จับพายุมาคุมกำเนิด

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 18 สิงหาคม 2001

ในช่วงที่บ้านเรากำลังถกเถียงกันด้วยเรื่องของการเลี้ยงกุ้งกู้ชาติด้วย “ระบบปิด” คือระบบที่อยู่ในความดูแลและจัดการของมนุษย์มิให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ  ในสหรัฐอเมริกาก็มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งประกาศว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ มนุษย์จะสามารถควบคุมพายุร้ายทั้งหลายได้  โดยการใช้สารเคมีที่กำลังค้นคว้าวิจัยและมีแววว่าจะค้นพบแล้ว โปรยเข้าไปหมู่เมฆที่มีทีท่าจะก่อตัวเป็นพายุร้าย แล้วพายุที่ตั้งเค้าก็จะสลายตัว เฮอริเคนที่ขยันถล่มอเมริกาได้ทุกปีก็จะถึงเวลาสิ้นชื่อ  ข่าวบอกว่า ต่อไปกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่ว่ากีฬา คอนเสิร์ต พาเหรด ฯลฯ จะไม่ต้องกลัวฟ้าฝนอีกต่อไป เพราะมนุษย์กำลังจะเป็นผู้คุมกำเนิดชะตาฟ้าฝน ไม่ต้องไปบนบานศาลกล่าวเทวดาที่ไหนอีกต่อไป  แต่แน่นอนว่า ค่าบริการคุมกำเนิดพายุฝนนี้ คงแพงกว่าเครื่องเซ่น หัวหมู ไข่ต้ม มาลัยเจ็ดสี ฯลฯ อย่างมิต้องสงสัย

ทั้งสองเรื่องที่กล่าวมา แม้จะต่างเรื่องและสถานที่ แต่ก็สะท้อนวิธีคิดแบบหนึ่งของมนุษย์ในปัจจุบันที่ควรแก่การทบทวนใคร่ครวญไม่น้อย  ได้แก่ ความคิดความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่า มนุษย์สามารถจะควบคุมธรรมชาติให้อยู่ในสภาพ “ระบบปิด” ได้  คือสามารถจะแยกส่วนหรือตัดตอนธรรมชาติมาควบคุมและจัดการทุกอย่างได้ดังที่ใจของเราต้องการอย่างเบ็ดเสร็จและตลอดเวลา เพราะความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งในธรรมชาตินั้น มีสภาพเชื่อมต่อกันอยู่แบบชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถจะถอดเข้าถอดออกส่วนไหน เมื่อใดก็ได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาจัดการและควบคุม  ดังนั้น เราจึงสามารถจะเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้ด้วยการจัดระบบชลประทานเพื่อ “คุมน้ำเค็ม” ให้ดี ไม่ให้ไปก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศที่อยู่แวดล้อม  เช่นเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์อเมริกันคิดว่า พายุร้ายเกิดจากการก่อตัวรวมกันของกลุ่มเมฆ เมื่อควบคุมกลุ่มเมฆได้ก็จะสยบพายุร้ายได้สนิทราบคาบ  โดยมิได้สนใจว่า รากเหง้าของความแปรปรวนในภูมิอากาศโลกนั้น แท้จริงเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ทำลายความสมดุลของระบบนิเวศโดยเฉพาะป่า ซึ่งเป็นปัจจัยควบคุมอุณหภูมิ-ความชื้นที่สำคัญของโลก ดังปรากฏผลการศึกษาย้อนหลังแล้วพบว่าภัยธรรมชาติทั้งหลาย (อุทกภัย วาตภัย ฯลฯ) ที่แต่ละครั้งมีคนตายมากกว่า 20 คนนั้น เพิ่งจะเกิดเพิ่มมากขึ้นแบบหลายเท่าตัวในช่วง 3 ทศวรรษของการพัฒนาสมัยใหม่ที่ผ่านมานี้เอง

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าอย่างน่ามหัศจรรย์ของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งให้ผลทันใจ ทันตา ชัดเจนเป็นรูปธรรม ก็ทำให้คนจำนวนมากเชื่อได้โดยไม่ยาก ว่าเราควบคุมธรรมชาติได้  สามารถตัดตอนความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งให้มาอยู่ใน “ระบบปิด” ที่เราควบคุมได้อย่างไม่ผิดพลาด ตราบเท่าที่มนุษย์จัดการให้ตรงตามแบบที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนดไว้ เหมือนที่เราควบคุมความเย็นในตู้เย็น  หรือสั่งน้ำ-ผันน้ำมาเก็บไว้ในเขื่อนหรือไปสู่เส้นทางซึ่งเราต้องการ  หรือแม้หากเกิดผลกระทบขึ้นจริงๆ มนุษย์ก็ยังสามารถจะคิดเทคโนโลยีใหม่มาแก้ไขผลกระทบนั้นได้อย่างทันใจ ทันตาเช่นเดิม  ในวิธีคิดนี้ เทคโนโลยีจึงมีสถานภาพเหมือน “พระเจ้า” แต่เป็นพระเจ้าในกำกับของมนุษย์หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ”

ปัญหาสำคัญของทัศนะดังกล่าว คือ มนุษย์หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ หยั่งรู้ถึง “สรรพสิ่ง” และ “สรรพชีวิต” อย่างถ้วนทั่วหมดแล้วจริงหรือไม่  ในเมื่อเราเห็นกันอยู่แล้วว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” ในปัจจุบัน ล้วนแต่แบ่งแยกซอยย่อยตามสาขาวิชา รู้แบบดิ่งลงลึกเฉพาะในเรื่องของตนเอง เช่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ, ดิน, ป่า, ทะเล ฯลฯ (เหมือนแพทย์เฉพาะทาง หู , ตา, หัวใจ ฯลฯ ) จึงมีจุดบกพร่องในมิติด้านกว้างอันเป็นด้านของความเชื่อมโยงที่แผ่กว้างและซับซ้อนระหว่าง “สรรพสิ่ง” และ “สรรพชีวิต”  โลกทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจึงยากที่จะมองเห็นภาพรวมของความเชื่อมโยงทั้งหลายนี้ได้ครบถ้วน

แม้ว่าจะนำผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันคิดแบบสหวิทยาเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในด้านกว้าง ปัญหาก็ยังไม่หมดไป  เพราะโลกธรรมชาติในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญสมัยใหม่นั้น เพ่งมองไปที่โลกทางวัตถุที่ต้องมองเห็นหรือต้องพิสูจน์ได้ว่ามีอยู่จริงเท่านั้น  ความเชื่อมโยงจึงยิ่งหดแคบจากโลกแห่งความเป็นจริงที่มีความหลากหลาย เชื่อมโยงอย่างซับซ้อน และที่สำคัญคือเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องเลื่อนไหล (อิทัปปจยตา)  ธรรมชาติจึงมิใช่ระบบปิด  และมิได้มีเพียงเฉพาะวัตถุธรรมหรือสิ่งที่มองเห็นและเท่าที่มนุษย์รู้เท่านั้น หากยังมีสิ่งที่เป็นนามธรรมและมนุษย์ยังเข้าไม่ถึงหรือยังไม่รู้อีกเหลือคณานับ  การจัดการกับธรรมชาติด้วยทัศนะปัจจุบัน จึงมีท่าทีเหมือนการจัดการวัตถุ มองข้ามความสำคัญของ “สรรพชีวิต” อื่น มุ่งสนองตอบเฉพาะความต้องการของมนุษย์เท่านั้น (เลี้ยงกุ้งกู้ชาติ หยุดพายุฯลฯ)  โลกทัศน์ดังกล่าวนี้เอง ที่นำเรามาสู่วิกฤตการณ์ธรรมชาติและสังคมมนุษย์ จากการเข้าไปตัดตอน สกัดกั้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของระบบธรรมชาติจากระบบเปิดให้เป็นระบบปิด เพื่อความต้องการของมนุษย์จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ทำได้เพียงชั่วคราว และสร้างผลกระทบในทางอื่น เช่น พายุไม่เกิดในพื้นที่ควบคุมแต่ไปเกิดที่อื่นแทน

พุทธศาสนานั้นเชื่อว่า ธรรมชาติดำรงอยู่แบบ “ธัมมิกสังคมนิยม” ที่ความหลากหลายอันมากมายมหาศาลอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกันอย่างเชื่อมโยงเป็นกระบวนการเดียวกัน (องค์รวม) และอย่างมีสมดุล  ธรรมชาติหรือ “ธรรมะ” จึงเป็น “ระบบเปิด” หาใช่ “ระบบปิด” ไม่  การรักษาความหลากหลายและความเชื่อมโยงของความหลากหลายให้ดำรงอยู่ในระบบเปิดอย่างสมดุล จึงเป็นการรักษาธรรมะเพื่อความอยู่รอดของระบบนิเวศและสังคมมนุษย์เอง  ในทางตรงข้าม ความพยายามที่จะปิดกั้น ตัดตอน ทำลายความหลากหลายก็ดี ควบคุมให้ระบบธรรมชาติปิดก็ดี คือการทำลายธรรมชาติและสังคมมนุษย์เองด้วยในที่สุด  เพราะความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีนั้นเป็นเพียงมายากลชั่วคราวเท่านั้นเอง หาความยั่งยืนและความหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ทั้งหลายมิได้  เพราะ “คิดผิด” แล้วจะไป “ทำถูก” ได้อย่างไร


ภาพประกอบ