ซินดาบาลา: หญิงหม้ายหัวใจเทวดา

กฤษณา พาลีรักษ์ 18 มีนาคม 2018

ซินดาบาลา มิชรา เกิดในครอบครัวยากจนในชนบท ประเทศอินเดีย เธอเป็นหญิงธรรมดาที่มีความฝันต่อชีวิตสวยงามเช่นเดียวกับเด็กสาวทั่วไป แต่ซินดาบาลากลับประสบเคราะห์กรรมที่แตกต่าง เมื่อเธอโตเป็นสาว และแต่งงานออกเรือนไปได้เพียง 2 ปี สามีของเธอได้ตายลง และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่แม้ไม่ได้เลวร้ายขนาดต้องกระโดดเข้ากองไฟตาม เหมือนผู้หญิงอินเดียโบราณ แต่ครอบครัวของสามี กลับเห็นว่าเธอเป็นภาระที่พวกเขาไม่อยากแบกรับ หลังจากงานศพไม่นาน ซินดาบาลาจึงถูกขับไล่ออกจากบ้าน และได้กลายเป็นคนเร่ร่อนนับแต่นั้น

ตามความเชื่อของชาวอินเดียนั้น เมื่อลูกสาวแต่งงานออกจากบ้าน แม้ครอบครัวฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายจ่ายค่าสินสอด แต่พวกเธอได้ตกเป็นสมบัติของสามีและต้องตัดขาดการเลี้ยงดูกับครอบครัวเดิมลง และไม่สามารถกลับไปอยู่กับพ่อแม่ที่แท้จริงได้ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ยิ่งชีวิตหญิงหม้ายในสังคมอินเดียยิ่งถูกมองเป็นสิ่งอัปมงคล หากไม่โชคร้ายขนาดต้องถูกขับออกจากบ้าน พวกเธอต้องอยู่อย่างลับๆ ล่อๆ และไม่มีทางได้รับการยอมรับ หรือกลับมามีสถานะทัดเทียมกับคนอื่นในสังคมได้อีก มีข้อมูลบ่งชี้มากมายว่า ในครอบครัวยากจน บางทีพวกเขาจะฆ่าเด็กทันที เมื่อรู้ว่าเด็กที่เพิ่งคลอดออกมานั้นเป็นเพศหญิง

เมื่อกลายเป็นคนไร้บ้าน ซินดาบาลาใช้ชีวิตเร่ร่อนไปทั่ว เธออดมื้อกินมื้อ ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น แรกๆ เธอรู้สึกกลัว และนอนหลับไปพร้อมกับความหวาดระแวง แต่นานวันเข้า เธอรู้วิธีเอาตัวรอด และได้กลายเป็นคนจรจัดเต็มตัวในประเทศที่คนยากจนมีมากติดอันดับโลก เธอเห็นอกเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา โดยเฉพาะความรู้สึกของเด็กกำพร้าที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้านและขอทานประทังชีวิต พวกเขาต้องเผชิญกับความอ้างว้างโดยลำพัง และได้กลายเป็นตัวแทนของอนาคตที่มืดมนที่สุดในประเทศอินเดีย

เธอใช้ชีวิตเร่ร่อนและกลายเป็นคนจรจัดเต็มตัว ซึ่งทำให้เธอเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาเหล่านั้น

ซินดาบาลาเคยได้ยินมาเหมือนกันว่า เด็กบางคนที่เกิดในครอบครัวขอทาน ถึงแม้ตอนแรกเกิดพวกเขาจะมีอวัยวะครบหรือเป็นเด็กสมประกอบ แต่ด้วยความยากจน พ่อแม่จำใจต้องตัดแขนตัดขาลูกๆ เพราะความพิกลพิการเรียกคะแนนความสงสารได้ดีกว่า

กระนั้นก็ตาม อาชีพขอทานเองก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนคิด เมื่อรายจ่ายของพวกเขาไม่ได้มากนัก อย่างซินดาบาลาเอง ในหลายปีต่อมาก็มีเงินสะสมมากขนาดสามารถซื้อที่ดินเป็นของตัวเองได้ แต่แปลกตรงที่ความปรารถนาจะสร้างบ้านบนที่ดินแปลงนั้น เพื่อปีนป่ายกลับขึ้นไปอยู่ในสถานะที่ทัดเทียมกับผู้อื่น ไม่ได้เกิดขึ้นในความรู้สึกของเธอเลย  ซินดาบาลาอยากสร้างศูนย์พักพิงเพื่อเด็กกำพร้าขึ้น และมอบมันเป็นของขวัญวันเกิดให้ตัวเอง

เมื่อความคิดเรื่องนี้ของเธอแพร่กระจายออกไป เธอได้รับการสนับสนุนจากคนในสังคมอย่างท่วมท้น มีผู้บริจาคทุนทรัพย์และมีอาสาสมัครมาร่วมสร้างศูนย์พักพิงฯแห่งนี้มากมาย นอกจากนั้นพวกเขายังได้ช่วยกันสร้างสวนสาธารณะเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจในบริเวณใกล้เคียงขึ้น ตลอดระยะเวลาของการก่อสร้าง ซินดาบาลามีความสุขมาก เธอไม่คิดว่า การกระทำเพื่อความสุขของตัวเองครั้งสำคัญ จะสร้างความสุขและส่งต่อความดีถึงผู้อื่นได้มากมายถึงเพียงนี้ มันมากกว่าความฝันสวยงามยามเด็ก มันคือรางวัลที่ตอบแทนการให้ที่ยิ่งใหญ่ของผู้หญิงยากไร้คนหนึ่ง เธอจึงอยากอุทิศชีวิตและวันเวลาที่เหลือเพื่อดูแลเด็กๆ

ปัจจุบันมีเด็กกำพร้ามากมายมีชีวิตอยู่อย่างอบอุ่นที่นี่ พวกเขามีบ้านหลังใหม่ มีความรักจากซินดาบาลาหญิงหม้ายผู้กลายเป็นเสมือนแม่ และมีโอกาสใหม่ๆ ที่สังคมพร้อมจะหยิบยื่น ผู้คนต่างซึ้งในน้ำใจของหญิงหม้ายผู้จุดคบเพลิงต่อความฝันให้เด็กๆ และจุดคบไฟให้หัวใจผู้คนได้ตื่นขึ้น แล้วหันมาเอาใจใส่ดูแลกันอย่างไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ด้วยการทำความดีอย่างที่ “ซินดาบาลา..หญิงหม้ายหัวใจเทวดา” ได้พิสูจน์ให้เห็น


ภาพประกอบ

กฤษณา พาลีรักษ์

ผู้เขียน: กฤษณา พาลีรักษ์

คิดว่าการอ่านวรรณกรรมทำให้ชอบตั้งคำถามว่า เราเกิดมาทำไม และจะมีชีวิตที่ดีและมีคุณค่าได้อย่างไร เมื่อพบว่าตัวเองเป็นคนล้มเหลวทางโลกทุกอย่าง ความทุกข์ลึกๆ จึงผลักดันให้มาค้นหาความหมายและความสุขบนสายทางนักบวช