เวลาเราฝึกสติ มีหลักง่ายๆ คือ เวลากายเคลื่อนไหว เห็นความเคลื่อนไหวของกาย รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของกาย ก็คือเห็นกายเคลื่อนไหว อะไรที่เห็น สิ่งที่เห็นคือสติ ทีแรกกายเคลื่อนไหว ใจก็รู้ ถ้าใจมีสติหรือใจอยู่กับเนื้อกับตัวก็จะรู้สึกว่ากายเคลื่อไหว ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ ไม่ว่าจะเป็นการยกมือ ไม่ว่าจะเป็นการเดินจงกรม แต่บ่อยครั้งขณะที่กายเคลื่อนไหว ใจเผลอไปคิดนั่นคิดนี่ ใจฟุ้งซ่าน เป็นธรรมชาติของคนเราที่ใจมักจะคิดฟุ้งซ่านต่างๆ จนบางทีคิดเรี่ยราด ก็ไม่เป็นไรเป็นธรรมดาของปุถุชน แต่สำหรับผู้ที่เจริญสติเมื่อใจเผลอคิดไปไหลไปอดีต ลอยไปอนาคตก็รู้ นี่เรียกว่าเห็นใจคิดนึก
การเจริญสติมีหลักง่ายๆ 2 ประการคือ รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก หรือว่าเห็นกายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก ไม่ว่าจะเห็นหรือรู้ก็คือเห็นด้วยสติ รู้ด้วยสติ สติเปรียบเสมือนตาใน นี่ก็เป็นหลักคิดในการเจริญสติ
ก็คือขณะที่เราเดิน ขณะที่เรายกมือสร้างจังหวะ ขณะที่เราตามลมหายใจ หรือว่าขณะที่เราทำอะไรก็ตาม เราใช้กายเคลื่อนไหว ก็รู้กายเคลื่อนไหว รู้กายเคลื่อนไหวเพราะใจอยู่กับเนื้อกับตัว กายทำอะไรใจก็จะรู้สึก แต่บางครั้งก็เผลอคิดไป ตอนนั้นใจไม่ได้อยู่กับกาย ใจไม่รับรู้แล้วว่ากายทำอะไร แต่ถ้าเรามีสติเราก็จะเห็นอาการของใจว่าลอยไปแล้ว
สติจะเป็นตัวพาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว การที่สติพาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เพราะสติเห็นความคิดนึกเกิดขึ้น รวมทั้งอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วย อารมณ์เกิดขึ้น สติก็รู้ก็ดึงจิตออกจากอารมณ์นั้นออกมาอยู่กับกาย ก็จะเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม นี่เรียกว่าเป็นเพราะเห็นกายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก ถ้าเราจับหลักตรงนี้ได้ การเจริญสติของเราก็จะไม่พลาด ก็จะเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่ว่ากายเคลื่อนไหวอะไร ทำอะไร ก็ขอให้รู้ว่ากายเคลื่อนไหว ไม่ว่าใจคิดนึกอะไรจะยินดียินร้าย จะดีใจเสียใจ ก็ไม่เป็นไร ขอให้รู้ และเพียงแค่รู้สติก็จะมีกำลัง และสติก็จะพาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว
– พระไพศาล วิสาโล –