เผชิญหน้าความทุกข์ด้วยการดูแลความสัมพันธ์

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 22 กรกฎาคม 2018

คุณแม่ท่านหนึ่งบอกเล่าความทุกข์ใจอันเนื่องจากการเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าของลูกสาว และเธอยินดีที่จะพาทั้งคุณพ่อและลูกสาวมาเพื่อร่วมทำกระบวนการพูดคุย  การพูดคุยจบด้วยบรรยากาศที่ไม่ได้ผลดีนัก แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายนัก พวกเขาได้ความเข้าใจ ความตระหนักรู้ในบางแง่มุมเกี่ยวกับสภาพที่เกิดขึ้นบ้าง หลายเรื่องพวกเขาบอกว่าพอมีความเข้าใจอยู่บ้าง และบางประเด็นก็เป็นเรื่องใหม่ น่าสนใจ  การพูดคุยแม้ว่าจะจบลงไปแล้ว พวกเขาได้รับคำตอบ ได้รับความเข้าใจที่ต้องการ แต่ผู้เขียนรู้สึกถึงความคับข้องใจบางอย่าง การไม่ได้ความร่วมมือบางอย่างในกระบวนการ ท่าทีกระสับกระส่ายในบางช่วงบางจังหวะ  ดังนั้น ช่วงจังหวะของการทำบทบาทนักจิตปรึกษา สิ่งที่ผู้เขียนต้องพยายามดูแลตนเองคือ การรักษาความสงบ มั่นคง ตั้งมั่นกับตนเอง

ภายหลังการทบทวน ผู้เขียนพบว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในตัวผู้เขียนคือ การมุ่งมั่นเพื่อช่วยเหลือพวกเขา ผู้เขียนรีบร้อนก้าวข้ามไปที่การมุ่งตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา จนละเลยขั้นตอนสำคัญบางอย่างในกระบวนการคือ การเชื่อมและสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับพวกเขาให้ได้ก่อน  สำหรับพวกเขาแล้ว ผู้เขียนยังเป็นคนแปลกหน้า และความชัดเจนในวัตถุประสงค์การพบปะในแต่ละสมาชิกของครอบครัวก็ไม่เท่ากัน  การงานของผู้เขียนที่พึงเพิ่มเติมในคราวต่อไปคือ การสำรวจดูแลคุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนในบทบาทนักจิตปรึกษา กับพวกเขาที่เป็นผู้ใช้บริการให้ได้ก่อน ซึ่งรวมไปถึงการปรับจูนความมุ่งหวัง การสำรวจความต้องการ และวัตถุประสงค์ให้เข้าใจตรงกัน

ยามเมื่อคนส่วนใหญ่เผชิญปัญหา สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือแรงผลัก ความมุ่งมั่นใส่ใจไปที่การพยายามแก้ไขปัญหา  ยิ่งหากกรณีเรื่องราวความทุกข์เกิดขึ้นกับบุคคลผู้เป็นที่รัก กระทบความอยู่รอดปลอดภัย แรงผลักเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาก็ยิ่งมีพลังรุมเร้ามากขึ้น  ตัวอย่างยามที่ลูกเผชิญปัญหา เช่น ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน มีปัญหาขัดแย้งเข้ากับเพื่อนและสังคมที่โรงเรียนไม่ได้  พ่อแม่จำนวนมากกระโดดเข้าไปเพื่อช่วยเหลือ เพื่อแก้ไข เพื่อจัดการปัญหานี้ด้วยความรัก ด้วยความคาดหวังว่าจะช่วยให้ลูกของตนไม่ต้องเผชิญความทุกข์ร้อน  สิ่งที่พ่อแม่เหล่านี้มักหลงลืมไปคือ ลูกคือบุคคลที่เผชิญปัญหา และไม่มีใครเผชิญปัญหาแทนได้  สิ่งที่พ่อแม่ช่วยได้คือ ช่วยหรือสนับสนุนให้ลูกเผชิญปัญหานี้อย่างมีคุณภาพได้

ผู้เขียนขออ้างอิงคำตอบจาก นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์  จิตแพทย์ที่ให้แนวทางพ่อแม่ยามเมื่อประสบปัญหานี้

“คำถามพบเข้ามาเรื่อยๆ อีกข้อ ลูกไปโรงเรียน ถูกแกล้ง กลั่นแกล้ง รังแก ทำร้าย ฟ้องครูแล้วครูไม่ทำอะไร  เรื่องทำนองนี้ขอให้ตระหนักว่าเรามีหน้าที่ป้องกันเด็ก นี่เป็นข้อแรก  จากนั้นเรามีหน้าที่เปิดโอกาสให้เขาพัฒนาตัวเอง นี่เป็นข้อสอง  การป้องกันเด็กทำได้ด้วยการสละเวลาไปบอกครูด้วยตนเองสักครั้ง ครูอาจจะทำอะไรถ้าเราไป สมมติว่าครูไม่ทำอะไร เราก็ควรทำขั้นตอนนี้อยู่ดี เพื่อแสดงให้ลูกเห็นว่าแม่ทำอะไรและพยายามป้องกันเขา มิใช่ว่าครูก็ไม่ทำ พ่อแม่ก็ไม่ทำ ฆ่าฉันๆ ให้ตายดีกว่าาา”

“สมมติว่าทำอะไรไม่ได้จริงๆ ครูไม่ทำ พ่อแม่เด็กผู้รังแกก็ไม่ทำ ถึงเวลาเราเลื่อนมาข้อ 2 คือเปิดโอกาสให้ลูกของเราพัฒนาตัวเอง นั่นคือป้องกันตัวเอง  การป้องกันตัวเองทำอย่างไรอยู่ที่พ่อแม่จะใช้ภาษาตามอายุของเด็ก ยกตัวอย่างได้ตามจำเป็น เหลือพื้นที่ให้เขาคิดออกเองบ้างก็แจ๋ว ลองไล่ดูเร็วๆ นะครับ

“วิ่งหนี วิ่งหนีเมื่อเห็นเงามันมา อันนี้หมวดหนีป่าราบ  แบ่งขนมให้มัน ช่วยถือของ ทำการบ้านให้มัน อันนี้หมวดเจรจาต่อรองไปจนถึงสวามิภักดิ์  สู้ ดักทำร้าย พาพวกมารุม อันนี้หมวดลงไม้ลงมือ  อย่าลืมกฎเหล็ก ห้ามทำร้ายร่างกายใครก่อน หากทำ แม่เองจะเล่นงานลูกคนแรก”

“ประเด็นสำคัญคือเราเปิดโอกาส แต่ไม่ได้ส่งเสริม เราบอกลูกเสมอว่าทำอะไรไปต้องมาเล่าทุกครั้ง แล้วเราจะช่วยคิดว่าดีมั้ย คุ้มมั้ย เปลี่ยนแผนมั้ย เราเป็นพวกเดียวกัน พ่อแม่เป็นพวกลูกเสมอ”

ไม่มีใครเผชิญปัญหาแทนกันได้ แต่เราช่วยให้เขา ‘เผชิญปัญหาอย่างมีคุณภาพ’ ได้

ผู้เขียนคิดว่า ท่าทีของพ่อแม่เช่นนี้ คือการสนับสนุนและสื่อสารให้ลูกได้รับรู้ว่า ลูกๆ ไม่ได้โดดเดี่ยวกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น มีพ่อแม่คอยเคียงข้างและพร้อมช่วยเหลือเขา  หัวใจสำคัญคือ การช่วยให้ลูกหรือผู้ประสบปัญหาได้รับรู้สายสัมพันธ์ที่ใส่ใจในตัวเขา  มองเห็นคุณค่า ความสำคัญของพวกเขา  ให้ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจในความรู้สึก ความต้องการของพวกเขา  และด้วยคุณภาพความสัมพันธ์ที่แข็งแรง กระบวนการช่วยเหลือจึงสามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพ

กรณีการช่วยเหลือ ๑๓ ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงนางนอนเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สะท้อนถึงการมีความสามารถในการเท่าทันปัญหา  นอกเหนือจากการทำความเข้าใจสภาพการณ์ ระดมและขอความช่วยเหลือ ความเชี่ยวชาญทั้งบุคคล องค์ความรู้ รวมถึงการวางแผน บริหารจัดการเพื่อสร้างองค์ประกอบ ปัจจัยการสนับสนุนอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหา  สิ่งสำคัญหลักในกระบวนการคือ การรับฟัง การให้เกียรติ ความเคารพ ความสุภาพต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสีย การสนับสนุนด้านกำลังใจ การชื่นชม การขอร้อง ด้วยท่าทีการสื่อสารที่มีคุณภาพ ย่อมเอื้อต่อการสร้างความร่วมมือกัน

ภายใต้แรงกดดันเพื่อกระทำการบางอย่าง แม้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีงาม เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น กระนั้นก็ต้องไม่ละเลยความใส่ใจในสายสัมพันธ์ รับรู้ใส่ใจสุขทุกข์ของผู้ต้องการความช่วยเหลือ เพราะสิ่งนี้อาจมีคุณค่าความหมายมากกว่าตัวปัญหา ตัวความทุกข์ หรือตัววิธีการแก้ไขเองอีก  สายสัมพันธ์ที่มีคุณภาพจะช่วยให้ผู้ประสบภัย ผู้ทุกข์ร้อนมีความสามารถด้วยตนเองในการรับมือ คลี่คลายปัญหา  เราในฐานะผู้ช่วยเหลือมีบทบาทเพียงสนับสนุนให้เขาเข้าถึงความสามารถนี้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาให้แทน

สิ่งที่ผู้เขียนได้บทเรียนและต้องย้ำเตือนตนเอง คือ ใส่ใจกับกระบวนการ ไม่ใช่เป้าหมาย  ด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง เหมาะสม จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ปรารถนาได้เอง


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน