ทำไมเราจึงไม่ควรกลัวความทุกข์

จักรกริช พวงแก้ว 25 มกราคม 2019

เราไม่ควรกลัวความทุกข์ แต่สิ่งที่เราควรกลัวคือเราจะรับมือกับความทุกข์นั้นได้อย่างไร  การรับมือกับความทุกข์คือศิลปะอย่างหนึ่ง เมื่อเรารู้จักความทุกข์จะทำให้เราทุกข์น้อยลงและไม่จมอยู่กับความทุกข์ภายในใจ  พลังของสติจะช่วยให้จดจำ ยอมรับ และโอบกอดความทุกข์ที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งความสงบและการปลดปล่อยความทุกข์ลง

เมื่อความทุกข์ได้เผยตัวออกมา เรามักพยายามที่จะกดข่มมันเอาไว้ เรารู้สึกไม่สบายใจเมื่อความทุกข์นั้นปรากฎ เราต้องการผลักไสมันออกไปหรืออยากปกปิดมันเอาไว้  แต่สำหรับผู้ที่ฝึกสตินั้น เราจะอนุญาตให้ความทุกข์ได้แสดงตัวออกมาเพื่อที่จะได้เฝ้าดูและโอบกอดมันเอาไว้ ทำให้ความทุกข์นั้นแปรเปลี่ยนไปและได้ถูกปลดปล่อย

สิ่งแรกที่เราต้องทำคือยอมรับความขุ่นมัวที่เกิดขึ้นในตัวเรา เมื่อเรารับรู้และยอมรับอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นแล้ว เราจะเริ่มรู้สึกถึงความสงบ เมื่อเราได้ “เห็น” ความขุ่นมัวจะช่วยทำให้เราเติบโต และเราจะรู้สึกกลัวความทุกข์น้อยลง

เมื่อเรามีความทุกข์ เรากำลังเชื้อเชิญให้พลังงานอื่นที่อยู่ลึกลงไปในการรับรู้ของเราออกมา นั่นคือพลังงานของสติ  สติจะโอบกอดความทุกข์และกล่าวว่า “สวัสดีความทุกข์ที่รัก” ซึ่งนี่คือวิธีการฝึกให้สติจดจำความทุกข์นั้น … “สวัสดีความทุกข์ ฉันรู้ว่าเธออยู่ที่นั่น ฉันจะดูแลเธอ เธอไม่ต้องกลัว”

และตอนนี้ในความรับรู้ของเรามีพลังงานอยู่ 2 ชนิดคือ พลังงานของสติและพลังงานของความทุกข์  สติจะทำงานโดยการรับรู้ความทุกข์นั้นและโอบกอดความทุกข์ไว้ด้วยความเมตตากรุณา

เราสามารถใช้ลมหายใจช่วยในการฝึกได้ เมื่อเราหายใจเข้ากล่าวในใจว่า “สวัสดีความทุกข์” และเมื่อเราหายใจออกพร้อมกับกล่าวว่า “ฉันอยู่ที่นี่กับเธอ”  ในลมหายใจของเราจะมีพลังงานของความทุกข์ร่วมอยู่ด้วย และเมื่อเราหายใจพร้อมกับความเมตตากรุณา ก็เท่ากับเราโอบกอดความทุกข์นั้นไว้ด้วยความเมตตากรุณา

อนุญาตให้ความทุกข์ได้แสดงตัวออกมา เพื่อที่จะเฝ้าดูและโอบกอดมันไว้ ให้ความทุกข์นั้นแปรเปลี่ยนไปและถูกปลดปล่อย

เมื่อความทุกข์ปรากฏ เราต้องอยู่กับความทุกข์นั้น ไม่ควรที่จะวิ่งหนีและปกปิดความทุกข์เหล่านั้นด้วยการเบี่ยงเบนหรือทำในสิ่งตรงกันข้าม

เราควรที่จะรับรู้และโอบกอดความทุกข์นั้นไว้ ราวกับแม่ที่โอบกอดทารกน้อยที่กำลังร้องไห้ไว้ในอ้อมแขน  แม่เปรียบเสมือนสติหรือความรู้สึกตัว และทารกคือความทุกข์  แม่จะมีพลังงานของความกรุณาและความรัก เมื่อทารกได้รับการโอบกอดจะทำให้รู้สึกสบายขึ้น ความทุกข์นั้นก็จะเบาบางลงในทันที แม้ว่าแม่จะไม่ทราบว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริงก็ตาม เพียงแค่การโอบกอดของแม่ก็ทำให้ทารกนั้นมีความทุกข์ลดลง

เราไม่จำเป็นต้องทราบว่าความทุกข์มาจากไหน เพียงแต่เราโอบกอดมันไว้ ความทุกข์นั้นก็ได้ถูกปลดปล่อยลงบ้างแล้ว เมื่อความทุกข์ของเราลดลงก็จะทำให้เราผ่านพ้นมันไปได้

เมื่อเรากลับมาอยู่กับตัวเองด้วยพลังงานของความรู้สึกตัว เราก็จะไม่รู้สึกกลัวว่าจะต้องท่วมท้นไปด้วยความทุกข์อีกต่อไป สติจะทำให้เราเข้มแข็งเพื่อที่ได้มองลึกลงไปและกลับขึ้นมาด้วยความเข้าใจและความเมตตา


ถอดความจาก บทความบางตอนในหนังสือ The Art of Living ของท่านติช นัท ฮันท์

ที่มา : https://tricycle.org/trikedaily/shouldnt-afraid-suffering/

จักรกริช พวงแก้ว

ผู้เขียน: จักรกริช พวงแก้ว

ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา