บ่ายวันเสาร์ ต้นฤดูร้อน ห้องประชุมชั้น 2 ของหอจดหมายเหตุพุทธทาส ยังคงความโล่งกว้าง โปร่งตา จุดสนใจอยู่ที่สตรีชาวตะวันตก เจ้าของเรือนร่างที่ดูบอบบางคนหนึ่งในชุดผ้าฝ้ายเบาสบาย นอกจากเพื่อนมิตรที่ร่วมพูดคุยและกลุ่มผู้ฟังหลายเพศวัยแล้ว ยังคงมีดอกไม้สีสวยจัดประดับไว้อย่างแปลกตา ผิดกับการจัดดอกไม้ที่เห็นตามงานต่าง ๆ
Julie Greene สุภาพสตรีชาวแคนนาดา ใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ในโลกทุนนิยมมาก่อน เธอเป็นวิศวกรหญิงร่ำเรียนมาทางด้าน MBA แต่กลับยอมรับว่าชีวิตที่ผ่านมาไม่มีความสุขเอาเสียเลย การแสวงหาคุณค่าและความหมายในชีวิต ทำให้เธอผันตัวเองมาเป็นนักจิตบำบัด
บ่ายวันนี้ เธอมากรุงเทพฯ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์บนเส้นทาง “วัชรยาน ในโลกตะวันตก”
เธอบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตด้วยน้ำเสียงอันสั่นเครือ บางครั้งระหว่างการบรรยาย มีหยาดน้ำตารินหลั่งออกมาให้เห็น นั่นมิใช่ความรันทดหดหู่ในชีวิต หากแต่เป็นน้ำตาแห่งความปลาบปลื้มที่ได้พบว่า ชีวิตของเธอมีคุณค่าและความหมายเช่นใด
นอกจากนี้ การบรรยายของเธอออกจะแปลกกว่าคนทั่วไปตรงที่ บ่อยครั้งเธอนิ่งเงียบระหว่างการพูด ที่ดูเหมือนจะเนิ่นนานจนอาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกอึดอัดเพราะความไม่คุ้นชิน แน่นอนว่าไม่ใช่การนิ่งเพื่อตรึกตรอง นึกคิดสิ่งที่จะพูดหรือบรรยาย แต่ Julie บอกว่าการนิ่งเงียบของเธอ คือการกำลังทำความรู้สึกของตัวเอง ให้รับรู้พลังงาน ณ ที่นั่น ในเวลานั้น เธอกำลังทำให้เราดูว่า การอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างไม่หลงลืม การหยุดความคิดและการกระทำ เพื่อรับรู้ความรู้สึก ณ เวลานั้นอย่างแท้จริงเป็นเช่นใด จังหวะหยุดอยู่กับปัจจุบันขณะของเธอ ยังเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ฟังดึงตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะของแต่ละคนด้วยเช่นกัน
Julie เป็นนักศึกษาจาก “นาโรปะ” สำนักศึกษาสายวัชรยานของ “เชอเกียม ตรุงปะ”
เธอเล่าว่า 20 นาทีแรกในชีวิตที่ได้ลองสัมผัสกับการทำสมาธิ เธอว้าวุ่นจนแทบจะบ้าตาย แต่นั่นก็เป็นเหมือนการเดินทางบนเส้นทางที่เรียกร้องให้ Julie ได้แสวงหาด้วยตัวเธอเอง การปฏิบัติในแนวทางวัชรยานเป็นสิ่งแปลกใหม่ ที่เต็มไปด้วยเรื่องท้าทายสำหรับชาวตะวันตกอย่างเธอ
“เปลี่ยนยาพิษ ให้เป็นยาบำรุง” ฉันจดคำพูดที่คิดว่าน่าสนใจของ Julie ไว้เตือนตัวเอง เช่นเดียวกับที่เธอเล่าว่า ในห้วงยามที่ต้องพบเจอกับสิ่งที่ไม่เป็นใจ และทุกข์ร้อน “แทนที่จะผลักไส หลีกหนี เราลองตั้งสติ ทำงานกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนานั้นดูสักตั้ง”
ใช่! เป็นวิธีคิดที่ท้าทายตัวเองเหลือเกิน และยังทำให้เรามีความกล้าหาญที่จะตั้งรับสิ่งไม่พึงปรารถนามากมายที่จะเกิดขึ้นในทุกขณะของชีวิต
สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวของเรา ใจของรา อย่างแย่ที่สุด มีฤทธิ์ในการทำลายล้างดุจยาพิษ หากเราสามารถแปรเปลี่ยนความเจ็บปวดรวดร้าวใจเป็นยาบำรุง ทำให้ชีวิตงอกงามได้ด้วยความทุกข์ยาก นั่นแหละคือชัยชนะที่ควรยกย่องสำหรับคนคนนั้น
Julie ยังได้พูดถึงการทำดี หลงดี ติดดี เรียกว่า “ดีจนเสียดี” ได้อย่างน่าสนใจ บางครั้งในชีวิต เรามีความปรารถนาดีมากมายที่อยากหยิบยื่นให้คนนั้นคนนี้ หรือแม้แต่สังคมที่เราสังกัดอยู่ แต่แล้วความปรารถนาดีทั้งปวงอาจกลายเป็น Idiot Compassion “ความกรุณาปัญญาอ่อน”
เมื่อเราไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงความเป็นจริงบางอย่าง ความทุกข์ใจจึงเกิดขึ้น เมื่อความหวังดี ความปรารถนาดี ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่ควรจะเป็น นั่นคือ เราพยายามทำความจริงในแบบของเราให้ปรากฏให้ได้ โดยลืมคิดถึง “ความเป็นจริงอันจริงแท้”
ฉันจะลองยกตัวอย่าง “ความกรุณาปัญญาอ่อน” ให้เห็นชัดๆ บางครั้งฉันหวังดีกับใครบางคน อยากให้เธอคนนั้นได้กินข้าวกล้อง ข้าวกล้องหุงสุกใหม่ๆ รสชาติดีและแสนจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ยิ่งพูด ยิ่งเชิญชวน ใครคนนั้นก็ยังไม่ยอมกินข้าวกล้อง ยังตัดความคุ้นเคยกับการกินข้าวขาวไม่ได้ ความทุกข์ใจจึงเกิดขึ้นกับตัวฉันเอง ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเขาได้ ทั้งๆ ที่เป็นความปรารถนาดีของฉันเหลือเกิน
เมื่อเราไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงความเป็นจริงบางอย่าง ความทุกข์ใจจึงเกิดขึ้น
นั่นแหละคือ “ความจริงในแบบของฉัน” ที่คิดว่า ข้าวกล้องแสนดี และความปรารถนาของฉันก็แสนดี แต่นี่คงยังไม่ใช่ “ความจริงอันแท้จริง” เพราะความจริงอันแท้จริงคือ ใครคนนั้นยังไม่ยอมรับข้าวกล้อง นั่นเอง
เราจึงควร “ศิโรราบ” น้อมรับในสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่ควรต้องกล้าทำในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ เราควรมีปรีชาญาณที่จะรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
หลังจากจบการศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เข้าสู่อาชีพในสายสื่อสารมวลชนทำข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ นอกจากสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมแล้ว ยังสนใจแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมแวดล้อม ระยะหลังสนใจแนวทางการเรียนรู้พัฒนาตัวเองในมิติของชีวิตจิตใจ