ทางเลือก: บทบาทกับตัวตน

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 8 มกราคม 2012

ชายหนุ่มคนหนึ่ง ตลอดชีวิตเขาปรารถนาที่จะเป็นนักเขียน มันเป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็ก  กระนั้นด้วยเงื่อนไขค่าครองชีพ และความเป็นจริง ทำให้ชายหนุ่มต้องเลือกอาชีพและการงานที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับเขา  ชายหนุ่มเลือกทำงานเป็นบริกรแห่งหนึ่ง อาศัยเงินรายได้ค่าแรงและค่าทิปพิเศษจากแขกในร้าน ชายหนุ่มคาดหวังว่าน่าจะเพียงพอให้เขาสามารถมีช่วงเวลาที่จะทำงานเป็นนักเขียนเต็มตัว  ทุกวันที่เลิกและว่างจากการงาน ชายหนุ่มตั้งใจว่าจะเขียนนิยายสักหน้า หรือสองหน้าเพื่อจบเรื่องราวที่ค้างคา  แต่การงานที่หนัก ความเครียดความกดดันจากการงาน ก็ทำเอาสมอง สติปัญญาของชายหนุ่มเหนื่อยล้าเกินกว่าจะจับปากกาและขีดเขียนเรื่องราวออกมาได้  ความปรารถนาที่จะเป็นนักเขียนยังอยู่ในใจ แต่การลงมือกระทำก็ถูกกัดกร่อนลงเรื่อยๆ จากงานบริกรที่ดูดกินพลังงานของตน

เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นกับชายหนุ่มอีกคนหนึ่งเช่นกัน อย่างไรก็ดีมีความแตกต่างบางประการในชายหนุ่มคนที่สองนี้  ทุกครั้งที่มีแขกเข้ามาในร้าน ไม่ว่าแขกนั้นจะมีพฤติกรรมอย่างไร ดีหรือเลวก็ตาม บริกรคนนี้เลือกที่จะเก็บรับข้อมูลและสังเกตเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับสร้างสรรค์ตัวละครในนิยายของเขา  ยามว่างชายหนุ่มคนนี้ก็จะจดบันทึกความคิดนึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น  บ่อยครั้งประเด็นเรื่องราวของตัวละคร เนื้อหาของเรื่องราวก็ผุดขึ้นมาระหว่างการทำงาน ระหว่างพบปะผู้คนมากมายที่เข้ามาในร้าน  แต่ละขณะของชายหนุ่มคนนี้ไม่ว่าเขาจะอยู่บทบาทบริกร หรือคนธรรมดาในยามว่างงาน ความปรารถนาที่จะเป็นนักเขียนยังคงอยู่  อุปนิสัยในการสังเกตเรื่องราวรอบตัว การจดบันทึก การใส่ใจเรื่องราวรอบตัวช่วยทำให้ชายหนุ่มคนนี้มีวัตถุดิบมากมายและพร้อมที่โลดแล่นออกมาเป็นนิยาย เป็นงานสร้างสรรค์ที่ชายหนุ่มปรารถนา

หากเปรียบเทียบบทบาทเป็นหัวโขน เราต่างล้วนมีหัวโขนต่างๆ ผลัดกันเข้ามาสวมใส่ในตัวเรา  บทบาทในเชิงความสัมพันธ์ เช่น การเป็นพ่อ แม่ ลูก หรือญาติพี่น้อง  บทบาทในเชิงหน้าที่การงาน อาชีพ  และบทบาทต่อตนเองในฐานะอัตลักษณ์ การยึดถือความเป็นตัวตนของเรา ฉันเป็นคนดี ฉันทำงานหนัก ฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม  สำนึกของบทบาทขับเคลื่อนให้เราดำเนินชีวิตไปตามระบบคุณค่า และค่านิยม  อย่างไรก็ดีบทบาทเป็นเพียงแค่หัวโขน เป็นสิ่งชั่วคราวที่เข้ามาในชีวิต กระนั้นบทบาทก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยนำพาความเป็นตัวตนของเราให้ได้แสดงออก ให้ได้สัมพันธ์กับผู้อื่นในทางเกื้อกูล สร้างสรรค์ หรือบั่นทอน ทำลายก็ได้ ขึ้นกับสำนึกในตัวตนของเราเอง

ชายหนุ่มคนแรกมองอาชีพนักเขียนในฐานะการงาน หรือบทบาทที่แยกออกไปจากตัวตนในชีวิตประจำวัน  ชีวิตเหมือนกับส่วนเสี้ยวที่ไม่ได้สัมพันธ์กัน เพียงแค่มาต่อติด ไม่เกี่ยวข้องกัน  ดังนั้นการดำเนินชีวิตของชายหนุ่มคนแรกจึงมีลักษณะแยกส่วน มุ่งใส่ใจเรื่องราวตรงหน้าเป็นเรื่องๆ เฉพาะเหตุการณ์ตรงหน้าขณะนั้นๆ  สิ่งที่ยากลำบากคือ อาชีพบริกรต้องอาศัยแรงกาย ขณะที่การงานนักเขียนต้องอาศัยเน้นแรงงานทางความคิด ความรู้สึก  ชายหนุ่มหลงลืมไปว่าไม่ว่าอาชีพการงานใดๆ ต่างล้วนต้องอาศัยการทำงานขับเคลื่อนทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงความคิดนึก จินตนาการ  สัดส่วนอาจต่างกันไปตามลักษณะการงาน แต่ทุกการงานต้องอาศัยแรงพลังทั้ง ๓ ส่วน

สำหรับชายหนุ่มคนที่สอง สำนึกบทบาทอาชีพนักเขียนมีอยู่ตลอดเวลา แม้ขณะทำหน้าที่งานบริกร  สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าดีหรือเลว บวกหรือลบ ก็เป็นเพียงประสบการณ์หนึ่งๆ เป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งที่เข้ามาในอาชีพนักเขียน  ท่าทีความปล่อยวางจึงเกิดขึ้นได้ง่ายดายกว่า และท่าทีเช่นนี้ก็เอื้อต่อการประสบความสำเร็จในอาชีพนักเขียนมากกว่าด้วย  ความตื่นรู้ในตนเอง และความรู้ตัวทั่วพร้อม จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างความแตกต่างระหว่างชายหนุ่ม ๒ ท่านนี้  ความตื่นรู้เป็นเหมือนหยดน้ำเล็กๆ ที่ผุดขึ้นและสั่งสมจนสามารถทำให้การดำเนินชีวิตมีความหมาย และแตกต่างไปจากการดำเนินชีวิตด้วยความหลงหรืออยู่ในภาวะหลับใหล  เราตื่นรู้เมื่อเราสามารถเปิดใจ เปิดความคิด  พร้อมกับความรู้ตัวทั่วพร้อมก็ช่วยให้จังหวะก้าวแต่ละขณะของชีวิตเราหลุดออกจากภาวะหลับใหล จากภาวะความเคยชิน  และเมื่อใดที่ความรู้ตัวทั่วพร้อมทำงาน ชีวิตที่เป็นไปก็ขับเคลื่อนไปภายใต้การมีทางเลือกให้กับตนเอง ไม่ใช่ถูกบังคับเพราะอุปนิสัยเคยชิน

แม้บทบาทจะเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว แต่ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยนำพาความเป็นตัวเราให้ได้แสดงออก ทั้งในทางสร้างสรรค์และบั่นทอนทำลาย

ในอีกด้านหนึ่ง บทบาทก็เป็นเหมือนดาบสองคม  ด้านบวกคือ บทบาทช่วยให้เรามีช่องทางแสดงตัวตนสู่โลกภายนอก  ขณะที่ด้านลบคือ บทบาทนี้ต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์แต่พอดี  นั่นคือหากเราละเลยบทบาทมากไป ผลที่เกิดคือ การขาดความรับผิดชอบ การละเลยบทบาทหน้าที่  แต่หากเรายึดถือบทบาทมากไป ผลที่ได้คือ หัวโขนกับตัวตนเข้ามาสวมทับ จนสับสนปะปนระหว่างบทบาทหน้าที่กับความเป็นตัวเรา  ดังนั้นเมื่อเกิดสิ่งใดกระทบต่อหัวโขน กระทบต่อบทบาทหน้าที่ ตัวตนของเราก็ถูกกระทบถูกทำร้ายไปด้วย

ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ตั้งข้อสังเกตว่า พระพุทธเจ้ามีฐานะเป็นพระพุทธเจ้า เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เนื่องเพราะพระองค์ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า  บทบาทหน้าที่จึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนตัวตนของเรา  ด้วยการเรียนรู้ตัวตน รวมถึงการเติบโตงอกงาม เราจึงสามารถใช้เวทีบทบาทหน้าที่สร้างการเติบโตและงอกงามให้กับชีวิต  ชีวิตมีทางเลือกเสมอ เมื่อเราเปิดใจ เปิดความคิด เปิดตัว เพราะนั่นหมายถึงการให้โอกาสการตื่นรู้กับตัวเราเอง


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน