ทางดีไม่มีคนเดิน

สมเกียรติ มีธรรม 5 สิงหาคม 2007

ใครที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านห่างไกลและทุรกันดาร แม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็คงเข้าใจได้ว่าการเดินทางไปไหนมาไหนสะดวกสบายหรือไม่ ยิ่งย้อนรอยไปไกลถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือรุ่นของคุณปู่คุณย่า อย่าว่าแต่หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลอย่างในเวลานี้เลย ที่เดินทางเข้า-ออกลำบาก เอาแค่หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ห่างออกไปจากตัวอำเภอไม่ถึงยี่สิบกิโลเมตร ถนนหนทางย่ำแย่ยิ่งกว่าทางเข้าป่าในเวลานี้เสียอีก ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงถนนหนทางที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้านต่างๆ ไปจนถึงทางเท้าที่ชาวบ้านใช้เดินเข้าไปในป่าและเรือกสวนไร่นา หรือว่าทางเกวียนที่ชาวบ้านใช้ขนผลิตผลการเกษตรกลับมาเก็บไว้ที่บ้าน พูดได้ว่ายากกว่าสนามแข่งขันออฟโรดเสียอีก

สภาพของถนนหนทางที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางเช่นนี้ ชาวบ้านจึงไม่มีทางเลือกใดดีไปกว่าการเดินเท้า และไม่มีทางเลือกใดที่ดีไปกว่าการใช้เกวียนเป็นพาหนะในการเดินทางและขนส่งสินค้าต่างๆ อีกแล้ว  การเดินทางเช่นนี้ แม้จะมีความล่าช้าถ้าเปรียบเทียบกับการเดินทางด้วยรถราในปัจจุบัน แต่ก็มีความสนุกสนานปะปนกันไปในระหว่างเดินทาง ยิ่งเดินเท้ากับคนหมู่มากและคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ก็ยิ่งได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ที่พรั่งพรูออกมาจากคนโน้นทีคนนี้ที ตลอดเส้นทางที่เดินไปจนกระทั่งถึงที่หมาย

การเดินเท้าไปไหนต่อไหนกับคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านบ่อยๆ นี้เอง เป็นที่มาของวลีหนึ่ง ซึ่งประทับอยู่ในความทรงจำของผู้เขียนมายาวนาน แม้ในขณะนั้นผู้เฒ่าหลายคนจะเล่าเรื่องราวต่างๆ มากมายหลายอย่างให้ฟัง แต่ก็ไม่ชวนให้สงสัยและจดจำเท่ากับคำพูดที่ว่า “อีกหน่อย ถ้าทางที่เราเดินนี้ดี ก็จะไม่มีคนเดินอย่างทุกวันนี้อีกแล้ว” ในขณะนั้น ผู้เขียนไม่ได้ย้อนถามกลับไปว่าเพราะอะไร แต่ก็คิดอยู่ในใจว่า ทางดีจะไม่มีคนเดินได้อย่างไร ก็ในเมื่อทางไม่ดีอย่างที่เป็นอยู่นี้ยังมีคนเดินเลย  ต่อเมื่อเวลาผ่านไปจนกระทั่งเติบใหญ่ หวนระลึกถึงคำพูดของพ่อเฒ่าขึ้นมาเมื่อใด ก็รู้สึกว่า พ่อเฒ่าได้ให้ปริศนาธรรมมาขบคิดและหาคำตอบกันเอาเอง

“ทางดีไม่มีคนเดิน” นั้น เข้าใจว่า คงจะไม่ใช่ถนนหนทางที่ใช้เดินกันเพียงอย่างเดียว พื้นที่ทางนามธรรมที่เป็นช่องทาง หรือเป็นโอกาสให้เราได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เป็น “ทาง” ในความหมายหนึ่งอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำความดีหรือความชั่วก็ตาม

“ทาง” ในความหมายแรก อันหมายถึง “ถนนหนทาง” นั้น ในวันนี้ก็ต้องยอมรับกันว่าเป็นจริงแล้ว เพราะถนนหนทางที่ลาดยางหรือเทคอนกรีตอย่างดี เชื่อมโยงกันไปทุกที่ทุกแห่งนั้น เต็มไปด้วยรถราที่วิ่งกันไปมาจนหาทางเดินเท้าไม่ได้  ส่วน “ทาง” อันหมายถึง “มรรค” ที่เป็นโอกาสให้เราได้ทำความดี ที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตตามนัยพระพุทธศาสนานั้น ยิ่งนับวันก็ยิ่งหาคนเดินน้อยลงทุกที แม้แต่ในหมู่ภิกษุเองก็ตาม ยังเดินผิดทางกันเป็นจำนวนมาก

โดยนัยนี้ “ทางดีไม่มีคนเดิน” ที่คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนพูดไว้ จึงเสมือนหนึ่งคำทำนายที่ไม่ได้ตอบคำถามว่า ทำไมทางดีไม่มีคนเดิน หรือมี ก็มีน้อยลงทุกทีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทาง” ที่ส่งเสริมกุศลธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

“อีกหน่อย ถ้าทางที่เราเดินนี้ดี ก็จะไม่มีคนเดินอย่างทุกวันนี้อีกแล้ว”

ในประเด็นคำถามที่ผู้เฒ่าให้เราค้นหาคำตอบเองนี้ หลายคนก็คงมีเหตุผลต่างๆ นานาที่จะยกขึ้นมาตอบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการรับรู้แห่งกายและจิตของเราเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ความเห็นแตกต่างกันออกไป  แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ความเห็นที่แตกต่างจะนำมาสู่ความขัดแย้งจนเกิดความแตกแยกเสมอไป  ในทางตรงกันข้าม ความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย กลับทำให้เราเปิดมุมมองใหม่ๆ และได้เรียนรู้กว้างขึ้นไปอีกว่า เพราะเหตุใด คนคนหนึ่งจึงตัดสินใจเลือกเดินทางอย่างที่ตนคิดตนเชื่อ

ในพระพุทธศาสนานั้น ยอมรับและเคารพความแตกต่างทางความคิดความเชื่อของผู้คนและสังคมมาทุกยุคสมัย พระพุทธองค์ไม่ได้บังคับขู่เข็ญใครให้เดินทางอย่างที่พระองค์ทรงดำเนินมา หรือว่าบังคับขู่เข็ญใครให้สึกออกไปจากความเป็นสมณะ  พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ทรงทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ชี้ทางให้เราเดินเท่านั้น ว่าทางที่พระองค์เดินเป็นอย่างไร เดินกันอย่างไร และจุดมุ่งหมายคืออะไร ส่วนใครจะเดินหรือไม่ ก็ให้เป็นเรื่องของคนคนนั้นตัดสินใจเอาเอง

ในหลายๆ พระสูตร เราได้เห็นการทำหน้าที่ของพระพุทธองค์ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้ชี้ทางแก่ผู้คนมากมาย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จบ้าง ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง  ที่ประสบความสำเร็จ บางท่านเมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา แต่ไม่สามารถบรรลุมรรคผลตามที่ตนพึงหวังก็ลาสิกขาออกไปก็มี  ส่วนที่ไม่ประสบความสำเร็จ พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ติดใจอะไร แม้จะเสียเวลาไปกับการตอบคำถามมากมายให้กับคนคนนั้นจนหายสงสัย ต่อเมื่อไม่ต้องการเดินทางที่พระองค์ทรงชี้ให้ ก็ทรงวางอุเบกขาเสีย  ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น หลายต่อหลายครั้ง พระองค์ยังถูกท้าทาย ถูกต่อว่า และถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา แต่พระพุทธองค์ก็ทรงมีเมตตาอย่างยิ่งกับบุคคลเหล่านั้น

วิธีการหนึ่งในหลายๆ วิธี ที่พระพุทธองค์ใช้กระตุ้นให้เราพิจารณาด้วยปัญญาของตน ก่อนจะเลือกเดินทางใดหรือไม่เดินทางใด หรือก่อนจะใช้จะเสพอะไรนั้น ก็คือ การพิจารณาหาประโยชน์แก่นสารและความจำเป็นสูงสุดของวัตถุสิ่งของหรือความคิดความเชื่อนั้นๆ ด้วยการแยกแยะหาแก่นและกระพี้  ต่อเมื่อเห็นตลอดสายว่า แก่นและกระพี้ของสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นอย่างไร เราจะเลือกเดินทางใดก็ไม่มีใครบังคับ ดังตัวอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏในโสณทัณฑสูตร

โสณทัณฑะ เป็นชื่อพราหมณ์ท่านหนึ่ง ซึ่งเย่อหยิ่งทะนงตนในความเป็นพราหมณ์ อีกทั้งยังครองตนอยู่ในลาภยศสรรเสริญที่ได้จากพระราชาและชาวบ้าน  ต่อเมื่อพระพุทธองค์กระตุ้นให้พิจารณาด้วยตนเองว่า คุณสมบัติที่แท้ของความเป็นพราหมณ์คืออะไร โดยไล่เรียงไปตามลำดับ แล้วตัดออกไปทีละข้อๆ จากชาติกำเนิด การศึกษา รูปงาม จนเหลือแต่ศีลและปัญญา ซึ่งไม่อาจจะตัดข้อหนึ่งข้อใดออกไปได้ เนื่องจากทั้งสองอย่างนี้ต้องอาศัยกันและกันฯ

ต่อเมื่อโสณทัณฑะเห็นชัดว่า อะไรคือแก่นสาร อะไรคือกระพี้ พระพุทธองค์ก็ชี้ให้เห็นต่อไปอีกว่า ทางที่พระองค์เดินเป็นอย่างไรและนำไปสู่ตรงไหน  แต่โสณทัณฑพราหมณ์ แม้จะเห็นดีเห็นงามไปกับพระพุทธองค์ทุกประการ จนไม่มีคำถามและข้อโต้แย้งใดๆ แต่ก็ไม่ประสงค์เดินทางที่พระองค์ทรงชี้ให้ เนื่องจากเห็นว่าลาภยศสรรเสริญสำคัญกว่าสิ่งใด จึงขอเดินตามทางของตนต่อไป  มิหนำซ้ำยังกราบทูลให้พระพุทธองค์ทราบอีกว่า ตนจะขอทำความเคารพพระพุทธองค์ในท่ามกลางคนหมู่มากด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การกราบไหว้ เนื่องจากจะทำให้ชาวบ้านเสื่อมศรัทธาตนอีกด้วย

พิจารณาหาประโยชน์แก่นสารและความจำเป็นสูงสุดของวัตถุสิ่งของหรือความคิดความเชื่อนั้นๆ ด้วยการแยกแยะหา ‘แก่น’ ออกจาก ‘กระพี้’

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นตัวตนของคนจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน ทั้งที่เดินทางและกำลังเดินทางอย่างโสณทัณฑพราหมณ์ โดยเห็นลาภยศสรรเสริญเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิต จนลืมคิดไปว่ายังมีความสุขอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่ต้องอาศัยอามิส หรืออาศัยอามิสแต่น้อยในการยังชีพแห่งตน

บุคคลที่เลือกเดินทางเช่นนี้ ขณะที่มีชีวิตอยู่ก็จะตะเกียกตะกายหาเงินหาทองให้ได้มากๆ โดยคิดว่าปั้นปลายชีวิตจะได้สุขสบาย แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึง  ส่วนคนที่ไปถึง ก็รู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าไร้จุดหมาย จนต้องใช้เงินซื้อหาความสุขทางใจในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต ซึ่งก็เดินทางผิดอีกเช่นกัน

ด้วยเหตุดังนั้น ถ้าเราไม่ต้องการเดินทางตามโสณทัณฑพราหมณ์ หรือเดินตามโสณทัณฑพราหมณ์ แต่กอปรไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” อยู่เต็มหัวใจ คล้ายกับอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ควรใช้วิถีแห่งปัญญาในการพิจารณาแยกแยะให้ตลอดสาย มีกัลยาณมิตร และมีศรัทธาอย่างยิ่งยวดที่จะค้นหาแก่นและกระพี้  ก็เชื่อแน่ว่า เราจะไม่เดินหลงทางอีกต่อไป ทางดีที่ไม่มีคนเดิน หรือมีคนเดินกันน้อย ก็จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นไปเรื่อยๆ


ภาพประกอบ