ฉากสำคัญหลายตอนในภาพยนตร์เรื่อง The Lord of the Rings สะท้อนการเรียนรู้และเติบโตในภาวะภายใน ตัวตนใหม่เข้าแทนที่ตัวตนเก่าที่ตายจากไป กระบวนการภายในจิตใจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โฟรโด จากที่เคยมีชีวิตสุขสงบในบ้านและชุมชนของตน มีเพื่อนฝูง ญาติมิตร แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเข้าในชีวิต ทำให้อะไรหลายอย่างในชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ โฟรโดต้องเข้ามาแบกรับภารกิจสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยการทำหน้าที่นำพา “แหวนแห่งความชั่วร้าย” ไปทำลาย ณ ภูเขาไฟสถานที่ของจ้าวแห่งความชั่วร้าย พันธกิจนี้เต็มไปด้วยความยากลำบากจากเส้นทางทุรกันดาร อันตรายจากศัตรู และไม่เพียงอุปสรรคจากภายนอก โฟรโดต้องผจญกับศัตรูภายในของตนเอง คือ ความหวาดระแวงและหวั่นกลัว รวมถึงอำนาจของแหวนซึ่งอาจเปรียบเหมือนกิเลสความชั่วร้ายในจิตใจที่ค่อยๆ กัดกินจิตวัญญาณของโฟรโด ทำให้เขาหวงแหนแหวนมากขึ้นเรื่อยๆ แหวนค่อยๆ ครอบงำโฟรโดมากขึ้นเรื่อยๆ โฟรโดกำลังกลายเป็นทาสของแหวน
เส้นทางชีวิตของเราทุกคนก็ไม่ต่างจากโฟรโดที่ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มากก็น้อย จากภาวะเริ่มแรกที่พวกเรามีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ คุ้นเคยกับแนวทางและแบบแผนการดำเนินชีวิต ความคิด ความเชื่อประจำตัว แต่แล้วก็มีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามาในชีวิต สั่นคลอนแบบแผนชีวิต ความคิด ความเชื่อประจำตัว ตัวสถานการณ์ที่เข้ามาอาจเป็นในรูปของเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การถูกเลิกราความสัมพันธ์ โรคภัยไข้เจ็บเยี่ยมเยือน การสูญเสียสิ่งที่รัก ของมีค่า คนสำคัญ การงาน ฯลฯ เหตุการณ์เช่นนี้ก่อผลกระทบเป็นบาดแผลในชีวิต เล็กหรือใหญ่ รุนแรงมากน้อย ก็ขี้นกับผลกระทบและความอ่อนไหวในการแบกรับต่อความเจ็บปวดนั้น
บาดแผลเป็นความทุกข์ทรมานที่ปรากฏในรูปของความเจ็บปวด เครียด วิตกกังวล บาดแผลจึงเป็นความทุกข์ที่ไม่มีใครปรารถนา แต่เราก็หลีกหนีไม่ได้ บาดแผลเกิดขึ้นแล้ว คำถามคือ เราจะทำอย่างไรต่อไปกับบาดแผลที่เป็นอยู่ อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือหลักธรรมคำสอนสำคัญในความหมายที่นำเราไปสู่ภาวะตื่นรู้กับความทุกข์ที่เป็นอยู่ เพื่อนำไปสู่หนทางของการเข้าใจและก้าวข้ามความทุกข์นั้นได้ บาดแผลจะมีศักยภาพในฐานะ “โอกาส” หรือสะพานที่นำเราไปสู่การเติบโตได้ หลายชีวิตผ่านพบความทุกข์ บาดแผลในชีวิตแล้วสามารถก้าวข้ามเติบโตได้ ดังเช่นเรื่องราวชีวิตของบุคคลสำคัญ แต่หลายชีวิตเมื่อผ่านพบความทุกข์ บาดแผลชีวิตแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ภาวะติดตัน ไม่สามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้ เกิดภาวะติดจมจนมองไม่เห็นทางเลือกอื่นใดในการออกจากภาวะทุกข์ตรมอันนั้น บางกรณีจบลงด้วยสุรา ยาเสพติด หรือกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย เนื่องเพราะภาวะความสับสนวุ่นวายในชีวิต ไร้ระเบียบ จนกระทั่งเจ้าของชีวิตผู้นั้นไม่สามารถรับมือ ไม่สามารถจัดการกับภาวะรุมเร้าขณะนั้นได้
ตัวอย่างเรื่องราวของนางปฏาจารา สมัยก่อนที่จะมาเป็นภิกษุณี นางเป็นธิดาเศรษฐี เธอหนีตามคนรักไปสร้างครอบครัว มีลูกเล็ก ๒ คน แต่แล้วระหว่างเดินทางกลับภูมิลำเนา เธอสูญเสียสามีและลูกน้อยจากอุบัติเหตุสัตว์ร้ายและภัยธรรมชาติ และเธอก็พบว่าความหวังสุดท้ายในชีวิตหลุดหายไป เมื่อเธอทราบว่าพ่อแม่ของเธอตายในกองเพลิง ความทุกข์ที่รุมเร้านี้สาหัสกระทั่งทำให้นางสูญเสียสติสัมปชัญญะ กลายเป็นคนวิกลจริต ช่วงความสับสนนี้ คำถามที่มักผุดขึ้นมาคือ “เราคือใคร” จากภาวะที่เคยมีคำตอบให้กับตนเอง แต่เมื่อบาดแผลของความรุนแรงเข้ามาสั่นคลอน คำถามนี้ก็ผุดขึ้นมาอีกเพราะคำตอบเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป และเมื่อเรายังไม่มีคำตอบ ภาวะสับสนก็จะรุมเร้ารบกวนชีวิตต่อไป โฟรโดสะท้อนท่าทีสับสนอยู่บ่อยๆ ด้วยความลังเล ท้อแท้ว่าจะหันหลังกลับ ยอมแพ้ต่ออำนาจแหวน หรือเดินหน้าต่อดี โชคดีที่โฟรโดมีเพื่อนรักคอยโอบอุ้มให้เดินหน้าต่อกับพันธกิจนี้ได้ ขณะที่นางปฏาจารามีโอกาสได้รับการเตือนสติจากพระพุทธเจ้า “น้องหญิง จงตื่นเถิด จงมีสติ รู้สึกตัวเถิด”
ภาวะความรู้สึกตัว ความตระหนักรู้ มีความหมายและคุณค่าสำคัญคือ ช่วยให้เรามีความเข้าใจอย่างแจ่มชัดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นำพาให้เราพบกับคำตอบในคำถาม “เราคือใคร” ความตระหนักรู้ตัวช่วยให้เราเป็นอิสระจากอารมณ์ความรู้สึกขณะนั้น ภาวะที่เราเผชิญบาดแผล ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ โกรธ เสียใจ เศร้า ผิดหวัง ฯลฯ อารมณ์เช่นนี้เป็นอคติที่ขัดขวางการรับรู้ การมองเห็น และความเข้าใจต่อเรื่องราว ภารกิจสำคัญของทุกคนยามเมื่อเผชิญบาดแผลชีวิต ทำอย่างไรเราจึงสามารถมีความตระหนักรู้ตัวเพื่อสามารถใช้สติปัญญาในตัวเรา ให้ทำงานและช่วยเหลือตัวเราให้ผ่านพ้นภาวะบาดแผลนั้นได้ในทางสร้างสรรค์
ความตระหนักรู้ตัวของนางปฏาจารา ทำให้นางได้พบกับหลักธรรมที่นำไปสู่ความตื่นรู้ นำไปสู่วิถีชีวิตใหม่ และสำหรับโฟรโด ความตระหนักรู้ช่วยให้เขาทำพันธกิจสำเร็จในที่สุด และเราทุกคน ความตระหนักรู้ คือเกราะคุ้มภัยและเข็มทิศชีวิตอันวิเศษสุดในตัวเรา ในแง่นี้บาดแผลจึงเปรียบเหมือนโอกาสหรือสะพานที่นำเราไปสู่การเติบโตในภาวะภายใน ตัวตนเก่าได้ตายจากไป ตัวตนที่ผ่านบทเรียน ผ่านการเรียนรู้ได้เข้ามาแทนที่ เงื่อนไขสำคัญคือ การเรียนรู้ชีวิตผ่านบาดแผล บาดแผลในฐานะครูที่นำพาความตระหนักรู้มาสู่ตัวเรา
ในความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน กิเลสตัณหาไม่สามารถหลอกล่อเพื่อลากจูงให้ผู้รู้ ผู้ตื่น ตกเป็นเหยื่อได้อีกต่อไป และสำหรับเราทุกคน ประเด็นสำคัญคือ กิเลสตัณหาลากจูงและมีอิทธิพลต่อพวกเราได้ต่อเมื่อเรายังตกอยู่ในภาวะหลับใหล ภาวะที่ติดจมกับความโง่เขลา ความไม่รู้ แต่ทันทีที่มีสติรู้ตัว ภาวะที่ความตระหนักรู้ตัวทำงาน กิเลสตัณหาก็ไม่อาจซ่อนตัวได้อีกต่อไป ความไม่รู้ ความโง่เขลาก็จางหายไป สิ่งสำคัญคือ การที่เราต้องรู้ตัวและประจักษ์แจ้งก่อนว่า เราตกอยู่ในภาวะหลับใหล ภาวะมืดมน การตื่นรู้นี้เองคือจุดเริ่มการตระหนักรู้ และแสงสว่างแห่งปัญญาจึงสาดแสงขับไล่ความโง่ กิเลสตัณหาให้ออกไป
ในภาพยนตร์เรื่อง The Rite คนไล่ผี มีฉากสำคัญของพิธีกรรมไล่ผีหรือปิศาจซาตานที่มาเข้าสิงเหยื่อ นั่นคือ บาทหลวงในฐานะผู้ไล่ผีจะต้องทราบชื่อของผีร้ายที่มาเข้าสิงร่างของเหยื่อก่อน บาทหลวงจะใช้บทสวด พลังอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อที่มีอยู่บังคับให้ผีร้ายบอกชื่อของตนออกมา เพื่อที่บาทหลวงจะสามารถประกาศชื่อของผีร้ายเพื่อกล่าวขับไล่ออกไป ทันทีที่ผีร้ายออกจากร่างของเหยื่อที่ถูกสิงสู่ เหยื่อก็จะเป็นอิสระและปลอดภัยได้ในที่สุด
แนวคิดการขับไล่ผีร้ายหรือปิศาจซาตานที่เข้าสิงสู่ร่างของเหยื่อ โดยการรู้จักชื่อและประกาศชื่อผีร้ายเพื่อขับไล่ออกไป ก็คือ การรู้จักกิเลสตัณหาในตัวเรา และเราต้องรู้จักมันอย่างดีด้วย “รู้จักอย่างดี” หมายถึงการรู้เท่าทัน สามารถเฝ้าสังเกตและรู้จักตนเอง รู้จักโลกภายในของตน ซึ่งมีกิเลสตัณหาและความมืดดำซ่อนอยู่ และเมื่อความมืดดำทำงาน นั่นคือ ภาวะที่ผีร้ายหรือกิเลสตัณหาทำงานในตัวเรา
ความแตกต่างอาจอยู่ที่ว่า ในทางคติความเชื่อของพุทธศาสนามุ่งให้ความสำคัญกับผีร้ายในฐานะความหมายของกิเลสตัณหาที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา ขณะที่ในคติความเชื่ออื่นๆ อาจมุ่งมองที่อำนาจภายนอก กระนั้นยามเมื่อผีร้ายเข้าสิง สิ่งที่เหมือนกันคือ ภาวะความไม่รู้สึกตัว ความไม่เข้าใจตนเอง ความมืดบอดในสติปัญญาภายในตัวเรา กระนั้นในยามสิ้นหวัง อับจน มืดบอด แสงสว่างในปัญญาของเราก็ยังคงมีอยู่ เบื้องต้นคือ การตระหนักรู้ในอำนาจภายในตัวเรา ซึ่งเริ่มจาก
ท่ามกลางความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ภารกิจสำคัญคือ การเดินทางเพื่อค้นหาคำตอบและความเข้าใจ ความรู้หลายอย่างช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี มีอาชีพการงาน แต่ความรู้หลายอย่าง โดยเฉพาะความรู้ ความเข้าใจเพื่อรู้จักและเข้าใจตนเอง เข้าใจความจริงของชีวิตและของโลก เป็นความรู้ที่มีความสำคัญเพื่อนำไปสู่คำตอบในคำถามที่รบกวนชีวิตเราเสมอๆ คือ “เราคือใคร” และ “เรามาอยู่ ณ ที่นี้เพราะอะไร”
หลายคนลืมตาตื่นเช้าขึ้นมา พร้อมกับความกังวลถึงสิ่งต่างๆ ที่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขณะที่หลายคนลืมตาพร้อมกับความตั้งใจบางอย่าง และความหวัง ความปรารถนาถึงบางสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น ลักษณะแรก เรามองโลกด้วยความพรั่นพรึง ลักษณะที่สอง เรามองโลกด้วยความตื่นตัว พร้อมเผชิญหน้า
ความกล้าหาญเป็นอาวุธสำคัญที่เราจำเป็นต้องติดตัวและใช้ให้ถูกทางด้วยสติปัญญา กล้าที่จะค้นหาและยอมรับความจริง กล้าที่จะซื่อสัตย์กับความรู้สึก ความต้องการ กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง ฯลฯ
อำนาจนี้มีความสำคัญในการที่เราต้องเลือก เลือกที่จะตอบรับหรือตอบปฏิเสธกับบรรดาทางเลือกทั้งหลายที่เข้ามาในชีวิต “ใช่ (yes) หรือ ไม่ใช่ (no)” เราต่างล้วนมีทรัพยากรจำกัด เวลา พลังงาน และโอกาสที่เข้ามา เมื่อทางเลือกต่างๆ เข้ามา การเลือกคือหัวใจสำคัญที่เราต้องเผชิญ แม้การไม่เลือกก็เป็นการเลือกแบบหนึ่ง การเลือกรับ หรือปฏิเสธ ยังหมายถึงการเลือกสรรว่า เราเลือกที่จะให้ลักษณะโอกาสแบบใดเข้ามาในชีวิต
รอยยิ้มและเสียงหัวเราะถือเป็นปัญญาญาณที่สำคัญ ช่วยให้เราพบความผ่อนคลายในตนเอง การมองเห็นแง่มุมที่ขบขัน หมายถึงภูมิปัญญาที่จะอยู่กับปัญหาความทุกข์ยากโดยไม่หวั่นเกรง และปล่อยวางความเครียด กังวลได้
ทันทีที่มีสติรู้ตัว เกิดแสงสว่างแห่งปัญญา กิเลสตัณหาก็ไม่อาจซ่อนตัวได้อีกต่อไป
เรื่องราวที่ดำเนินไปของเส้นทางชีวิตแต่ละคน หากพิจาณาในรายละเอียด เรามักพบพานสิ่งที่เป็นอุปสรรคในชีวิต ทั้งอุปสรรคภายนอกและภายใน พร้อมกับปฏิกิริยาในจิตใจคือ ความรู้สึก ความนึกคิด ทั้งในเชิงบวกหรือลบก็ตาม แรงผลักของความทุกข์เป็นจุดเริ่มต้นให้เราดิ้นรนหาทางออก การดิ้นรนคือกระบวนการของการเรียนรู้ ถ้าเรามาเดินหรือเลือกผิดทาง ผลลัพธ์คือ บทเรียนและความทุกข์ที่ยังคงอยู่ หรืออาจรุนแรงขึ้น แต่ถ้าเลือกถูก ผลที่ได้คือ ประสบการณ์ที่เรียนรู้และความสุขที่ตามมา แต่ไม่ว่าเลือกผิดหรือถูก การเรียนรู้ก็ช่วยให้เราเติบโต และในกระบวนการดิ้นรนเรียนรู้นี้ เส้นทางการเลือกเดิน คือ ภาพสะท้อนที่เราตั้งความปรารถนาในจิตใจให้ฉายชัดออกสู่โลกภายนอกผ่านการคิดนึก รู้สึก และกระทำด้วยความตั้งใจ ด้วยการเลือก การตัดสินใจ และความกล้าหาญที่เดินทางต่อไป
การต่อสู้กับกิเลสตัณหา ก็คือ การต่อสู้กับผีร้ายในตัวเรา และในการต่อสู้นี้ก็คือ การเรียนรู้เพื่อรู้จักและเข้าใจตนเอง แต่ละบทเรียนที่เราเอาชนะผีร้ายในตัว ตัวตนเก่าก็สลายไป ก้าวเข้าสู่ตัวตนที่เติบโตทางจิตวิญญาณมากขึ้นและมากขึ้น สู่ตัวตนที่มีวุฒิภาวะ สุขและสงบภายในได้มากขึ้นเรื่อยๆ