พี่…คะ … “คุยกับเพื่อนซึ่งวางแผนในชีวิตไว้ว่า อีกไม่นานหลังจากปลดหนี้บ้าน หนี้รถไปได้เยอะ พอตั้งหลักได้ อีก ๓-๔ ปี จะแต่งงานมีลูก ตอนนี้ยังไม่แต่ง เพราะไม่มีเงินพอ … อดรู้สึกไม่ได้ว่าชีวิตคนเรามีแค่นี้เองเหรอ ทำไมเราถูกสอนมาให้ปฏิบัติเหมือนกัน คือ โตขึ้น เรียน ทำงาน มีครอบครัว ชีวิตมันมีอะไรมากกว่านี้อีกไหม … รู้นะว่ามี แต่ … ยังไงล่ะ … ”
เพื่อนรุ่นน้องส่งเนื้อความทางอีเมลมาถึงผู้เขียน ดูออกจะเป็นเนื้อความที่หลายคนในวัยเยาว์มีคำถามเช่นนี้มาก่อน บางยุคสมัยคำถามนี้กึกก้องผ่านยุคสมัยแห่งการแสวงหา สำหรับบางคน คำถามนี้ดูจางคลายและห่างเหินไปยามเมื่อชีวิตมีภาระมากขึ้น ขณะที่หลายคนก็เลือกใช้ชีวิตที่ต่างออกไป เรียนรู้ลองผิดลองถูกกันไป จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจและน่ายินดีที่คำถามนี้ยังมีอยู่ในจิตใจคนหนุ่มสาวทุกวันนี้ ผู้เขียนมองว่าในเรื่องราวชีวิตหลายเรื่องนั้น คำถามมีความสำคัญมากกว่าคำตอบ คำถามทำให้เราแสวงหาคำตอบ และเมื่อเราลงมือแสวงหาคำตอบ นั่นก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งมีคุณค่าและมีความสำคัญมากกว่าการพบตัวคำตอบจริงๆ เสียอีก
สิ่งที่อยากบอกกล่าวในที่นี้คือ เนื้อความข้างต้นมีข้อน่าสังเกต คือ ๑) หลายเรื่องในชีวิตของพวกเราทุกวันนี้ “เงิน” ดูเป็นคำตอบสุดท้าย ๒) คำถามสะท้อนสมมุติฐานบางอย่างในใจผู้ถามว่า คำตอบสาระของชีวิตนั้น มันอยู่ข้างนอกที่ไหนสักแห่งและรอคอยให้เราไปค้นหาสาระความหมายนั้น ๓) เป้าหมายในฐานะคำตอบหรือปลายทางที่มุ่งไปให้ถึง กับเส้นทางหรือกระบวนการสู่คำตอบ อย่างไหนสำคัญกว่ากัน เพราะบ่อยครั้งเราคิดถึงคำตอบหรือผลลัพธ์ ๔) สำหรับชีวิต คำตอบที่คนๆ หนึ่งพอใจ อาจไม่ใช่คำตอบที่น่าพอใจของบางคนก็ได้ และ ๕) คำถามที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงชีวิต แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องการอะไรมากกว่าการมีคำถาม
วรรณกรรมเยาวชนที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่ง และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่อยู่ในดวงใจของหลายคน คือ พ่อมดแห่งออซ เริ่มต้นด้วยโดโรที เด็กหญิงที่ถูกลมพายุพัดพาเธอพร้อมกับสุนัขคู่ใจไปยังดินแดนอันแสนไกล คนเดียวที่จะช่วยเธอได้คือ พ่อมดแห่งออซ แล้วเธอก็พบเพื่อนร่วมทางที่ต่างต้องการไปขอความช่วยเหลือจากพ่อมดแห่งออซ คือ สิงโตจอมขี้ขลาดที่ต้องการความกล้าหาญ หุ่นไล่กาจอมโง่เขลาที่ต้องการความเฉลียวฉลาด และหุ่นกระป๋องไร้ชีวิตจิตใจที่ต้องการหัวใจ ทั้งหมดร่วมเดินทาง ผจญภัย เรียนรู้ด้วยกัน จนในที่สุดพวกเขาพบว่า พ่อมดแห่งออซ บุคคลที่เป็นความหวังของพวกเขาก็ช่วยอะไรพวกเขาไม่ได้ แต่ในเส้นทางของการเดินทาง ทุกคนก็ได้บรรลุในสิ่งที่ปรารถนา เพราะที่แท้ สิ่งที่ทุกคนปรารถนาล้วนแต่อยู่ในตนเอง ในฐานะ “บ้าน” ของตนเองนั่นเอง
คิดถึงวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ เพราะเราทุกคนต่างมีความรัก ความปรารถนา ที่ต้องการบรรลุและไปให้ถึง ความเชื่อที่ว่ามีคำตอบอยู่ข้างนอก ทำให้ความรัก ความปรารถนาในชีวิตจึงมักพุ่งไปกับเรื่องราวภายนอก เราเชื่อว่าเราจะพบความสุขที่แท้ พบความสมบูรณ์แบบ พบการเติมเต็มเมื่อเราได้สิ่งที่ต้องการ สิ่งที่ต้องการในยุคสมัยปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นทรัพย์สินเงินทอง คนรักที่ปรารถนา และที่สำคัญคือการบริโภค ความเชื่อเช่นนี้อาจมีส่วนถูก แต่ไม่ทั้งหมด
ขอให้ลองจินตนาการความรู้สึกนึกคิดเป็นตัวละครในวรรณกรรมเรื่องนี้ ตัวละครแต่ละตัวต่างมีความเชื่อที่ฝังหัวว่า พ่อมดแห่งออซมีอำนาจวิเศษที่ดลบันดาลความสมหวังให้พวกตนได้ ตัวละครเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากพวกเราที่มีความเชื่อฝังหัวว่า ความสุข ความทุกข์ หรือสาระของชีวิตอยู่ที่ภายนอก อาจจะเป็นการมีชีวิตครอบครัวที่เป็นสุข การงานที่มีคุณค่า สร้างสรรค์ การได้บรรลุสิ่งที่ปรารถนา เช่น การท่องเที่ยว การพบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ประทับใจ พวกเราต่างดำเนินชีวิตไปตามความเชื่อเช่นนี้ ขณะเดียวกันชีวิตของพวกเราก็มีความซับซ้อนของประเด็นสาระมากกว่าประเด็นสาระในเรื่องราวบทละครในวรรณกรรมหรือภาพยนตร์ใดๆ เราจึงมีความเชื่ออื่นๆ อีกมากมายซ้อนทับกันไปมาในตัวเรา ดังเช่น ความเชื่อในค่านิยม วัฒนธรรม ศาสนา การศึกษา เพศ ประสบการณ์ การเรียนรู้ ฯลฯ สิ่งต่างๆ ที่เรากระทำจึงขับเคลื่อนด้วยความเชื่อ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ก็คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
คราวนี้ลองวิธีใหม่ เมื่อเราอยู่ในฐานะผู้อ่าน หรือผู้ดู (นิยาย วรรณกรรม หรือภาพยนตร์ก็ตาม) เราเห็นความเป็นไปต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวละคร กับเรื่องราวที่ดำเนินไป การดู การเห็น การรู้เช่นนี้ ทำให้บทบาทฐานะของตัวเราต่างออกไปจากตัวละคร คราวนี้เป็นไปได้ไหมที่เราจะลองมาเป็น “ผู้ดู ผู้รู้ หรือผู้ศึกษา” ชีวิต จิตใจ ความรู้สึกนึกคิดของตัวเราเอง คุณูปการสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ การได้รู้จัก ได้เห็น และได้เข้าใจความเชื่อที่แฝงฝังและเราอาจมองไม่เห็นมาก่อน
ทำไมเราถูกสอนมาให้ปฏิบัติเหมือนกัน คือ โตขึ้น เรียน ทำงาน มีครอบครัว … ชีวิตมันมีอะไรมากกว่านี้อีกไหม
ส่วนหนึ่งของ “มีอะไร…ในชีวิต” ก็คือ ความเชื่อ ตัวละครในเรื่องราวเดินทาง ผจญภัย และก็พบคำตอบจากประสบการณ์ว่า ความเชื่อที่ตนยึดถือไม่เป็นความจริง สิ่งที่พวกเขากระทำทันทีโดยไม่ต้องมีใครสอน เพราะประสบการณ์ชีวิตสอนเราเอง ก็คือ ไถ่ถอนความเชื่อผิดๆ นั้นซะ เช่นเดียวกับพวกเรา เราเติบโตและมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ เราต้องขอบคุณความเชื่อต่างๆ ที่ช่วยปกป้องและคุ้มครองชีวิตให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ กระนั้น บทเรียนชีวิตที่ผ่านพบเข้ามาเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมาทบทวนความเชื่อต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวเรา ทบทวนด้วยการตรึกตรอง ทำความเข้าใจ โดยอาจเลือกความเชื่อบางอย่างมาพิจารณา และนั่นอาจหมายถึงการรื้อปรับ ถอดล้าง ซ่อมแซมความเชื่อบางอย่าง เพื่อให้ความเชื่อช่วยนำพาเราไปสู่ชีวิตที่แท้ แต่จะทำเช่นนี้ได้ เราต้องฝึกหัดในการเฝ้ารู้ เฝ้าดูชีวิตจิตใจของเราเองก่อน
ความเชื่อที่ว่า ชีวิตน่าจะมีความสุขรอคอยเราอยู่ข้างหน้า เช่น ความสำเร็จ ความสมหวัง บ้าน คนรัก ลูก ฯลฯ แต่เราก็พบไม่ยากว่า ความสุขนี้ไม่อยู่นิ่ง ครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งเปรียบเทียบไว้ว่า “มันเหมือนพยับแดด” ประเด็นสำคัญคือ เราเห็นความสุขนี้เป็นสิ่งของจับต้อง ยึดครองได้ เราไม่เห็นความเป็นพยับแดด ส่วนหนึ่งของ “มีอะไร…ในชีวิต” ก็คือ ความไม่รู้ (ศัพท์ธรรมะก็เรียก อวิชชา) สิ่งที่ซับซ้อนก็คือ การรู้หรือไม่รู้ตรงนี้ ไม่ใช่การรู้ หรือไม่รู้ ด้วยการมีหรือไม่มีความรู้จากหนังสือ จากคำสอน หรือการคิดนึกตรึกตรอง แต่ต้องเป็นการรู้จากใจ จากประสบการณ์ของการทำความรู้สึกตัว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่มักได้ยินได้ฟังว่า คนมีความรู้ระดับสูง ฆ่าตัวตาย ทำร้ายคนอื่น เพราะความทุกข์ทรมานจากความโกรธ แค้น ผิดหวัง พวกเขามองไม่เห็นว่า กำลังหลงผิดไปกับพยับแดดที่จับต้องและยึดครองไม่ได้
นอกจากความไม่รู้ “มีอะไร…ในชีวิต” คำตอบอีกข้อก็คือ ความรู้สึกตัว รู้สึกถึงจิตใจที่วิ่งคิดนึกไปกับสิ่งต่างๆ รอบตัว รู้สึกถึงอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ โกรธ โลภ หลง ดีใจ เสียใจ ฯลฯ ที่เกิดขึ้น แล้วเราก็จะพบว่า ชีวิตมีทางเลือก ถ้าเราเลือกถูก หรือผิด ชีวิตจะบอกเราเองด้วยความทุกข์ที่เราประสบ น่าสนใจนะ
เราคงต้องคุยกันต่อ เหมือนกับชีวิต ที่เราต้องเดินทางกันตลอด จนกว่า …