จากเด็กน้อยขี้อายไม่มั่นใจในตนเอง เซบาสเตียน ตัวละครเอกจากวรรณกรรมเลื่องชื่อ “จินตนาการไม่รู้จบ” กลับกลายเป็นเด็กชายที่ได้พบ “น้ำแห่งชีวิต” เขาได้รู้จัก เข้าใจ ยอมรับและรักได้กับบุคคลที่มีความหมายและความสำคัญที่สุด นั่นคือ ตัวเขาเอง และนั่นก็ทำให้เด็กน้อยคนนี้เรียนรู้ที่จะรักและเข้าใจคนอื่นได้ด้วยเช่นกัน ด้วยการผจญภัยแห่งชีวิต เด็กน้อยคนนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เด็กน้อยเติบโตขึ้นและในเส้นทางนี้ เซบาสเตียนยังสามารถช่วยเหลือให้คนอื่นได้เติบโตด้วยน้ำแห่งชีวิตที่มีอยู่ในตัวเองและคนอื่น
เราทุกคนต่างเคยเป็นและยังคงเป็นเด็กชายเซบาสเตียนได้อยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยกติกาสำคัญคือ ความตระหนักรู้ในตนเอง เพราะชีวิตต้องเดินทาง ทันทีที่เซบาสเตียนเข้าไปในดินแดนแห่งโลกจินตนาการ กฎเกณฑ์ข้อแรกที่ยึดถือ คือ “กระทำในสิ่งที่ใจปรารถนา” และเขาก็พบว่าเขากระทำสิ่งต่างๆ มากมายที่ก่อผลกระทบทั้งที่ปรารถนาและไม่ปรารถนา
ย้อนกลับมองชีวิตของเราเอง ของคนรอบข้าง และเรื่องราวชีวิตผู้คนที่เข้ามาให้รับรู้ ดังเช่น
สมชายทำงานอิสระ ชีวิตชายโสดทำให้สมชายใช้ชีวิตได้ตามใจตนเอง : ศึกษาธรรมะ อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ร่วมกิจกรรมเรียนรู้ชีวิต แต่แล้ววันหนึ่งสมชายก็พบว่าตนเองมีอาการถ่ายเป็นเลือด แพทย์วินิจฉัยว่าสมชายอาจป่วยเป็นมะเร็งในลำไส้ สมชายเครียด วิตกกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป แต่ไม่ว่าจะเครียดมากน้อยหรืออย่างไร นี่คือความจริงที่รออยู่ และนี่คือโอกาสแห่งจุดเริ่มต้นให้ชีวิตของสมชายได้เปลี่ยนไป หรือ สมหญิงมีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น สามีมีการงานที่มั่นคง ซื่อสัตย์และรักเธอ แต่แล้วเธอและสามีก็พบว่า ลูกชายคนที่ ๓ ของเธอมีอาการของโรคออทิสติก สมหญิงบอกกับตนเองว่าเธอจะเข้มแข้งและทำทุกอย่างเพื่อนำพาให้ลูกชายของเธอได้เรียนรู้และมีชีวิตได้อย่างปกติสุขให้ได้มากที่สุด จากนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เธอและสามีได้เริ่มต้นกับชีวิตที่เปลี่ยนไป
แท้จริงยามใดที่เราประสบกับเรื่องราวความทุกข์ นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ดินแดนแห่งการผจญภัย เราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป มีเพียงสติปัญญา ขวัญ กำลังใจ และแรงกายที่จะฝ่าข้ามไปในดินแดนแห่งนี้ เรื่องราวความทุกข์ที่เราทุกคนต่างล้วนมีสิทธิ์ที่จะได้ประสบ เพียงแต่เมื่อใดเท่านั้นเอง : ผิดหวังในความรัก ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย สูญเสียบุคคลที่รัก ฯลฯ ความทุกข์เป็นแรงเหวี่ยงให้เราต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง เพื่อไปให้พ้นจากสภาพที่ไม่พึงปรารถนานี้ นี่เองความทุกข์จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สามารถนำพาชีวิตไปได้ทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลาย
ยามที่เมื่อเรื่องใดๆ เข้ามาในชีวิต ปฏิกิริยาตัวตนในตัวเราที่ทำงานทันทีคือ “กูสุข กูทุกข์” แล้วเราก็ตอบโต้ออกมาตามประสบการณ์สุข ทุกข์ในใจเรา : หัวเราะ ร้องไห้ ดีใจ เสียใจ ทำลาย สร้างสรรค์ ซึมเศร้า ฯลฯ ย้อนคิดทบทวนจากฉากชีวิตของเราเอง บ่อยครั้งโดยไม่ทันยั้งคิดหรือตั้งสติคิดนึกตรึกตรอง เรามักโต้ตอบปฎิสัมพันธ์กับเรื่องราวรอบตัวโดยใช้ความเคยชิน ใช้บุคลิกภาพท่าทีที่คุ้นเคยจนเป็นท่าทีปกติของตัวเรา ขณะเดียวกันหากสังเกตให้ดีและลึกซึ้ง บ่อยครั้งเราก็จะพบตัวตนภายในที่มีความเมตตา กรุณา ความเข้มแข้ง ความรัก ฯลฯ จิตใจเราเป็นเช่นนี้เอง จิตใจที่ประกอบด้วยความเป็น “หมาป่า” และความเป็น “นักปราชญ์”
หมาป่า เป็นภาคหนึ่งในจิตใจของเราที่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ในความมีและความเป็น หมาป่าคิดและเชื่อว่าตนเองมีบทบาทหน้าที่สำคัญ และจำเป็นต่อการปกป้องและรักษาตัวตนภายใน บ่อยครั้งเราเสียใจ ผิดหวัง ลิงโลด แช่มชื่น ทุกข์ตรม เบิกบาน ฯลฯ อารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้นได้มากมายและซับซ้อน อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเหมือนลมหายใจของหมาป่าที่มีได้อยู่ตลอดเวลา แปรเปลี่ยนสีสันอารมณ์ไปตามสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบตัวเรา หมาป่ารับรู้สิ่งต่างๆ ที่เข้ามาพร้อมที่จะตัดสิน “อันนี้ผิด นั่นถูก อันโน้นใช่แล้ว อันนี่ชุ่ย แย่มาก” หมาป่าพร้อมที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ประเมิน ขณะเดียวกันหมาป่าเรียนรู้ที่จะจดจำภาพลักษณ์บางอย่างของตนเอง : ฉันดี เก่ง ฉันไม่เก่ง ฉันแย่ ฉันต้องยอม ฉันต้องสนุก ฉันเป็นคนน่ารัก ฯลฯ และจากภาพลักษณ์ที่หมาป่ายึดถือ หมาป่าพร้อมที่จะประมวลท่าทีวิธีคิด ความเชื่อ ท่วงทำนองของอารมณ์ให้ไปในทางเดียวกับภาพลักษณ์ที่ยึดถือ
หมาป่าในตัวเรายังพร้อมที่จะเรียนรู้ว่าในการปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัว ด้วยการคาดหวังบางสิ่งจากผู้คนที่ใกล้ชิด จากสภาพที่อยู่แวดล้อม หมาป่าเชื่อและบอกกับตนเองว่า “เราจะมีความสุข ถ้าคนรักใส่ใจฉัน” “ชีวิตเราอยู่ไม่ได้ ถ้าเราล้มเหลวในเรื่องนี้” “ฉันรับไม่ได้ ถ้าต้องเจอเรื่องแบบนี้” ฯลฯ ยามเมื่อเราคาดหวังสิ่งต่างๆ จากผู้อื่น ชีวิตของเราก็ถูกผูดติดกับการกระทำของคนอื่น หมาป่าในตัวเราจึงต้องทำงานตลอดเวลา ดิ้นรน กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หดหู่ เศร้าหมองเมื่อพบความผิดหวัง หัวเราะร่ายามเมื่อสมหวัง หมาป่าทำให้ชีวิตของเราถูกกัดข่วนตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี บางช่วงเวลาที่หมาป่าไม่ออกอาละวาด อาจเนื่องด้วยหมาป่าเหน็ดเหนื่อย บาดเจ็บจากบาดแผลชีวิต จนหมาป่าต้องกลับมาทบทวนและเรียนรู้ชีวิต หรืออาจเพราะตัวเราเรียนรู้ที่จะล่ามโซ่ ปลอบประโลมให้หมาป่าสงบเย็นลง จิตใจด้านที่เป็น “นักปราชญ์” ในตัวเรา คือ ความสงบสุข ทรงภูมิปัญญา เมตตากรุณา และความรักกับทุกชีวิตก็อาจได้แสดงตัวออกมา นักปราชญ์เป็นความบริสุทธิ์ พร้อมด้วยบารมีและคุณธรรมในตนเอง นักปราชญ์ทำให้เราพบคุณค่าอันเป็นอัญมณีในตัวเราว่าความทุกข์ที่เราประสบและทุกข์ทรมานนั้น แท้จริงซุกซ่อนบทเรียนและประสบการณ์ให้เราได้กลับมาตระหนักถึงความสุขที่แท้ในตัวเรา ความสุขและความมีคุณค่าที่ท่านอาจารย์พุทธทาสมักกล่าวถึงบ่อยๆ “เป็นประโยชน์และสงบเย็น” นักปราชญ์ คือ จิตใจที่ส่งสัญญาณนำทางชีวิตของเราให้เข้าถึงชีวิตที่มีคุณสมบัติ สมรรถภาพ และความสามารถเช่นนี้
ยามใดที่เราประสบกับเรื่องราวความทุกข์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ดินแดนแห่งการผจญภัย
“สุดแต่ใจจะไขว่คว้า” จะเป็นอย่างไร จิตใจเช่นใดที่เป็นหมาป่าหรือนักปราชญ์ ข่าวร้าย คือ น่าเสียดายที่ไม่มีคำตอบชัดเจนได้ ข่าวดี คือ เรารู้คำตอบนี้ได้ด้วยตนเอง เพียงแต่ต้องเฝ้าดู นิ่งฟังเสียงภายในของตนเองทั้งจิต (ปัญญา) ใจ (ความรู้สึก) และร่างกายด้วยความสงบพอสมควร เรารู้แต่เพียงผลลัพธ์ว่าถ้าเราทำตามใจที่เป็นหมาป่า เราต้องจ่ายราคาด้วยความทุกข์ แต่ถ้าเราดำเนินชีวิตตามสัญญาณที่แม้ริบหรี่จากนักปราชญ์ สิ่งที่รอคอยไม่ใช่ความสุข แต่คือ การอยู่กับความสงบสุขในจิตใจ แม้ความทุกข์จะล้อมรอบก็ตาม
หมาป่ามีพลังและมักลากจูงเรา กระนั้นนักปราชญ์ก็ไม่เคยหนีห่างจากตัวเรา เราจึงมีทางเลือกเสมอกับชีวิตว่า จะนำทางชีวิตด้วยพลังจากจิตใจแบบใด