เวลาที่เราคุยกัน หลายคนมักไม่ค่อยได้ฟังว่าคู่สนทนาของเราพูดอะไร เพราะต่างคนต่างก็อยากพูดเรื่องที่ตัวเองอยากพูด แต่ถ้าหากเรื่องที่พูดคุยกันเป็นเรื่องสำคัญหรือเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ การฟังอย่างมีสติ คือการฟังอย่างตั้งใจและมีสติอยู่กับคู่สนทนาจะทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวของคู่สนทนาได้อย่างเข้าใจยิ่งขึ้น
ลองเทคนิค 5 ข้อ ต่อไปนี้ จะช่วยให้เราฟังอย่างมีสติและอยู่กับผู้พูดได้ตลอดการสนทนา
1. ฟังเรื่องราวที่อยู่ระหว่างคำพูด เมื่อคุณอยู่ในระหว่างการสนทนาให้ปรับใจอยู่กับปัจจุบัน พร้อมและรับฟังด้วยความกรุณา คุณสามารถนำพาตัวเองให้อยู่ในช่วงเวลาของการสนทนานี้ด้วยการหายใจลึก 2-3 ครั้ง และถามตัวเองว่า มีเรื่องอะไรที่ผู้พูดบอกมากไปกว่าคำพูดของเขา คุณสัมผัสรับรู้เรื่องราวอะไรได้บ้าง
2. ใช้ภาษาท่าทางที่บอกว่าคุณยังฟังเขาอยู่ เมื่อมีคนกำลังพูดขอให้คุณฟังและปล่อยวางความคิด ความต้องการและความคาดหวังต่างๆ ในการสนทนาลง พยายามอยู่กับคู่สนทนาอย่างสงบและตื่นตัว ให้ใช้ภาษากายอย่างเช่นการพยักหน้าหรือยิ้ม เพื่อให้คู่สนทนารู้ว่าคุณกำลังฟังเขาอยู่
3. คอยสังเกตใจตัวเองว่ายังอยู่กับการสนทนาหรือเปล่า เช่นเดียวกับเวลาที่คุณกำลังเจริญสติอยู่กับลมหายใจคุณก็อาจจะเผลอใจหลุดลอยไปได้ ให้ปล่อยวางความคิดและกลับมาตั้งใจฟังเรื่องที่คู่สนทนากำลังพูดอยู่
4. สำรวจความรู้สึกจากร่างกายของตัวเอง การกลับมาอยู่กับร่างกายของเราจะทำให้เรารับรู้ประสบการณ์ตรงในขณะที่เรากำลังรับฟัง คุณอาจรู้สึกแน่นหน้าอก ไม่สบายในท้อง หรือรู้สึกโล่งเบาและสัมผัสได้ถึงความสุขสนุกสนาน ให้สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อเรื่องที่เรารับฟัง
5. ตอบสนองคู่สนทนาอย่างสนใจใคร่รู้ เมื่อคุณตั้งใจฟังอย่างเงียบๆ ลองพูดบางอย่างที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อต่อผู้พูด หรือคุณอาจถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้น อาจลองถามด้วยคำถามเช่น “ฟังดูไม่ง่ายเลยนะ แล้วเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น” สิ่งสำคัญคือให้ความสำคัญต่อผู้พูดและไม่เปลี่ยนประเด็นมาพูดเรื่องของเราแทน