ลักษณะของการฟังที่ดี อาจแบ่งออกได้ตามเทคนิคการฟังและท่าทีสำหรับการปฏิบัติตัว หรืออากัปกิริยาสนองตอบเวลาจะรับฟังใคร หรือฟังอย่างไรให้เข้าใจรู้เรื่อง เราใส่ใจต่อเรื่องราวที่ฟัง มีสมาธิในขณะฟัง หลายๆ คนมีความรู้ในเนื้อหาที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ แต่บางคนก็ไม่มีพื้นความรู้พอที่จะเชื่อมโยงให้เข้าใจประเด็นเรื่องราวที่ได้รับรู้มาเอาเสียเลย กล่าวกันโดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะให้ความสำคัญต่อความสามารถในการจับใจความ หรือเนื้อหาสาระของสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะบอก หรือเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟัง อันเป็นส่วนของการเข้าใจความหมายผ่านการคิดนึกจินตนาการ มากกว่าที่จะใส่ใจต่อความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นข้างในใจเราเองขณะฟัง
จากพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะประจักษ์แจ้งต่อความรู้สึกอันสามัญธรรมดา (อาทิเช่น เซ็ง เบื่อ ชอบ ไม่ชอบ รำคาญ หงุดหงิด ยินดี พอใจ ฯลฯ) ภายในใจเราเอง เราเคยชินต่อการรับรู้ในเรื่องราวต่างๆ ภายนอกตัวยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสดใหม่ที่เพิ่งจะได้ยินได้ฟัง หรือว่าในเรื่องที่เราสนใจและกำลังครุ่นคิดถึงอยู่ เราฟังด้วยความอยากรู้เรื่อง คิดตาม หรืออยากเข้าใจเรื่องที่ฟัง ซึ่งนี่จะเรียกว่าเป็นการฟังอย่างลึกซึ้งก็หาไม่ มีเหมือนกันที่ผู้พูดและผู้ฟังบางคนหลงไปกับความอยากแสดงตนว่าฉันรู้หรือว่าฉันเข้าใจเพียงเท่านั้น ทว่ามิได้สนใจใคร่รู้ต่อปรากฏการณ์ทางใจที่กำลังเปลี่ยนแปลงและแสดงความเป็นจริงในตอนนั้นแม้แต่น้อย
หากลองค้นหาคำว่า “การฟัง” ในอินเตอร์เน็ต จะพบว่ามีคนเขียนอธิบายหลักการของการเป็นผู้ฟังที่ดี หรือประโยชน์จากการรู้จักรับฟังผู้อื่นเอาไว้ให้เราอ่านอยู่มากมายหลายเว็บไซต์ แต่ถ้าจะขมวดเอาเฉพาะสาระสำคัญเรื่องพฤติกรรมของจิตใจในขณะที่กำลังฟังมาเป็นเรื่องหลักแล้วล่ะก็ เราสามารถแบ่งพฤติกรรมเวลาฟังออกได้เป็น ๒ ส่วนคือ ๑. การฟังเสียงกระทบทางหู (ฟังแล้วคิดตาม) กับ ๒. การฟังเสียงกระทบทางใจ (จิตใจคิดนึกแล้วรู้สึกตาม) หรือจะรวมเรียกเป็นอันเดียวกันว่า “การฟังเสียงกระทบตามความเป็นจริง” การฟังแล้วคิดตามทำให้เรารู้เรื่อง แล้วจะรู้สึกตามความเป็นไปเช่นนั้นเช่นนี้ ก็ต่อเมื่อใจไปคิดเข้า (ได้ยินเสียงกระซิบภายในใจ) เป็นเพราะว่าความรู้สึกใดๆ ไม่เคยหลบลี้หนีหายไปจากเสียงที่เราได้ยินเลย ไม่ว่ามันจะมาจากทางไหน ข้างนอกหรือข้างในก็ตาม
เมื่อใดที่มีเสียงมากระทบโสตประสาทการฟัง ย่อมมีการรู้ในสิ่งนั้น และมีการแปลสัญญาณผ่านสมองออกมาเป็นรูปธรรมกับนามธรรมตามสมมติของโลก หากแปลได้ตรงกันกับสารที่ส่งมา เราก็จะรู้ความหมายของการได้ยินจากการเทียบเคียงความต่างหรือความเหมือนกันในเวลานั้นนั่นเอง แต่ถ้าไม่ การส่งกับการรับก็จะสื่อความคิด ความเห็น ความเชื่อกันมิได้เลย เราสื่อสารเพื่อให้เข้าใจความหมายได้ถูกต้องตรงกัน รับรู้ความรู้สึกที่เกิดมีขึ้นในใจ และเห็นประโยชน์ที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ แต่ใครบ้างล่ะจะเข้าใจทั้งหมดครบถ้วนทุกกระบวนความ หลังจากรับฟังการสื่อสารทางภาษาที่มีข้อจำกัดมากมาย คงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะแปลความตามภาษาสมมติเหล่านั้น ทั้งนี้เรายังมิได้รวมเอาสาเหตุของความไม่เข้าใจแง่มุมอื่นจากอุปนิสัยความเคยชินของแต่ละคนเข้าไปด้วย
บางทีส่วนความรู้สึกที่เราหลงลืมและละเลยไปนี้นี่เอง ที่ทำให้หลายคนคลาดเคลื่อนไปจากหลักการหนึ่งข้อสำหรับการฟังที่ดี เป็นคำถามคาใจที่ไขได้ยากยิ่ง เช่นว่า “จะฟังอย่างไร ด้วยความรู้สึกเป็นกลางปราศจากอคติ” ทั้งต่อตัวผู้พูดและความคิดเห็นในเวลารับฟัง ถึงแม้ว่าเรายังมีอคติเป็นอารมณ์พื้นฐานในจิตใจจากความรู้สึกชอบ ชัง หลง หรือขลาดเขลา ตลอดจนมีความรู้สึกกลัวก็ตามที แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า เราจะไม่สามารถฟังให้เข้าใจหรือว่าฟังให้รู้ความไม่ได้
ถ้าเช่นนั้น…มาลองเปลี่ยนโจทย์นี้เสียใหม่ เป็นว่า “ฟังอย่างไร ให้ได้ยินเสียงความเข้าใจ” ซึ่งนี่…อาจจะช่วยให้เราเปลี่ยนเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงต่อตัวบุคคลหรือเรื่องราวที่เขาบอกเล่า ไปสู่การรับฟังอย่างผ่อนคลายมากขึ้น ในชีวิตจริงเราผู้ฟังมิได้เพียงเข้าใจความหมายเท่านั้น แต่ยังรับรู้อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเป็นของแถมตามมาด้วย เมื่อใดที่ความสนใจของเรามุ่งตรงมาสู่การรับฟังเสียงภายในใจเช่นนี้ บ่อยครั้งเข้า เมื่อนั้นความรู้สึกที่ปรากฎขึ้นหลังจากการคิดนึกและการเสพอารมณ์กุศลและอกุศลต่างๆ ที่เคยคุ้นก็จะถูกรู้ขึ้นมาผ่านการกระทบใจเราเอง
เหมือนเช่นคนที่รู้จักเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท แล้วมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ยินเสียงวูบไหวตามแรงลม และรับรู้ความมีความเป็นชั่วครั้งชั่วคราว ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ปรากฎการณ์เหล่านี้ได้แสดงตัวของมันเองอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เสียงความเข้าใจที่เราได้ยินได้ฟังนี้ ก็คือเสียงกระซิบจากการยอมรับความเป็นไปของอาการอย่างหนึ่งในจิตใจอย่างซื่อตรง ไม่ปิดกั้น ไม่ตัดสิน หรือให้คุณค่าเฉพาะสิ่งที่เราทึกทักเอาเองว่า “มันเป็นฉัน ของฉัน และนี่…ตัวฉัน”
ความเข้าใจเป็นเรื่องของการซึมซับตัวความรู้ที่เกิดขึ้นเกือบจะพร้อมๆ กันกับความรู้สึกที่กำลังเป็นอยู่ เรามิอาจเข้าใจได้ถ้าเราไม่รู้อาการที่ใจเป็นไปต่างๆ นานา อีกทั้งไม่สามารถเข้าถึงความเป็นจริงได้ หากปราศจากการรับรู้และยอมรับอย่างตรงไปตรงมาต่อความรู้สึกภายในจิตใจเราเอง มันคงเป็นเรื่องแปลกประหลาดมากๆ ถ้าเรารู้สึกไม่เป็น ทั้งๆ ที่มีความรู้สึกเกิดขึ้นอยู่ และคงจะไม่มีอะไรแย่ยิ่งไปกว่าตัวเราเองนี่แหละที่เป็นผู้กระทำให้ตนเองไม่รับรู้ และปฏิเสธความรู้สึกที่กำลังเป็นไปในขณะนั้น หรือกระทั่งไม่ยินยอมเข้าใจเรื่องราวอันใดเลย เนื่องจากเราเบี่ยงเบนความสนใจไปจากเสียงกระซิบของความเป็นจริงที่เข้าใจได้อย่างง่ายดาย ไปสู่การสร้างสิ่งคิดนึกปรุงแต่งอันซับซ้อน
เมื่อใดความสนใจของเรามุ่งตรงมาสู่การรับฟัง ‘เสียงภายในใจ’ บ่อยครั้งเข้า เมื่อนั้นความรู้สึกที่ปรากฎในใจก็จะถูก ‘รู้’ ขึ้นมา
หลายครั้งหลายหนเราพูดคุยกัน เพียงเพื่อจะบอกให้ “รู้” เท่านั้น แต่มิได้ปล่อยให้ผู้ฟังมีอิสระที่จะรู้ตามอย่างที่เป็นอยู่จริง เราพยายามยัดเยียดความรู้คิดกับความเข้าใจที่ผ่านการปรุงแต่งเพิ่มเติม แล้วให้เพื่อน คนรัก พ่อแม่ และญาติพี่น้อง ไม่เว้นแม้กระทั่งจิตใจเราเองก็ยังถูกพันธนาการเอาไว้ด้วยเสียงของการสร้างเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง ทว่าจิตใจกลับมิได้รู้สึกอันใด พฤติกรรมความเคยชินเช่นนี้กลายเป็นปราการปิดกั้นการเข้าถึงความจริงของการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ตลอดจนทำให้ตัวเรารู้สึกห่างเหินแปลกแยกต่อจิตใจตนเอง เพราะเราไม่รู้จักมัน (จิตใจ) อย่างที่มันเป็นจริงๆ
เมื่อเสียงกระซิบมากมายผุดลอยขึ้นมาในใจ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเริ่มต้นเพื่อที่จะรู้ฟังเสียงกระทบตามความเป็นจริง หากสังเกตสักหน่อยจะพบว่า เวลาที่เราได้ยินเสียงสะดุดหูก็จะรู้สึกว่าใจสั่นสะเทือนตามไปด้วย ในเวลานั้นมีใจหนึ่งกระเพื่อมไหวตามความคิดนึกปรุงแต่งอยู่ นี่…คือการรู้ฟังใจแล้วครั้งหนึ่ง จากนั้นก็ปล่อยให้ใจมันดำเนินไปตามเรื่องตามราวของมัน แล้วระลึกรู้ตามอีก รู้เท่าที่จะรู้ได้ รู้ฟังใจอย่างที่มันเป็น ส่วนสำคัญที่สุดของการฟังคือ สำนึกรู้ตัวเวลาฟัง รู้ทันลักษณะอาการกับสภาวะทางอารมณ์ในใจ ไปจนกระทั่งสามารถเข้าถึงธรรมชาติของใจเราอย่างที่มันเป็นอยู่จริงในแต่ละชั่วขณะแห่งเวลา ประจักษ์แจ้งเข้าใจถึงความเป็นไตรลักษณ์ว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง”
เสียงกระซิบในความเป็นจริงปลุกความตื่น
สรรพสำเนียงอื่นใดล้วนลับหาย
เสียงแห่งความคิดคำนึงจักมลาย
ใจหนึ่งจึงผ่อนคลายสงบเย็นแลโปร่งเบา
ชั่วขณะเวลานั้นความเงียบมาเยี่ยมเยือน
มีอิสระเป็นเพื่อน ไสส่งความขลาดเขลา
ความรู้จริงประจักษ์แจ้งในใจเรา
ยอมรับเข้าถึงศานติสุข ขณะจิตรู้ฟังใจ