วันแรก ที่ได้มีโอกาสเข้าไปในทัณฑสถานหญิง ธนบุรี คุกหญิงที่มีผู้ต้องขังหญิงอยู่กันกว่า 1,300 คน ส่วนใหญ่ทำผิดคดียาเสพติด เหตุที่เข้าคุกวันนั้น เพราะมีโอกาสไปเป็นอาสาสมัครทำ workshop ให้คนคุก ปลุกพลังบวกให้พวกเธอมีกำลังใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ซ้ำเติมความผิดของตัวเอง อยู่กับตัวเองอย่างเข้าใจ และให้อภัยในความผิดพลาดของตัวเองได้ อย่างน้อยก็เป็นมิตรกับตัวเองได้บ้าง ในโครงการ “เพื่อนแท้ในเรือนใจ” (ถ้าเรามีตัวเองเป็นเพื่อนแท้ สามารถอยู่กับตัวเอง ยอมรับตัวเองได้ในทุกสภาพการณ์ โลกใบนี้ก็คงจะไม่เลวร้ายเราเกินไป)
กว่าจะเข้าคุกได้ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ตรวจเช็คอย่างละเอียด เรียกได้ว่าเกือบจะเข้าไปตัวเปล่ากับเสื้อผ้าที่ใส่ติดตัวเข้าไป ซึ่งได้รับการแนะนำว่า ให้แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเป็นแบบสุภาพ มิดชิด ไม่หรูหรา หรือสื่อถึงฐานะที่เหนือกว่าผู้ต้องขัง เสื้อยืดทีเชิ้ตกับกางเกงขายาว รองเท้าแตะ ดีที่สุด นอกจากกระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป ต้องทิ้งไว้ในล็อกเกอร์แล้ว อุปกรณ์ที่เสี่ยงต่อการนำมาเป็นอาวุธ กระทั่งเชือก ด้าย เข็ม กรรไกร ที่จะใช้ในการทำกิจกรรม ถูกห้ามหมด
ห้องโถงโล่งๆ ใต้เรือนนอน คือที่จัดกิจกรรมวันแรกนี้ เราได้พบกับผู้หญิงหลังกำแพงสูงกว่า 30 คน ที่ทางผู้คุมจัดมาให้เข้าอบรม ส่วนใหญ่เป็นสาววัยรุ่น มีวัยกลางคนหรือสูงวัยบ้าง แต่ก็น้อยเต็มที ทีมผู้นำการอบรมได้ชวนกันยืนล้อมวงเป็นวงกลมวงใหญ่ แล้วนั่งลงบนพื้นอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้ผู้ต้องขังหญิงรู้สึกแปลกแตกต่างกว่าการอบรมหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ทางทัณฑสถานเคยจัดให้ ซึ่งพวกเธอจะนั่งลงบนพื้นห้องเรียงแถวกันอย่างเป็นระเบียบ ส่วนผู้อบรมไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือผู้เป็นวิทยากร จะถูกจัดให้นั่งที่โต๊ะเก้าอี้ มีระยะห่างและอยู่คนละระดับกับพวกเธอ เพียงแค่ไม่กี่นาทีของการพบกัน พวกเธอก็ค่อยๆ รู้สึกถึงความเท่าเทียมกันระหว่างตัวเธอเองกับคนนอกคุก
วงกลมวงใหญ่นี้ ทำให้พวกเธอได้เห็นหน้ากันและกัน มากกว่าการนั่งเรียงแถวหันหน้าไปในทางเดียวกัน กิจกรรมแรกคือการแนะนำตัวเอง นอกจากบอกชื่อ และเขียนป้ายชื่อด้วยแท่งสีเทียนสีสันสดใสแล้ว ผู้นำการอบรมให้ลองเปรียบตัวเองกับสัตว์อะไรสัก 1 ชนิดที่คล้ายๆ เราหรือเราอยากเป็น เชื่อไหมคะ ผู้ต้องขังหญิงหลายคนบอกเหมือนกันว่า เธอคือ “นก” อยากมีอิสระภาพ ไปไหนก็ได้
ทีมผู้อบรมให้อิสระเล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเธอโหยหา ด้วยการทำสมุดบันทึกของตัวเอง เป็นการทำงานศิลปะเพื่อปลดปล่อยจิตนาการด้วยแท่งสีเทียน กระดาษ กาว และวัสดุอุปกรณ์อีกไม่มากนัก สมุดเล่มนี้จะเป็นพื้นที่รองรับเรื่องราว บทบันทึก ความรู้สึกนึกคิดของพวกเธอ
แม้ว่า ชีวิตหลังกำแพง จะหมดเวลาไปกับการทำงาน ซึ่งเป็นงานที่ผู้คุมแจกจ่ายจัดแจงให้แต่ละคนต้องทำ แต่งานตรงหน้าวันนี้เป็นงานที่พวกเธอกำลังทำเพื่อตัวเอง ไม่น่าเชื่อว่าพวกเธอหลายคนใช้เวลาในการตกแต่งปกสมุดบันทึกเป็นงานศิลปะอย่างเห็นคุณค่าของอิสระภาพเล็กๆ ตรงนั้น ต่างก้มหน้าก้มตาอยู่กับปกสมุดบันทึก อย่างไม่มีที่ท่าว่าจะทำเสร็จได้ง่ายๆ เติมโน่นนิด เติมนี่หน่อย เป็นเวลานานแค่ไหนแล้วที่ไม่ได้มีเวลาเป็นของตัวเอง ได้ทำอะไรเพื่อตัวเองแบบนี้ และเราลองให้พวกเธอเขียนบางข้อความบนปกสมุด
“ครั้งหนึ่งของชีวิต …จุดจบของความทรงจำ”
“สิ่งเล็กๆ เรียกว่า รัก” ตัวหนังสือนี้อยู่บนปกสมุดที่วาดด้วยสีหวานๆ ลายเล็กๆ เหมือนผ้าอ้อมเด็ก เจ้าของผลงานบอกว่า กำลังมีลูกอ่อน
ในคุกทุกคนต้องใช้ชีวิตตามตารางเวลา และต้องทำงานตามกองงานต่างๆ ซึ่งหมายถึงงานที่ทางทัณฑสถานรับมาจากผู้ประกอบการภายนอก แล้วจ่ายงานให้คนคุกทำ มีเงินปันผลเป็นรายได้เล็กน้อย ไว้ซื้อเสื้อผ้า กระติกน้ำแข็ง และของใช้ส่วนตัวที่มีขายในคุก แม้ว่าหลายคนจะไม่ชอบงานบางอย่างที่จำเจ แต่ก็จำใจทำเพราะไม่มีทางเลือก และดีกว่าอยู่โดยไม่ทำอะไรเลย การทำงานทำให้เวลาแห่งการรอคอยสู่อิสรภาพ หมดไปเร็วขึ้น
ช่วงเวลาที่หลายคนชอบ เป็นช่วงเวลาขึ้นเรือนนอน ช่วงเย็นถึงค่ำ แม้สภาพเรือนนอนจะแออัด แต่สำหรับบางคนการขึ้นเรือนนอน หมายถึงเวลาในคุกกำลังจะหมดไปอีกวัน หญิงสาวคนหนึ่งที่ฉันคุยด้วยบอกว่า เธอมักใช้เวลาที่เรือนนอนอ่านหนังสือ ให้ตัวหนังสือพาเธอไปสู่โลกอีกใบหนึ่ง
วันที่สองของการอบรม ต้องย้ายสถานที่มายังลานปูนที่ร้อนอบอ้าวและมีเสียงดังรอบทิศ เนื่องจากมีการทำกิจกรรมของผู้ต้องขังอีกกลุ่มหนึ่ง แม้ว่าสถานที่ทำกิจกรรมจะไม่อำนวย แต่พื้นปูนแข็งและหยาบก็ดูอ่อนโยนนุ่มนวลขึ้น เมื่อผืนผ้าปูที่นอนนับสิบผืนที่ระดมกันมาจากทีมผู้อบรม ค่อยๆ ปูลงบนพื้นให้น่านั่ง น่ามอง แสดงถึงความเอื้ออาทร เอาใจใส่ ให้ค่าต่อหญิงคนคุก ชีวิตเปรอะเปื้อนของพวกเธอมีค่าควรใส่ใจกว่าผืนผ้าสวยๆ เหล่านั้น
การจับกลุ่มคุยกันกลุ่มเล็กๆ สัก 5 คน เป็นการเปิดพื้นที่การสื่อสารจากใจถึงใจ แต่ละคนจะนิ่ง หยุดอยู่กับห้วงคำนึงของตัวเอง เพื่อย้อนภาพชีวิตที่ผ่านมา ให้เห็นช่วงเวลาแห่งความสุขสมหวัง และช่วงเวลาแห่งความทุกข์ขม
เรื่องราวของพวกเธอถ่ายทอดสู่กัน ล้วนเป็นเรื่องทุกข์ใจ ตราบาปที่ทำร้ายทั้งคนใกล้ตัวและตัวเธอเอง การเดินสู่เส้นทางชีวิตที่ผิดพลาด พวกเธอยอมรับในสิ่งที่เธอทำ ยอมรับในชะตากรรมที่อาจมีใครหยิบยื่นให้ ชีวิตจริงยิ่งกว่าละครอย่างไม่น่าเชื่อ
เด็กสาวอายุไม่ถึง 20 ปี มีลูก 2 คน จากสามี 2 คน ภูมิหลังชีวิตครอบครัวที่แตกแยก จนทำให้ต้องให้ชีวิตอยู่กับการเที่ยวกลางคืน เสพยา ค้ายา แต่เธอก็ตั้งใจจะออกไปใช้ชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ทั้งที่ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นว่าจะทำได้
ขณะที่หญิงสาวจบปริญญาตรี มีฐานะคนหนึ่ง แต่งงานมีลูก เป็นแม่บ้านที่กำลังมีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นอย่างที่ผู้หญิงหลายๆ คนใฝ่ฝัน แต่เธอกลับโหยหาอิสระจากชีวิตครอบครัว และลุ่มหลงแฟนหนุ่มนอกบ้าน กระทั่งทำให้ตัดสินใจทิ้งครอบครัวอันอบอุ่น เข้าสู่เส้นทางค้ายาเสพติด วันนี้เธอต้องการการให้อภัยจากครอบครัว สามีและลูกยังจะยอมรับเธออยู่หรือไม่ คือคำถามที่ดังก้องอยู่เสมอ
การพูดคุย ชวนให้ทบทวนใคร่ครวญเรื่องราวของตัวเอง ทำให้หลายคนได้ย้อนดูภาพชีวิตที่ผ่านมาของตัวเอง สมุดบันทึกเล่มสวยที่พวกเธอทำ กำลังทำหน้าที่เก็บเรื่องราวของผู้เป็นเจ้าของ บทเรียนชีวิตที่ต้องซื้อมาด้วยราคาแพง กำลังถูกจดจารลงในหน้ากระดาษ
ผู้ต้องขังหญิงหลายคนบอกเหมือนกันว่า เธอคือ “นก” อยากมีอิสระภาพ ไปไหนก็ได้
ต่อมา พวกเธอได้ลองค้นพบฐานที่มั่นสำหรับตัวเองค่ะ นั่นคือ การได้นิ่ง…. เงียบ…. เนิ่นนาน อยู่กับลมหายใจ อยู่กับจังหวะการเต้นของหัวใจ รับรู้ทุกความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความว้าวุ่น ความฟุ้งซ่าน ความคิดที่วกวน โกรธ ไม่พอใจ เฉยๆ สงบ ทั้งหมดนี้คือฐานที่มั่นสำคัญ ไม่ว่าสถานการณ์สิ่งนอกตัวจะเป็นเช่นไร ตราบใดที่รู้ที่ตั้งของใจของตัวเองแล้ว สิ่งใดก็ไม่อาจทำให้เราหวั่นไหวได้
อีกครั้งที่เสียงหัวเราะ การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีชีวิตชีวาจากกิจกรรมเล่นเกม ทำให้พวกเธอรู้จักสังเกต จับความรู้สึกของตัวเอง มีสติท่ามกลางความโกลาหล รู้จักจัดการกับความผิดพลาดไม่ว่าจะเกิดจากเราหรือใคร จากนั้นก็เป็นกิจกรรมที่นำพาพวกเธอสำรวจความต้องการ และสรรหาวิธีต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น เราได้เรียนรู้ร่วมกันว่า การตอบสนองความต้องการอย่างหนึ่งของคนคนหนึ่งอาจมีหลายวิธี แต่ละวิธีก็ให้ผลต่อชีวิตตัวเองและคนรอบข้างต่างกัน เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจเข้าถึงความเป็นมนุษย์ของทุกคนได้เหมือนกัน
วันนี้ฉันได้เห็น ภาพชีวิตหลังกำแพง เมื่อผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งกลับจากฟังคำตัดสินของศาลให้จำคุกตลอดชีวิต เธอเดินกลับเข้าเรือนจำด้วยอาการเหม่อลอย เหมือนยังไม่อาจยอมรับความจริงอันโหดร้าย แต่คำถามของเพื่อนทำให้เธอปล่อยโฮออกมาดังๆ กลางเรือนจำ บางคนเข้าปลอบโยน แต่อีกหลายคนเดินหนี และครุ่นคิดอยู่กับเรื่องของตัวเอง
อีกคู่หนึ่ง เราเห็นความเอาใจใส่ห่วงหาอาทรต่อกัน เพราะทั้งสองเป็นแฟนกัน ท่ามกลางสายตาและคำพูดกระเซ้าเหย้าแหย่ของเพื่อน
ทารกน้อยคว่ำตัวอยู่กับพื้นเบาะอ่อนนุ่มน่ารัก แขนขาเล็กๆ ขยับเคลื่อนเหมือนท่าว่ายน้ำในอากาศอย่างไร้เดียงสา แววตาใสซื่อกำลังทำความรู้จักโลกใกล้ๆ ตัว แต่คงไม่รู้ว่าโลกของเขามีแค่กำแพงกั้น ผู้เป็นแม่ได้มีโอกาสเลี้ยงดูอุ้มชู และให้นมลูกอย่างใกล้ชิดในห้องเลี้ยงเด็กอ่อน (แม่ลูกอ่อนนอกคุกหลายคนไม่มีโอกาสได้ทำเช่นนั้น เพราะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน)
ในแถวยาวเหยียดที่รออาบน้ำในที่โล่ง เธอบางคนถึงกับก้มศีรษะลง เอาน้ำราดชโลมแชมพู ฟอกผม ฟอกหน้าในชุดนักโทษ เพราะความแออัด แต่ละคนมีเวลาจำกัดไม่กี่นาทีสำหรับอาบน้ำ เธอจึงเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเข้าไปราดน้ำล้างฟองเท่านั้น
ภาพชีวิตบางส่วนที่พบเห็นในช่วงหลายวันของการเข้าคุก คนก้าวพลาดเหล่านี้กำลังสอนเราว่า ในสถานการณ์ที่เลวร้าย อยู่กับสิ่งที่ทนได้ยาก เราจะวางใจอย่างไรไม่ให้ทุกข์ซ้ำ ที่สำคัญทุกๆ ความผิดพลาด ความไม่เอาไหน ความแย่ ความห่วย ของตัวเราเอง เรามักซ้ำเติมตัวเองอยู่ร่ำไป ไม่เพียงแต่โทษทัณฑ์จากสิ่งนอกตัว เราเองต่างก็ก้มหน้าก้มตาโบยตีตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดวงจิตเล็กๆ ภายในตัวเราจึงหมองเศร้า คงมีแต่ตัวเราเช่นกัน ที่จะโอบกอดตัวเองด้วยความรัก ความเมตตา และการให้อภัยตัวเอง นานเท่าไหร่แล้วคะ ที่เราเฝ้ารอสิ่งเหล่านี้จากใครสักคนบนโลกนี้ แต่ไม่ใช่ตัวเราเอง
หลังจากจบการศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เข้าสู่อาชีพในสายสื่อสารมวลชนทำข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ นอกจากสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมแล้ว ยังสนใจแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมแวดล้อม ระยะหลังสนใจแนวทางการเรียนรู้พัฒนาตัวเองในมิติของชีวิตจิตใจ