เส้นทางชีวิตในทัศนะท่านอาจารย์พุทธทาส

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 15 ธันวาคม 2006

จากเด็กเล็กเล่าเรียน เขียนอ่าน เรียนรู้และเติบโตตามวัยจนเป็นผู้ใหญ่  ทำกิจการงาน มีครอบครัว เลี้ยงดูลูกหลาน  กระทั่งแก่ชราเข้าสู่วัยไม้ใกล้ฝั่ง และท้ายที่สุดก็ละวางสังขารและลาจากโลกนี้ไป  นี่คือท่วงทำนองเส้นทางชีวิตของคนส่วนใหญ่  ความแตกต่างอยู่ที่รายละเอียดของเส้นทางชีวิตว่า เขาหรือเธอนั้น เติบโตอย่างไร ประกอบอาชีพอะไร และดำรงชีวิตอย่างไร

แต่ละคนจักสามารถเดินทางไปบนเส้นทางชีวิตได้ไกลแค่ไหน นอกเหนือจากปัจจัยเส้นทางตามอายุขัย ปัจจัยสำคัญอื่น คือ เขาหรือเธอใช้ชีวิตและโอกาสที่มีอยู่อย่างไร และเพื่ออะไร  คำถาม อะไร และอย่างไร ย่อมบ่งบอกถึงคุณค่าบางอย่างที่เราในฐานะมนุษย์น่าที่จะบรรลุถึง แน่นอนระบบคุณค่าย่อมแตกต่างไปตามวัฒนธรรมและค่านิยมของแต่ละสังคม

ระบบคุณค่าสำคัญของคนส่วนใหญ่ คือ การมุ่งบรรลุความสำเร็จทางโลก ชื่อเสียง เงินทอง ทรัพย์สิน ฐานะ ตำแหน่ง  ขณะที่อีกด้านซึ่งไม่มากคนนักจะให้ความสำคัญ คือ การมุ่งให้ชีวิตมีความสุขและสงบเย็น  ใช่หรือไม่ว่า หลายครั้งที่เราเครียดจากชีวิตประจำวัน มีความทุกข์จากความผิดหวัง เศร้า เสียใจ หรือรุ่มร้อนด้วยความโกรธ เกลียด กลัว  ลึกๆ โดยสัญชาตญาณ เราต้องการดับทุกข์ในใจ เยียวยาความเครียดที่รุมเร้า

ทางออกของหลายคน คือ การหลบหนีจากความจริง จากความทุกข์ที่รุมเร้าในขณะนั้น  เริ่มต้นง่ายๆ จากการหาสิ่งบันเทิง ตั้งแต่โทษภัยน้อย เช่น การหาความเพลิดเพลินกับการกิน การท่องเที่ยว จนถึงสิ่งบันเทิงที่โทษภัยมาก เช่น อบายมุขต่างๆ การดื่มสุรา ยาเสพติด การพนัน เพศรส  รสชาติความตื่นเต้น ความสนุกสนานชั่วครั้งคราว เสมือนยาแก้ปวดที่ทำให้ความทุกข์รุมเร้าลดทอน หรือหายไป  เมื่อรู้สึกว่าสบายกาย สบายใจขึ้น ก็กลับไปหาความเครียดนั้นใหม่  ในอีกแง่ ความเคยชินจนชาด้านก็ทำให้เราอยู่กับความเครียด ความทุกข์นั้นได้  อาจจะด้วยการเก็บกด การหาทางระบายออกอื่นๆ

นิมิตดี คือ ภายใต้รากฐานวัฒนธรรมพุทธศาสนา ทางออกทางหนึ่งของบางคน คือ การพึ่งพิงธรรมะ การปฏิบัติธรรม อันหมายถึงการนำธรรมะมาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต  ความเข้าใจผิดของสังคมส่วนใหญ่ ก็คือ การมองว่าเส้นทางชีวิตเพื่อไปสู่ความสำเร็จทางโลก จำเป็นต้องหันหลังให้กับการปฏิบัติธรรม เราในฐานะมนุษย์ปุถุชนมีหน้าที่มุ่งความสำเร็จทางโลก ส่วนความสำเร็จทางธรรมก็เป็นหน้าที่ของพระ ฆราวาสไม่เกี่ยว

ความเข้าใจผิดนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสได้อธิบายในเรื่องนี้ว่า

“อย่าเข้าใจว่ามีหลายอย่าง หลายทิศทาง เป็นเรื่องโลก เป็นเรื่องธรรม เดินหันหลังให้กัน  อย่างนั้นมันไม่ถูก มันยิ่งโง่ใหญ่ไปอีก   เรื่องโลกก็เดินไปทางนี้แหละ  เรื่องธรรมก็เดินไปทางนี้แหละ  เรื่องโลกิยะก็เดินไปทางนี้ เรื่องโลกุตตระมันปลายทางเท่านั้นเอง มันสุดปลายทาง อย่าไปเข้าใจผิดว่าอันหนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อันหนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก  เอาดีกันคนละอย่าง  อย่างนี้  นั้นไม่จริงเลย  ไม่ถูกต้องตามหลักของพุทธศาสนาซึ่งสอนไว้ เรื่องทางที่จะต้องไป มีทางเดียวสำหรับคนเดียว  ไปยังจุดหมายปลายทางเพียงอย่างเดียว  มันจึงต่างกันอยู่แต่ว่าใครอยู่ต้นทางเกินไป หรือว่าใครยังไม่เคยเข้าทางเสียเลย  ยังไม่ได้เหยียบย่างลงไปในทางเสียเลย  มันก็เต็มทีมาก ”

“เดินทางถูกแน่วไปเลยนี้ไม่มีเสียอะไร มันมีแต่ได้ก็คือ สิ่งที่ควรจะได้  ไม่ใช่ได้สำหรับเอามาหลงรัก  ยึดถือเป็นตัวกู – ของกู  หรือมาหล่อเลี้ยงตัวกู-ของกู ให้มันหนาแน่นยิ่งขึ้นไปอีก  อย่างนั้นเรียกว่าเสีย  ที่ได้มาทำให้ตัวเองโง่หลงหนักขึ้นไปอีก นั่นแหละเขาเรียกว่า “เสีย”  ในทางธรรมะ”

(ตัดทอนจากการบรรยายโอวาทนวกะ ในหัวข้อย่อย “ปริญญาจากสวนโมกข์”)

ความหมายหนึ่งของการปฏิบัติธรรม คือ การนำธรรมะมาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ชีวิต คือ สายสัมพันธ์ เราไม่อาจตัดทอนและหั่นแบ่งเรื่องราวการดำเนินชีวิตออกเป็นส่วนเสี้ยว  เมื่อเราดำเนินชีวิตโดยหันหลังให้ธรรมะ เราก็ต้องพบกับความทุกข์ยากที่กัดกินชีวิต เป็นความทุกข์ยากจากการไม่รู้ ไม่เข้าใจและไม่ได้ประโยชน์จากธรรมะ  แต่แน่นอน ในฐานะมนุษย์ปุถุชนที่ต้องดำรงชีวิต และอยู่รอด ความสำเร็จทางโลกก็มีความสำคัญ  ธรรมมะช่วยให้เราบรรลุคุณค่า บรรลุความต้องการทางจิตใจ เช่น คุณค่าทางจิตวิญญาณ คุณค่าของการได้รู้จัก เข้าใจตนเองและแก้ไขความทุกข์ของตนเอง  ความต้องการนี้ไม่อาจบรรลุได้ หากเรายังขาดแคลน และตอบสนองความต้องการทางกายไม่ครบถ้วน รวมถึงความมั่นคง ความปลอดภัย

เราจะก้าวเดินอย่างไร ให้ไปด้วยกันได้ทั้ง ๒ ทาง คือ บรรลุความพอเพียงในความสำเร็จทางโลก และมีพลังชีวิตเหลือและมากพอสำหรับชีวิตเพื่อศึกษา ปฏิบัติธรรม  หัวใจของการเดินทางไปบนเส้นทางชีวิต คือ การก้าวเดินไปบนเส้นทางโลกิยะ โดยไม่หลงผิดว่า เราต้องหันหลังให้เส้นทางโลกุตตระ  แท้จริง มันคือเส้นทางเดียวกันที่เราสามารถเดินทางร่วมกันได้ เพียงแต่ขอให้ธรรมะนำทาง และเป็นแนวการดำเนินชีวิต เพราะชีวิตที่ปฏิบัติธรรม ย่อมมีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มภัย


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน