ทางออกของทางตัน

พระวิชิต ธมฺมชิโต 29 มีนาคม 2009

ทางออกเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในทุกสถานการณ์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทางเข้า หรือจุดเริ่มต้นที่จะเข้าสู่สถานการณ์นั้นๆ ส่วนผลสำเร็จก็เป็นเพียงหนึ่งในทางออกหลายๆ ทางหลังจากเข้าสู่สถานการณ์นั้นแล้ว เพราะหลายครั้งที่เหตุการณ์ในชีวิตไม่ได้จบด้วยความสำเร็จอย่างที่คาดเอาไว้

ควรจะทำยังไงดีคะ ถ้า…” เป็นคำถามหนึ่งที่พระมักได้รับบ่อยๆ จากคนที่ค่อนข้างจะคุ้นเคยกัน เพราะกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ทางออกเริ่มจะไม่เป็นอย่างที่คิดไว้

การมองทางออกหลายๆ ด้านไว้ตั้งแต่แรก โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าสู่สถานการณ์สำคัญของชีวิต เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย แต่ทุกวันนี้เรากลับมองข้ามกันเสมอ

เมื่ออยู่ในวัยเรียน ทางออกเดียวที่เรารวมทั้งพ่อแม่เราเห็นคือ การมุ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้คณะดีๆ แล้วก็มองเลยรวดเดียวไปถึงว่า ถ้าสำเร็จการศึกษาในสาขานั้นมาจะทำงานที่ไหนดี เงินเดือนเท่าไหร่ มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างไร โดยไม่ค่อยได้มองทางออกไว้ก่อนว่า ถ้าสอบไม่ได้จะทำอย่างไร เข้าได้แล้วจะเรียนแข่งกับเพื่อนได้ไหม จะสู้ค่าใช้จ่ายขณะเรียนไหวหรือไม่ หรือถ้าเรียนไม่จบจะทำอย่างไร

ในด้านการงานหรือชีวิตครอบครัวก็เช่นกัน ก่อนที่จะได้เข้าทำงานนั้นๆ เรามักทุ่มกันสุดตัวทุกวิถีทางเพื่อให้ได้งานนั้นมา แต่เมื่อทำงานนั้นได้ไม่เท่าไร หลายคนก็เครียดกับงาน เบื่อหัวหน้า เซ็งเพื่อนร่วมงาน รำคาญลูกน้องและลูกค้าที่แสนจะเรื่องมาก

ณ จุดเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ก็มักไม่มีใครเตรียมทางออกสำหรับสถานการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่จะรุมล้อมกันเข้ามา ไม่ว่าเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว เรื่องภรรยาเจ้าอารมณ์ สามีนอกใจ หรือลูกติดยา ติดเกม และอีกสารพัดที่ไม่เคยคาดว่าจะพบเจอกับตนเอง ทั้งๆ ที่ก็มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

เมื่อไม่ได้เตรียมมองทางออกไว้ พอเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดหมาย หรือพบจุดจบไม่ตรงกับเป้าหมายที่คาด หลายคนจึงอยู่ในภาวะตระหนก สับสน รู้สึกว่าชีวิตเข้าสู่ทางตัน หาทางออกให้ชีวิตไม่ได้ จนนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ลงเอยด้วยการโทษผู้อื่น โทษตัวเอง หรืออาจถึงขั้นคิดสั้นจบชีวิตตนเอง

ทางออก หรือทางหนีทีไล่เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดคิด เป็นสิ่งที่เราควรตระเตรียมให้พร้อม จึงจะถือได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต

หลายคนอาจรู้สึกว่าปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเป็นเรื่องท้าทาย เป็นสีสันของชีวิตที่ต้องมีสุขบ้างทุกข์บ้างให้เรียนรู้ ก็เป็นเรื่องดีที่สามารถมองชีวิตเป็นสถานการณ์แห่งการเรียนรู้ที่ต้องฝ่าฟันไป

แต่คงไม่สนุกแน่หากชีวิตเต็มไปด้วยปัญหาให้แก้ไขอย่างไม่จบสิ้น ที่สำคัญคือ บางปัญหาอาจรุนแรงเลวร้ายจนไม่เปิดโอกาสให้เราแก้ตัวอีกเลย เราพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาแบบนั้นแล้วหรือ

ลองสมมติกับตัวเองดูซิว่า หากผลการตรวจร่างกายออกมาว่าเรากำลังเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ที่มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๓ เดือน หรือว่าการขับรถออกจากบ้านในวันนี้ของเราอาจจะเป็นการจากมาอย่างไม่มีโอกาสได้กลับไปร่ำลาคนที่เรารักอีกเลย

เรามีทางออกต่อเหตุการณ์เหล่านี้แล้วหรือยัง ถ้ายังแล้วหากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ เราจะทำอย่างไร

ทางออกเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะหลายครั้งเหตุการณ์ในชีวิตไม่ได้จบลงด้วยความสำเร็จอย่างที่เราคาดไว้

หลายคนรู้ดีว่าการได้ศึกษาธรรมะ การหาโอกาสไปปฏิบัติธรรมสงบจิตสงบใจ เป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้เริ่มสักที

ซีดีเสียงและหนังสือธรรมะดีๆ ของครูบาอาจารย์หลายท่านก็มีสะสมไว้ไม่น้อย แต่ก็ยังหาโอกาสเหมาะๆ เปิดอ่านหรือฟังไม่ได้

ต่อเมื่อถึงทางตันในชีวิต ไม่ว่าปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัว เมื่อเจ็บป่วยรุนแรง หรือต้องพลัดพรากสูญเสียคนรัก จึงค่อยคิดว่าธรรมะน่าจะเป็นทางออกให้ได้ เสมือนยาวิเศษที่จะขจัดปัดเป่าความทุกข์ความเศร้านั้นให้หายไปได้ในพริบตา

พุทธศาสนาเป็นเรื่องลึกซึ้งละเอียดอ่อน เราคงต้องให้เวลาในการศึกษาและฝึกฝนปฏิบัติพอควร จึงจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทันเวลาและได้รับผลอย่างเต็มที่

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปฏิบัติธรรมมากที่สุด ก็คือช่วงที่ร่างกายเราสมบูรณ์แข็งแรง จิตใจปลอดโปร่ง มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วยทุกข์ทรมานกาย หรือกำลังกลัดกลุ้มเศร้าโศกเสียใจ

แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกิดเจ็บป่วย หรือมีความทุกข์ทางใจขึ้นแล้ว พุทธศาสนาไม่มีทางออกให้เลย พุทธศาสนาให้โอกาส เห็นคุณค่าและความสำคัญของชีวิตมนุษย์เสมอ ไม่เว้นแม้แต่เสี้ยววินาทีสุดท้ายของชีวิต ครั้งพุทธกาลก็มีสาวกหลายรูปที่บรรลุมรรคผลนิพพานในขณะจิตสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต

แต่การรอให้ถึงเวลาคับขันเสียก่อนแล้วค่อยมาศึกษา คงเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไป

ดีกว่าแน่นอน หากเราได้ตระเตรียมทางออกนี้ไว้เนิ่นๆ ตั้งแต่ยังไม่ถึงทางตันของชีวิต ร่างกายจิตใจยังเข้มแข็ง ใครจะรู้ว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายต่างๆ จะเข้ามาในชีวิตเราในรูปแบบไหน และเวลาใด

ถึงเวลาแล้วล่ะ ที่เราจะหยิบหนังสือธรรมะเล่มที่หมายตาไว้ขึ้นมาอ่าน นำซีดีธรรมะดีๆ เหล่านั้นขึ้นมาฟัง พร้อมกับลงมือปฏิบัติธรรมเสียที

เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการลดช่วงเวลาที่เราชอบเหม่อลอย หรือปล่อยใจให้คิดฟุ้งซ่านกับเรื่องในอดีตหรืออนาคตในแต่ละวันลงบ้าง มาฝึกให้มีสติมากขึ้น ซึ่งก็แค่ให้เรารู้ตัวว่าเรากำลังทำกิจการงานปกติที่เราเคยทำอยู่แล้ว ไม่ใช่มือทำอยู่แต่ใจกลับไปฟุ้งคิดเรื่องอื่น

อาจจัดสรรช่วงเวลาสัก ๕-๑๐ นาทีก่อนนอน เพื่อทำใจให้สงบ ระลึกรู้ลมหายใจของเราที่ผ่านเข้าออกให้ต่อเนื่องกันสักพักก่อนที่จะหลับไป

แค่นี้ก็ถือเป็นการเตรียมพร้อมหาทางออกที่ดีๆ ให้กับชีวิต ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยแทบไม่ต้องลงทุนหรือทุ่มเทอะไรมากมาย แต่ปัญหามักอยู่ที่ว่า ถ้าไม่เริ่มตอนนี้ เราก็คงไม่ได้เริ่มอีกเช่นเคย

เอาล่ะ ยุติการคิดหาข้ออ้างให้ตัวเองเสียที  ๑… ๒… ๓… เรามาเริ่มลงมือกันเลยดีกว่า


ภาพประกอบ