สถูปน้ำแข็งแก้ภัยแล้ง

จักรกริช พวงแก้ว 26 มีนาคม 2018

ในปี 2013 ที่หมู่บ้าน Phyang ในเมืองลาดักทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ได้คิดค้นวิธีการต่อสู้กับความแห้งแล้งโดยได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา คือการสร้างสถูปด้วยน้ำแข็ง ซึ่งสถูปนี้จะเริ่มละลายในฤดูใบไม้ผลิ ให้น้ำแก่พืชนับพันต้นในทะเลทรายบนหิมาลัย

ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา สถูปนั้นมีรูปทรงที่แสดงถึงองค์พระพุทธเจ้า และองค์สถูปเป็นที่สักการะบูชาของชาวพุทธ  สถูปน้ำแข็งนี้ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยวิศวกรชื่อ Sonam Wangchuk เขาพยายามคิดค้นวิธีที่จะต่อสู้กับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและภาวะแห้งแล้งในเทือกเขาหิมาลัย  สำหรับชาวบ้านที่นั่นแล้ว “น้ำ” หมายถึงชีวิตและความตายของพวกเขา

ในฤดูหนาวที่เมืองลาดักจะมีน้ำปริมาณมากที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ แต่ในฤดูใบไม้ผลิ น้ำในแม่น้ำเริ่มแห้งลงในขณะที่ชาวไร่ชาวนาเริ่มลงมือปลูกพืช  สถูปน้ำแข็งของ Wangchuk จะช่วยเก็บกักน้ำในฤดูหนาวด้วยการทำให้น้ำกลายเป็นอาคารทรงสูงขนาดยักษ์ ซึ่งจะค่อยๆ ละลายไปตามสภาพภูมิอากาศ

ในการสร้างสถูปน้ำแข็ง คนงานจะสร้างท่อน้ำลงจากเขามาที่พื้นราบ และทำให้ปลายท่อตั้งสูงขึ้น โดยที่ปลายท่อนั้นพวกเขาได้นำกิ่งไม้มาทำเป็นโครงสร้างของสถูป  ช่วงเวลากลางคืนที่อุณหภูมิต่ำลง น้ำจะถูกปล่อยลงมาตามท่อ แรงโน้มถ่วงที่ปล่อยน้ำลงจากที่สูงจะทำให้น้ำที่ปลายท่อพุ่งสูงขึ้นไปเป็นละอองในอากาศ และตกลงมาเป็นน้ำแข็งเกาะอยู่ตามโครงสร้างกิ่งไม้ที่อยู่รอบปลายท่อ

เป็นเวลาหลายสัปดาห์ สถูปน้ำแข็งก็เริ่มก่อตัวขึ้นสูงนับสิบเมตร โดยไม่ต้องใช้ปั๊ม ไฟฟ้า หรือจักรกลใดๆ และเมื่อหมดฤดูหนาวก็เพียงต้องการแค่ให้น้ำไหลละลายจากสถูปจนถึงฤดูร้อนที่ฝนเริ่มตก

โครงการนี้ดูแลโดยพระจากวัดในพื้นที่ภายใต้การดูแลของท่าน Drikung Kyabgon Chetsang Rinpochey แห่งโรงเรียนพุทธศาสนา Drikung Kangyu  เมื่อสถูปน้ำแข็งแห่งแรกได้สำเร็จลง ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมฉลองการตกแต่งสถูปด้วยธงมนต์ทิเบต และเมื่อฤดูหนาวที่ผ่านมาทีมของ Wangchuk ก็ได้สร้างสถูปน้ำแข็งสูงถึง 78 ฟุต เป็นสถิติโลกอย่างไม่เป็นทางการ

เขาคาดว่าสถูปดังกล่าวมีปริมาณน้ำอยู่ถึง 10 ล้านลิตร ซึ่งสามารถให้น้ำได้แก่เพียงพอแก่ต้นไม้ 2 หมื่นต้น เขาฝันว่าจะสร้างสถูปลักษณะเดียวกันอีกเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะปลูกป่าในทะเลทราย และนำผลประโยชน์ที่ได้มาสร้างมหาวิทยาลัยที่ผลิตนวัตกรรมและการดูแลเทือกเขาหิมาลัย เปิดคอร์สด้านการทำฟาร์ม การท่องเที่ยว และบริหารธุรกิจ  เขายังกล่าวว่าการสร้างสถูปน้ำแข็งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในท้องถิ่นด้วย

ปีที่ผ่านมาวังชุกได้รับรางวัลจำนวน 100,000 สวิสฟรังส์ที่โรเล็กซ์มอบให้จากการทำโครงการนี้ เขาได้เก็บเงินนี้ไว้เพื่อโครงการสร้างมหาวิทยาลัยของเขา

โครงการสถูปน้ำแข็งนี้ได้รับความสนใจจากนักอนุรักษ์ในแถบยุโรป โดย Wangchuk ได้รับเชิญให้ทำโครงการนำร่องสถูปน้ำแข็งในสวิสเซอร์แลนด์เพื่อเป็นการอนุรักษ์ธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอลป์อีกด้วย


ที่มา: https://www.lionsroar.com/ice-stupas-bring-water-to-drought-stricken-villages-of-northern-india/

จักรกริช พวงแก้ว

ผู้เขียน: จักรกริช พวงแก้ว

ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา