มาคุยกันเถอะ

วิชิต เปานิล 1 กรกฎาคม 2006

ผมว่าคนไทยเราทุกวันนี้พูดคุยกับคนแปลกหน้าน้อยลงไปมาก และพฤติกรรมนี้ดูเหมือนจะเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายออกไปได้ จากเมืองใหญ่ออกไปสู่ชานเมืองและต่างจังหวัด จากผู้ใหญ่วัยทำงานกระจายออกไปสู่เยาวชนและเด็กๆ

เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา การพูดคุยซักถามคนแปลกหน้าถือเป็นเรื่องปกติธรรมดามากในหมู่คนไทย ไม่ว่าในเมืองหรือต่างจังหวัด แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นเรื่องแปลก เรื่องที่ไม่สมควร หรือแม้กระทั่งมองว่าเป็นเรื่องไร้มารยาทไปได้

ผมจำได้ว่าสมัยเด็กๆ ตอนนั่งรถสองแถวกลับจากโรงเรียน ผู้หลักผู้ใหญ่ที่นั่งรถมาด้วยกันเขาพูดคุยทักทายกันอย่างเป็นกันเอง ทั้งๆ ที่หลายคนไม่ได้เคยรู้จักกันมาก่อนเลย บางคนก็หันมาถามมาคุยกับผมหรือเพื่อนๆ

หลังจากเรียนจบไปทำงานอยู่ต่างจังหวัด บรรยากาศแบบนี้ก็พบเห็นกันได้ทั่วไป ยิ่งถ้าได้นั่งรถหวานเย็นที่วิ่งเอื่อยๆ เข้าหมู่บ้าน ยิ่งเห็นได้ชัดว่าการที่คนไทยเราทักทายพูดคุยกันนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ว่าจะเคยรู้จักกันมาก่อนหรือไม่ก็ตาม

แต่เมื่อกลับมามองสังคมทุกวันนี้ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ทั้งหลาย ผมรู้สึกว่าการที่อยู่ๆ เราจะเอ่ยปากพูดคุยกับใครที่ไม่รู้จักนั้น มันช่างเป็นเรื่องที่ยากเย็นเสียเหลือเกิน

อย่าว่าแต่จะพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไปเลยครับ แม้มีความจำเป็นจะต้องถามเส้นทางหรือถามหาสถานที่แถวๆ นั้น ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่แทนที่จะถามคนที่เดินอยู่แถวนั้น เราจะรู้สึกสบายใจกว่าที่จะเสียเงินโทรศัพท์ไปถามเพื่อน หรือญาติของเรา

บรรยากาศการนั่งรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือแม้แต่รถเก๋งในเมืองทุกวันนี้ ถ้าไม่เชื่อคุณลองสังเกตดูนะครับ หากไม่ก้มหน้าก้มตากระซิบกระซาบกับเพื่อนที่ขึ้นมาด้วยกัน ก็จะนั่งหลับตา หรือทอดตามองอะไรเรื่อยเปื่อยไปนอกหน้าต่าง หรือไม่ก็คุยโทรศัพท์ไปจนถึงจุดหมายปลายทาง

แม้แต่การนั่งแท็กซี่ ที่สมัยก่อนไม่ว่าจะขึ้นคันไหน พอปิดประตูยังไม่ทันขยับนั่งให้เข้าที่เข้าทางเลย คุณโชเฟอร์ก็จะเริ่มเอ่ยปากชวนคุยไปเรื่อยจนถึงปลายทาง สมัยนี้หรือครับขนาดเราเอ่ยปากชวนคุย บางคนยังไม่ค่อยอยากจะพูดกับเราเลย

สังคมเมืองทุกวันนี้ การที่อยู่ๆ เราจะเอ่ยปากพูดคุยกับใครที่ไม่รู้จัก มันช่างเป็นเรื่องที่ยากเย็นเสียเหลือเกิน

เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยของเราหรือครับ อะไรที่ทำให้คนไทยคนเก่าที่ว่าใจดียิ้มง่ายหายไปจากสังคมไทยจนแทบจะไม่เหลือภาพแห่งสยามเมืองยิ้มเอาไว้เลย

ผมไม่เห็นเหตุอื่นใดที่นอกเหนือไปจากว่า นี่คือผลพวงของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยก้าวหน้าแบบฝรั่ง

สภาพสังคมที่คนอยู่กันอย่างเย็นชา แห้งแล้งไร้ความรู้สึก ปฏิบัติต่อกันตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมของประเทศที่เจริญแล้ว

ขณะนี้สภาพเช่นนี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมเมือง จนหลายคนเริ่มคุ้นเคยกับเสียงเจื้อยแจ้วทักทายหวานๆ ที่ออกมาจากปากพนักงานขายในร้านสะดวกซื้อ หรือร้านฟาสต์ฟู้ด ที่พูดออกมาโดยอัตโนมัติเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเปิดประตูร้าน หรือภาพของพนักงานเก็บเงินในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ยกมือไหว้ขอบคุณอย่างขอไปที

ในโลกยุคใหม่ที่ต้องอยู่กันอย่างเร่งรีบแข่งขัน ทำให้เราไม่มีเวลาไปสนใจคนอื่น สภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความหลอกลวงฉ้อฉล ทำให้เราไม่กล้าที่จะเอ่ยปากซักถามหรือตอบโต้สนทนากับใคร  ส่วนวัตถุและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งโทรศัพท์ เครื่องเล่นเพลงพกพา รวมทั้งมีหนังสือดีๆ ที่ออกมาให้อ่านมากมาย ได้เปิดโอกาสให้เรามีขอบเขตและสร้างโลกส่วนตัวหาความสุขอยู่คนเดียวได้โดยไม่ต้องสนใจใครหรือสนใจสิ่งแวดล้อมใดๆ

ความรู้สึกในความเป็นเจ้าของพื้นที่หรือโลกส่วนตัวนี้ ได้ถูกแปลงให้กลายเป็นสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนที่เราต้องให้ความเคารพ  การทำการใดๆ ที่รบกวนพื้นที่ส่วนตัวนี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไร้มารยาท หรือมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้

สถานการณ์เหล่านี้นอกจากจะไม่เอื้อให้คนได้พูดคุยกันแล้ว ยังกำราบไม่ให้เราพูดคุยกับใครสุ่มสี่สุ่มห้าอีกด้วย

แรกๆ ผมรู้สึกไม่เข้าใจ เมื่อเพื่อนต่างชาติคนหนึ่งบอกว่าเขารักนครโฮจิมินห์มาก ถึงขนาดที่ลงทุนลาออกจากงานประจำเพื่อเรียนภาษาเวียดนาม แล้วคิดว่าจะไปลงหลักปักฐานใช้ชีวิตอยู่ที่เวียดนาม

เขาบอกว่าถึงแม้ที่นั่นจะสกปรก หนวกหู วุ่นวาย ไม่เคารพกฎกติกา และก็มีอะไรอีกหลายๆ อย่างที่ดูแล้วด้อยพัฒนา  แต่มีสิ่งหนึ่งที่บ้านเมืองเขาซึ่งถือว่าเป็นเมืองหนึ่งที่สวยและน่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกไม่มี นั่นคือความมี “ชีวิต ชีวา” ของเมืองและผู้คน

ผมว่ายังไม่สายเกินไปหรอกที่เราจะฟื้นฟูวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมเรานี้ให้กลับมาอีกครั้ง ก่อนที่จะกลายเป็นเมืองที่ผู้คนอยู่กันอย่างเย็นชา

ในต่างจังหวัดยิ่งในชนบทด้วยแล้ว ความมีชีวิตชีวาบ้านเมือง ยังพอเห็นได้ไม่ยาก ทั้งในหมู่เด็กเล็กที่วิ่งเล่นกันในบ้านเรือน ไร่นา หรือในกลุ่มคนแก่ที่มาวัดด้วยกัน

เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่ต้องปฏิเสธ แต่ก็ไม่ใช่รับเข้ามาอย่างไม่เลือกไม่คัดไม่ดูถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  ความแยบคายในการพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียของเทคโนโลยีจึงต้องให้ความสำคัญ และเริ่มทำตั้งแต่ระดับปัจเจกคือตัวเราเอง  แล้วออกไปสู่ครอบครัว ชุมชน และสังคมทั้งประเทศ

เราเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้โดยไม่ต้องรอใคร เริ่มต้นที่เราต้องเท่าทันการพัฒนา ลองพึ่งเทคโนโลยีให้น้อยลงสักนิด และพูดกับคนให้มากอีกหน่อย

มาคุยกันเถอะครับ คุยกันเพื่อนำสยามเมืองยิ้มของเรากลับมา… อีกครั้ง


ภาพประกอบ