ช่วย ๑๓ ชีวิต คือ ช่วยตัวเรา

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 15 กรกฎาคม 2018

เหตุการณ์ช่วยทีมหมูป่า ๑๓ ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงนางนอน จ.เชียงราย ร่วม ๑๘ วัน ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่รวบรวมความพิเศษมหัศจรรย์ ทั้งผู้คน ความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ ทักษะความสามารถ น้ำจิตน้ำใจ แรงสนับสนุนมากมายจากทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ  ทันทีที่ผู้ประสบภัยคนสุดท้ายได้รับความช่วยเหลือ เราทุกคนต่างปลื้มปิติถึงความสุข ยินดีในความสำเร็จของภารกิจ  เหนืออื่นใดความสำเร็จนี้มาจากความพากเพียร ความพยายาม พลังความหวัง ความเมตตากรุณา และที่สำคัญการได้ทำสิ่งมีความหมายคือ การคิดถึงช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่าตนเอง

ศัตรูสำคัญที่ภารกิจนี้ต้องฝ่าฝันและผ่านไปให้ได้คือ  ๑) เงื่อนไขของสภาพธรรมชาติที่ต้องเอาชนะ สภาพถ้ำลึกที่น้ำท่วมขัง ปิดทางเข้าออก คดเคี้ยวแคบชันรวมถึงสภาพมืดมิด  ๒) ปัจจัยเรื่องเวลาที่ ๑๓ ชีวิตไม่สามารถอดทนรอได้นานนัก เนื่องจากความทรุดโทรมของสภาพร่างกาย ความเจ็บป่วยที่กำลังคุกคาม รวมถึงความเสี่ยงของน้ำท่วมในถ้ำจนอันตรายกับชีวิต  ทั้ง ๒ ปัจจัยเป็นสภาพภายนอกที่ภารกิจต้องพยายามเอาชนะฝ่าฝันให้ได้

และศัตรูสำคัญตัวสุดท้ายคือ ความเป็นตัวเรานี่เอง ภาวะที่ต้องติดตัด ไร้ทางออก มืดมิด สิ่งที่ ๑๓ ชีวิตต้องเผชิญคือ ความกลัว วิตกกังวล ฟุ้งซ่าน ในสภาพเช่นนี้ เราต่างล้วนมีประสบการณ์ถึงภาวะคุกคามของศัตรูภายในตัวเรานี้ว่าทรมานอย่างไร  เมื่อเผชิญศัตรูภายใน หนทางอยู่รอดมีทางเดียวคือ การเป็นมิตรกับตนเอง เป็นมิตรกับศัตรูภายในเหล่านี้

ความหวังและการรักษาความหวัง การมีพลังใจในความมุ่งมั่น การมีความเห็นอกเห็นใจ คือพลังหล่อเลี้ยงให้ภารกิจนี้ฝ่าฝันไปได้  หลายคนตัดสินใจร่วมเป็นจิตอาสาเข้าแบกรักภารกิจที่ท้าทายและมีอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะรับรู้และสัมผัส เข้าใจในความรู้สึกปวดร้าวของพ่อแม่ ญาติมิตรที่ลูกหลาน พี่น้อง เพื่อนของเขากำลังทุกข์ตรมกับลูกๆ ที่ติดขังอยู่ในถ้ำ อีกทั้งรับรู้ถึงความหวาดกลัว ทุกข์ทรมานของ ๑๓ ชีวิตที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกและกำลังรอคอยความช่วยเหลือ

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในความทุกข์ทรมาน ความทุกข์ได้หลอมรวมพลังความเมตตากรุณา และหลอมรวมพลังจากทั่วโลกเพื่อเอาชนะภารกิจท้าทายและมี ๑๓ ชีวิตเป็นเดิมพัน  ความทุกข์ได้ชักพาความช่วยเหลือ การสนับสนุนทุกสรรพกำลังที่ตนมี  จิตอาสาบางคนเลือกทำงานสนับสนุนด้านการซักรีดเสื้อผ้า บางคนเลือกช่วยเหลือบริการด้านอาหารเพื่อดูแลปากท้องคนทำงาน ชาวนายินดีแบกรับภาระความเสียหาย อันเนื่องจากพื้นที่เกษตรต้องรองรับน้ำที่ถูกระบายจากถ้ำหลวง เพื่อต่อโอกาสมีชีวิตให้ผู้ประสบภัย

โดยทั่วไปเมื่อเกิดความทุกข์ เดือดร้อน เรามักเชื่อว่าแต่ละคนจะมุ่งเอาตัวรอด ทอดทิ้งธุระของคนอื่น ตัดขาดความเชื่อมโยง  แต่บทเรียนที่ทุกคนในสังคมไทยและสังคมโลกได้ตระหนักอีกครั้ง คือ พลังของความช่วยเหลือ พลังความเมตตากรุณา การคิดถึงประโยชน์สุขของผู้อื่นได้สร้างพลังมหัศจรรย์ให้แก่โลก  กรณีจ่าเอกสมาน กุนัน ซึ่งเสียชีวิตขณะปฎิบัติหน้าที่ เป็นเรื่องเศร้าเสียใจของครอบครัวและคนรอบข้างที่ได้รับรู้  กระนั้นในความโศกเศร้าก็มีความภาคภูมิใจ ความเข้มแข็งยืนหยัดในการทำคุณงามความดี และนั่นคือ สิ่งที่มีความหมายยิ่งใหญ่แก่ความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน

บทเรียนสำคัญจากภัยพิบัติในครั้งนี้ ผู้เขียนมองว่าเรื่องสำคัญที่ จ.อ.สมานได้มอบให้เป็นบทเรียนที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ คือ ความตายอาจเป็นเรื่องน่ากลัว โศกเศร้า เจ็บปวด  แต่กระนั้นสิ่งสำคัญคือ ความตายก็คือความจริงที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่ทุกคนเลือกได้ คือ การเลือกว่าจะมีชีวิตอย่างไร และจะตายอย่างไร  จ.อ.สมาน เป็นตัวอย่างบุคคลที่เลือกใช้ชีวิตเพื่อทำประโยชน์ให้ผู้อื่น เขารับรู้ถึงความเสี่ยงภัย และเขาก็เลือกว่าถ้าต้องตาย เขาก็เลือกตายในหน้าที่ ในการทำงานเพื่อผู้อื่น

และตัวแปรสำคัญที่เป็นต้นเหตุของการหลอมรวมพลัง คือ ๑๓ ชีวิต  พวกเขารอคอยความหวัง การช่วยเหลือจากโลกภายนอก พวกเขาก็สามารถประคองชีวิต ดูแลสุขภาพกายใจให้มั่นคง แข็งแรงพร้อมที่จะรับความช่วยเหลือจากภายนอก  ท่ามกลางความมืดมิด ๑๐ วัน ๙ คืน พวกเขามีเสบียงในระยะสั้นๆ มีกันและกันเป็นเพื่อนช่วยเหลือกัน  และสิ่งที่เป็นปาฎิหาริย์สำคัญ พวกเขามีโค้ชพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์เจริญสติ สมาธิภาวนา ที่ช่วยประคองพวกเขาให้อยู่รอดปลอดภัยจากความกลัว เครียด กังวล  พวกเขาสามารถเป็นมิตรกับศัตรูภายใน สามารถมีความสุข สงบ (แม้ว่าจะหิวโหย อ่อนกำลัง) กับสภาพแวดล้อมภายในถ้ำลึกเช่นนั้นได้

ความมหัศจรรย์อีกประการคือ ภายใต้ความวุ่นวายของภารกิจที่ต้องการการบริหารจัดการ การระดมสรรพกำลัง แต่ละคนต่างนำพาทักษะ ความรู้ ความสามารถ จิตใจที่เข้มแข้ง กล้าหาญ เมตตา และพละกำลังตามที่แต่ละคนมีเข้าร่วมด้วยช่วยกัน  ภาวะผู้นำของผู้อำนวยการศูนย์ความช่วยเหลือ ได้เข้ามาเอื้ออำนวยให้เกิดการหลอมรวมพลัง ทั้งท่าทีของการรับฟัง การเรียนรู้ ท่วงทำนองที่สุภาพ อดทนต่อความยากลำบาก ใส่ใจกับความต้องการและภาวะอารมณ์ของทุกฝ่าย และยืนหยัดกับความหวังที่จะช่วยเหลือ ๑๓ ชีวิต ได้กลายเป็นตัวแปรความสำเร็จ ก่อเกิดชัยชนะของคนทั้งโลก ที่ต่างเอาใจช่วยกับภารกิจนี้

โดยทั่วไปเมื่อเกิดความทุกข์เดือดร้อน เรามักเชื่อว่าแต่ละคนจะมุ่งเอาตัวรอด ทอดทิ้งธุระของคนอื่น แต่เหตุการณ์ความช่วยเหลือครั้งนี้ได้สร้างบทเรียนให้แก่สังคมไทยและสังคมโลก

ผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ จิตอาสาต่างแยกย้ายกลับไปมีชีวิตตามปกติของตน ซึ่งผู้เขียนมองว่าหากวันหนึ่งเกิดภัยพิบัติ เกิดความทุกข์ยากกับเพื่อนร่วมชุมชน ร่วมสังคม ร่วมโลก พวกเขาก็จะมารวมกันอีกครั้ง เพราะพวกเขาระลึกรู้กับตนเองว่า พวกเขาคือใคร และพวกเขามาทำอะไรกับโลกใบนี้ กับสังคมรอบตัวเขา  ความเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ไม่ใช่สิ่งแบ่งแยก มีแต่ความเมตตากรุณาที่หลอมรวมโลกเข้าด้วยกัน

และงานท้าทายต่อไปของ ๑๓ ชีวิตและคนรอบตัวคือ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะตามมา  หลังจากนี้ พวกเขาคือจุดสนใจของผู้คน ชื่อเสียง ผลพวงของการเป็นคนเด่นดังที่หลายคนอยากเข้าใกล้ ผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะตามเข้ามา  พวกเขาจะเผชิญและก้าวข้ามเรื่องนี้อย่างไรคือสิ่งท้าทาย และเป็นเรื่องราวชีวิตในบทต่อไป  แน่นอนว่าความมีสติ การมีกัลยาณมิตร การมีผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะจะช่วยให้พวกเขาผ่านบททดสอบนี้ต่อไปได้

เรื่องราวของ ๑๓ ชีวิต จึงเป็นเรื่องราวของเราทุกคนที่ต่างเผชิญ และมุ่งหวังเอาชัยชนะกับภารกิจท้าทายทั้งภายนอกและภายใน  เมื่อภารกิจนี้สำเร็จได้ด้วยองค์ประกอบ บทเรียนการเอาชนะภารกิจถ้ำหลวงได้ ก็จะช่วยเราเอาชนะภารกิจชีวิตของเราได้เช่นกัน เรื่องนี้ไม่ยากเกินอีกต่อไป


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน