ชีวิตที่ดี…แตะเบรคเป็นธรรมดา

สวร ฤทัย 22 มีนาคม 2009

มิใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องมุ่งหาความหมายของการมีชีวิตที่ดีเสมอไป บางคนอาจมุ่งหวังแค่มีอาหารอิ่มท้องในแต่ละมื้อ…ให้ได้อย่างนั้นก็ดีมากแล้ว หรือกำลังฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ (แล้วตอนนี้มันเป็นอย่างไร? โปรดตรองดู) และเพียรพยายามเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดหมายอย่างที่หวังไว้  ถึงที่สุดแล้วชีวิตมันดีตามความหมายดังเช่นที่เราอยากให้มันเป็น ใช่ไหม? มันเป็นชีวิตที่ดีในอุดมคติสำหรับคนอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เป็นวัฏจักรเกือบๆ จะสำเร็จรูปรึเปล่า? หรือว่าเป็นคล้ายๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จที่แสนจะง่ายดายเวลาหิว แค่ลวกเส้นปิดฝาชามทิ้งไว้ ๒-๓ นาที เติมเครื่องปรุงที่ติดมาด้วยในห่อก่อนจะ…เอ่อ…กินให้หายอยาก

แต่ว่า…ก่อนจะไปให้ถึงจุดหมาย เพื่อชีวิตที่ดี (กว่า) แบบนั้น หรือแบบใด มาลองพิจารณาดูกันสักหน่อยเป็นไง สมมติว่าตอนนี้ทิวทัศน์แวดล้อมผ่านสายตาเราไปอย่างเร็ว เร็วมาก ประหนึ่งว่ากำลังเดินทางในยานพาหนะชนิดหนึ่งก็แล้วกัน ทีนี้…ขอให้ค่อยๆ ผ่อนคันเร่งลง ถ้าเป็นจักรยานก็ขอให้หยุดถีบบ้าง บางครั้งบางคราว แล้วแตะเบรคเบาๆ บ่อยๆ นั่นล่ะ ใช่ อย่างงั้นล่ะ ทุกสิ่งกำลังเคลื่อนไปอย่างช้าๆ เรื่อยๆ แล้ว…มาดูกันว่า ที่เป็นอยู่ตอนนี้มันต่างจากที่เป็นก่อนหน้าที่จะแตะเบรคยังไงบ้าง? โปรดตอบ

ก. ยังเร็วเหมือนเดิม เฮ่ย…(เบรคแตก! ตายแหงๆ)

ข. เหมือนมันกำลังจะหยุดเลย มันจะหยุดแน่ๆ ถ้า…(ปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้)

ค. รู้สึกเหมือนถูกทิ้ง ตามไม่ทันแล้ว ที่หมายข้างหน้า…(จะมีไว้ทำไมเนี่ย)

ง. ไปช้ากว่าเดิม คราวหน้าถึงจะ…(ออกแต่เช้า)

จ. ไปอย่างสม่ำเสมอ อีกเดี๋ยว…(ก็ถึง)

ฉ. เดี๋ยวก็เร็ว เดี๋ยวก็ช้า…(ขึ้นอยู่กับความสูงต่ำของถนนและการขึ้นลงตามอารมณ์)

ช. ใช่…คงจะเห็นอยู่หรอก ถ้า…(เจอแบบนี้บ่อยๆ)

ซ. ก็แล้วแต่ว่า มัน…(จะบอกอะไร? สำหรับใคร?)

ฌ. จะแตะเบรคไปทำไมกัน ที่เป็นอยู่…(มันก็ดีอยู่แล้ว)

ญ. ขี้เกียจคิด ก็…(ไม่รู้นี่หว่า ไม่มีใครบอก พูดๆ มาเลยน่า)

ตอบยังไงกันบ้าง ข้อไหนที่เราใช้อยู่บ่อยๆ หรือใช้มันจนเคยปาก คือเคยชินจนเป็นอุปนิสัยประจำตัวเราเอง อาจจะไม่มีในข้อตั้งแต่กอไก่จนถึงญอหญิงก็ได้ แต่ขอให้สังเกตดูเถอะว่า มันแสดงถึงความเป็นเราอย่างไร  รู้แล้วจะมีประโยชน์ยังไงน่ะเหรอ จะได้รู้ไงว่า เรามันก็เป็นแบบนี้อยู่เรื่อยเลย เป็นแบบฉบับวงจรชีวิตเฉพาะตัวเรา ซึ่งโดยส่วนมากมันจะไป…จบลงแบบอีหรอบเดิมซะทุกที แบบไหน ลองนึกๆ ดู

จะว่าไปแล้ว ทัศนะคติและท่าทีการตอบ (โต้) ทั้งหลายแหล่นั่น มันก็ไม่ได้ดีเลวไปกว่ากันหรอก แม้ว่าเราอาจจะรู้สึกว่าบางคำตอบมันดูจะเข้าท่ากว่า หรือแสดงความมีปัญญาจากการรู้คิด คิดเป็นมากกว่า  เราอาจสงสัยตัวเองว่า ทำไมเราจึงให้คำตอบเยี่ยมๆ แบบนี้ไม่ได้ หรือไม่มีคำพูดที่ดูฉลาดๆ อย่างนั้นบ้าง แต่ถึงจะมีคำตอบคำพูดที่ดีวิเศษเหลือล้น มันก็ไม่ได้ยืนยันว่า คำตอบที่แสดงความ (เป็นกู) รู้จะทำให้เรารู้จักตัวเองจนบอกได้ว่าเรา “รู้จริง” หรือกระทั่ง “รับได้” กับความเป็นจริงที่เราเป็น (นิสัยเคยตัว) ได้มากกว่าคนอื่นๆ

มิเชล เอเคม เดอ มงแต็ง-เดอเลอครัวซ์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในยุคเรอเนซองซ์ บอกเราว่า “ความรู้ (Knowledge) แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท แบบแรกเป็นความรู้หนังสือ (Learning) รู้ได้จากผู้อื่น  แบบที่สองเป็นความรู้ชีวิตที่หมายถึง ปัญญา (Wisdom) รู้ได้จากประสบการณ์จริงในชีวิตของเราเอง”  ความรู้ประเภทแรกยิ่งเรียนมากศึกษาเยอะก็ยิ่งรู้มากในศาสตร์แขนงต่างๆ แต่มันแทบจะไม่ได้ใช้เลยในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ส่วนแบบที่สองนั้นไม่จำเป็นต้องรู้อะไรมากมายอย่างนั้น เพียงมีสามัญสำนึก รู้ดีชั่ว รู้จักชีวิตและธรรมชาติพื้นฐานให้ดีพอ เราก็สามารถดำเนินชีวิตอยู่รอดปลอดภัยได้แล้ว

ในเรื่องนี้ การใช้ชีวิตอย่างมีความเข้าใจในวิถีชีวิตของตัวเองจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะมันเป็นปัญญาความรู้ในตัวเราที่ส่งผลให้ชีวิตมีความสุข และนั่นคือนิยามความหมายของ “ชีวิตที่ดี” ในแบบของมงแต็ง-เดอเลอครัวซ์  แล้วชีวิตที่ดีในนิยามของเราๆ ท่านๆ เป็นยังไงล่ะ  ในที่นี้บอกได้เพียงว่า คงไม่มีรูปแบบสำเร็จตายตัวในชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน แต่ทุกคนควรจะมีชีวิตที่ดีได้โดยพื้นฐานของการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้ มีเสรีภาพภายใต้ขอบเขตของชีวิตที่มีความสุขตามอัตภาพ และมีความรู้สึกว่าชีวิตที่เป็นอยู่มีคุณค่ามีความหมายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาก็คือ การมีชีวิตอยู่ในระดับพื้นฐานอย่างที่เราทุกคนพึงมีเป็นธรรมดา อยู่อย่างธรรมดา เพราะว่าธรรมดาคือ ความเป็นไปตามเหตุและผล  แน่นอนที่ว่า กว่าจะรู้ซึ้งถึงความเป็นไปในตัวเรา มันต้องอาศัยความรู้ที่มิใช่ความรู้มากในสรรพศาสตร์วิทยา แต่เป็นความรู้เห็นชำนาญการจากประสบการณ์ชีวิต และการรู้จักชีวิตเราเป็นอย่างดี รู้เนื้อรู้ตัวอยู่บ่อยๆ จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงภายนอกกับภายในที่เป็นเหตุเป็นผลกัน  และนี่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตเราจริงๆ ขึ้นมาเมื่อเราเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้ มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ รึ เบรคครั้งนี้ให้ผลแค่ไหน? มีปฏิกิริยาตอบสนองออกมาแบบใด? แล้วเป็นอย่างไรต่อไป

“ชีวิตที่ดี” ไม่มีรูปแบบที่สำเร็จตายตัวสำหรับทุกคน แต่คนทุกคนควรจะมีชีวิตที่ดีได้โดยพื้นฐาน

หากชีวิตรู้จักเบรคตัวเองได้ ข้อดีอย่างแรกสุดคือ มันช่วยหยุดยั้งและกระชากใจเรากลับคืนมาให้รู้ตัวเอง จากนั้นยังช่วยชะลอความเร็วขณะดำเนินชีวิตประจำวันตามความเคยชินในบทบาทหน้าที่อันเร่งรีบอีกด้วย ถ้าอย่างงั้น…ตอนเหยียบเบรคเวลาเห็นไฟแดงมันก็มีส่วนดีอยู่มิใช่น้อยเลย ใช่ไหม? เบรคแต่ละครั้งจึงเป็นเหมือนประกายไฟ (แดง) ให้หยุดชั่วครู่ชั่วยาม ตั้งตัวก่อนจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง  อันที่จริงแล้วมันก็เริ่มได้ทุกทีนะ แต่เคยมีเหมือนกันที่วนเวียนและจมลงไปในสิ่งเก่าๆ ติดค้างใจอยู่นาน เลยต้องมีเบรคเอาไว้แตะๆ ให้หยุดดูกันบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เราจะไปเร็วมากเสียจนต้องเบรคกันปุบปับ

เหมือนนักมวยขณะกำลังรัวหมัดเด็ดไม่มียั้ง พอเสียงสัญญาณระฆังดังขึ้น ผู้คนบนและข้างเวทีดูเหมือนจะหมดแรงกันไปเลย เพราะเรี่ยวแรงเทออกไปหมดแล้วตอนกำลังลุ้นตัวโก่ง พอให้เวลาพักยกจนหายเมาหมัดสักครู่ กำลังก็ฟื้นคืน พร้อมจะออกหมัดชุดใหม่ได้อีกครั้ง  หรือเวลามีการประชุมกันไง ที่มักจะมีอาหารว่างพักเบรค เอาไว้ขัดตาทัพไม่หนักท้องแต่สร้างบรรยากาศผ่อนคลายด้วยการกิน ดื่ม และพูดคุย จะได้ไม่คลุกวงในจนหัวหมุนตาลาย  ดังที่บอกมานี้ ใช่ว่าเราจะต้องหาเบรคติดตัว ไม่จำเป็นเลย เพราะเบรคนั้นมีอยู่กับตัว มีในสิ่งต่างๆ และเรื่องราวแวดล้อมตัวเราอยู่แล้ว เป็นจังหวะของการหยุดและไปต่อ หยุด-ไปต่อ หยุด-ไปต่อนับครั้งไม่ถ้วน หากเป็นอยู่ธรรมดาได้ก็คงเข้าใจชีวิตที่ดีแล้วล่ะว่า…เหตุใดจึงต้องแตะเบรคให้บ่อยๆ


ภาพประกอบ