง แล้วเรื่องราวก็ย้อนตามสายมาตามลำดับ จนในที่สุดอีกาก็บอกว่า ฉันจะไม่มาแอบกินถั่วงาในไร่อีก ตายายก็ไม่ต้องทำโทษหลาน
ท่านพุทธทาสว่า นิทานเรื่องนี้เป็นตัวอย่างสอนธรรมอย่างชัดแจ้งในเรื่อง อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท อันว่าด้วยเรื่องความเกี่ยวโยงสืบเนื่องเป็นวงจรของสิ่งเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ดังที่กล่าวว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อเราเห็นว่าเหตุมาจากไหน ดับที่เหตุเสียได้สายแห่งทุกข์ก็ไม่เกิด
เรื่องนี้ทำให้นึกไปถึงนิทานพื้นบ้านอีกเรื่องที่ได้ยินได้ฟังจากผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยงแถวแม่จันทะ (ตาก)
นิทานจากคำเล่านั้น ดูจะต่างจากนิทานในหนังสือซึ่งเป็นเรื่องแน่นอนตายตัวตามตัวอักษร แต่นิทานที่ฟังนั้น ลีลา สำนวน ไหวพริบ จังหวะจะโคนของคนเล่ามีผลต่อความสนุกเพลิดเพลินและการสื่อสารเรื่องราวอย่างมาก นิทานเรื่องเดียวกันสนุกเร้าใจไม่เท่ากันเมื่อเล่าจากคนละคน
ผู้เฒ่าโจป่องเป็นชาวกะเหรี่ยงที่ถือลัทธิฤาษี ไว้ผมยาวเกล้ามวยไว้เหนือหน้าผาก แกใช้ภาษาไทยได้จำกัด แต่เพียงเท่านั้นคนฟังก็รับรู้ได้อย่างไม่กังขาเลยว่าแกมีปฏิภาณของการเป็นนักเล่าเรื่องอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
นิทานถูกเปิดเรื่องที่เจ้านกสีขาว บินเก่ง ชอบกินปลา บินมาเหนือบึงน้ำ มันมีชื่อในภาษากะเหรี่ยง แต่ผู้เฒ่าไม่รู้ชื่อเรียกในภาษาไทย จากที่แกบรรยายลักษณะ คนฟังอนุมานได้ว่าเป็นนกกระยาง
มันบินมาเหนือบึงน้ำ แล้วขี้รดลงในบึง ปลาตัวหนึ่งหลงกลขึ้นมาฮุบเหยื่อ ก็ถูกนกสีขาวโฉบจิกตัวได้
แมวดำตัวหนึ่งมาขอกิน นกสีขาวบอก แมวดำมอมแมมเช่นเจ้าไม่คู่ควรกับปลาตัวนี้ เราต้องมอบให้ผู้ที่สูงส่งที่สุด
ว่าแล้วนกก็คาบปลาตัวนั้นขึ้นไปบนฟ้า จะเอาไปมอบให้ดาว
เมื่อถึงฉากที่เป็นบทสนทนาผู้เฒ่านักเล่านิทานก็จะพูดในน้ำเสียงของตัวละครนั้น ๆ
รู้ความประสงค์ของนกแล้ว ดาวบอกเราสูงส่งและมีแสงเรืองรองชวนมองก็จริง แต่พอถึงคืนจันทร์กระจ่างก็กลบแสงเราหมดเลย
นกคาบปลาต่อไปหาจันทร์ จันทร์บอกเราส่องแสงจรัสฟ้า จ้ากว่าดาว แต่เพียงเมฆมาบังเราก็หมองหมดแสง
เมื่อนกคาบปลาไปจะมอบให้เมฆ เมฆบอกเราเอาชนะแสงจันทร์ได้ก็จริง แต่เราแพ้ลมซึ่งพัดมาทีไรเราแตกกระจายทุกที
ครั้นคาบปลาไปให้ลม ลมบอกกับนกว่า กับเมฆนั้นเราพัดได้หมดทั้งฟ้า แต่พัดเท่าใดจอมปลวกไม่เคยหวั่นไหว
นกจำต้องคาบปลากลับลงมาสู่ดิน เอาไปให้จอมปลวก จอมปลวกขอบใจ แต่ไม่อาจรับไว้ บอกว่าฉันไม่เคยหวั่นไหวต่อวายุก็จริง แต่เจอควายเข้าก็กระจุยทุกคราว
นกคาบปลาจะเอาไปให้ควาย ควายรับว่าตนมีกำลังทลายจอมปลวกได้สบาย แต่ก็แพ้เส้นเชือกที่สนตะพายอยู่
นกเอาปลาไปหาเชือก เชือกบอกฉันผูกควายอยู่ แต่หนูชนะฉัน โดนหนูกัดฉันขาดกระจุย
ถึงตอนนี้คนฟังคงเริ่มเห็นเค้าตอนจบของนิทานพื้นบ้านกะเหรี่ยงเรื่องนี้แล้ว
หลังจากคาบปลาไปถึงไหนต่อไหน สุดท้ายนกก็เอาปลาตัวนั้นไปให้แมวที่อยากได้แต่แรก
ผู้เฒ่าโจป่องออกตัวอย่างถ่อมตนว่า แกเองก็ไม่รู้หรอกว่านิทานกะเหรี่ยงเรื่องนี้สอนเรื่องอะไร เพียงแต่ฟังคนเก่าคนแก่เล่าต่อกันมา และสอนว่าทุกสิ่งในโลกล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นวงจรลูกโซ่
และก็คงพอเทียบเคียงได้กับนิทานไทยเรื่องตายายปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า
ลึกลงไปจากเรื่องราวที่เล่าสู่กันฟังเพื่อความสนุกรื่นรมย์ นิทานพื้นบ้านทั้งสองเรื่องนี้ ยังแฝงนัยด้วยการชี้ทางตัดขาดจากความทุกข์ ด้วยหลักอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท
เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ