ช่วงนี้มีกระแส “ศาสนาประจำชาติ” เกิดขึ้นอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ทุกคราเมื่อมีการเขียนรัฐธรรมนูญกันใหม่ ซ้ำยังมีกระแสการใช้ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” กับผู้ที่รุกรานพุทธศาสนา (ตามความเชื่อที่ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนา) เกิดขึ้นด้วย ทั้งสองเรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะมีเนื้อหาคนละส่วน แต่หากเราลองใคร่ครวญดูอาจจะเห็นได้ว่ามีบางสิ่งคล้ายคลึงกัน นั่นคือความยึดมั่นใน ศาสนา “ของเรา”
พุทธศาสนา หรืออาจแปลตรงตัวว่า “คำสอนของผู้ตื่นรู้” แท้จริงไม่ใช่เป็นเรื่องขององค์กร หรือ สถาบันทางศาสนาอะไร การล่มสลายของพุทธศาสนาในอินเดียเมื่อราว พ.ศ.๑๕๐๐ ไม่ได้หมายความว่า สัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนจะสูญหายไป ทว่าสิ่งที่เสื่อมไปคือองค์กรทางศาสนา ซึ่งหากย้อนดูอย่างจริงจังแล้ว ความเสื่อมนี้มีมูลเหตุหลักๆ มาจากวัตรปฏิบัติของสงฆ์เอง โดยเฉพาะความย่อหย่อนทางศีลธรรมและภูมิธรรม ความหลงงมงายในเรื่องฤทธิ์อำนาจ ส่วนการรุกรานของต่างชาติ เป็นเพียงปัจจัยที่เข้ามาร่วมทำลายพุทธศาสนาในช่วงที่อ่อนแอที่สุดจากภายใน สถานการณ์ในอินเดียเวลานั้น ดูจะไม่ต่างอะไรจากบ้านเราในเวลานี้
พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนในพระไตรปิฎกว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย” ถ้าเราเข้าใจในส่วนนี้เราจะตระหนักว่า การประกาศพระศาสนาตามแนวทางของพระพุทธองค์นั้น ไม่ใช่เพื่อก่อตั้งองค์กร หรือสถาบัน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แม้แต่ของพระพุทธองค์ ของพระธรรม ของพระสงฆ์ หรือของพระศาสนา แต่เพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์ที่ยังเวียนวนทนทุกข์อยู่ในสังสารวัฏ พระพุทธองค์ไม่ได้ต้องการคำสรรเสริญเยินยอ ไม่ได้ต้องการชื่อเสียง เงินทอง ไม่ได้ต้องการปริมาณของสาวกผู้ศรัทธา เป้าหมายเดียวของพระองค์คือการนำพาสัตว์ทั้งหลายโดยไม่แบ่งแยก สู่ความนิรทุกข์โดยทั่วกัน
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก”
ในปุณณสูตร เมื่อพระพุทธองค์ถามพระปุณณะว่าจะไปอยู่ที่ไหน พระปุณณะตอบว่าจะไปอยู่ที่สุนาปรันตชนบท พระพุทธองค์ตรัสว่าชาวสุนาปรันตชนบทนั้นดุร้ายหยาบคายนัก ถ้าไปอยู่ที่นั่นแล้วเขาบริภาษ (ด่า) เธอ เธอจะคิดอย่างไร พระปุณณะตอบว่า “จะคิดเสียว่า ชาวเมืองนี้ช่างดีหนอ ที่ไม่ทุบตีเราด้วยมือ” พระพุทธองค์ตรัสถามต่อว่า “ถ้าเขาทุบตีเธอด้วยมือล่ะ”
พระปุณณะตอบว่า “จะคิดเสียว่า ชาวเมืองนี้ช่างดีหนอ ที่ไม่ขว้างเราด้วยก้อนดิน”
“ถ้าเขาขว้างเธอด้วยก้อนดินล่ะ” …. “ช่างดีหนอ ที่ไม่ตีเราด้วยท่อนไม้”
“ถ้าเขาตีเธอด้วยท่อนไม้ล่ะ” …. “ช่างดีหนอ ที่ไม่ฟันเราด้วอาวุธมีคม”
“ถ้าเขาฟันเธอด้วยอาวุธมีคมล่ะ” …. “ช่างดีหนอ ที่ไม่ฆ่าเราด้วยอาวุธมีคมนี้”
พระพุทธองค์ตรัสถามในข้อท้ายสุดว่า “ถ้าเขาฆ่าเธอด้วยอาวุธมีคมนี้ล่ะ เธอจะคิดอย่างไร”
พระปุณณะตอบว่า “จะคิดเสียว่า พระสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ที่อึดอัดระอา เกลียดชังร่างกายและชีวิตนี้ แล้วแสวงหาอาวุธมาฆ่าตนเองก็มีอยู่ แต่นี่เราไม่ต้องแสวงหาเลยก็กลับได้แล้ว”
พระพุทธองค์ตรัสชมพระปุณณะว่ามีความข่มใจและสงบระงับ และอนุญาตให้เดินทางไปสุนาปรันตชนบทได้ พระปุณณะเมื่อไปอยู่ ณ ที่แห่งนั้นแล้ว ได้ทำให้ชาวสุนาปรันตชนบทหันมาศรัทธาพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก
การที่จะบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับว่า เรามีพุทธศาสนาประจำใจหรือไม่ ก็หากว่าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีคำสอนของพระพุทธองค์ประจำใจ นั่นไม่เท่ากับว่าเรามีพุทธศาสนาประจำชาติหรือ ในเมื่อชาตินั้นก่อเกิดมาจากผู้คน และผู้คนไม่ใช่สิ่งใดอื่นนอกจากกายและใจนี้
เป้าหมายเดียวของพระพุทธองค์ คือการนำพาสัตว์ทั้งหลายสู่ความพ้นทุกข์โดยทั่วกัน
สุดท้าย ในสถานการณ์เช่นนี้ ในความหวาดกลัวอันเป็นเหตุมาเพราะมีตัวตนผู้ถูกกระทำ มีของตนที่ถูกกระทำ เราอาจระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ใน มหาหัตถิปโทปมสูตร ดังนี้
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ว่าพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะ ใหญ่น้อยทั้งหลาย ด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในพวกโจรแม้นั้น ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าทำตามคำสอนของเราด้วยเหตุนั้น ดังนี้”
ขอให้พุทธบริษัททุกท่าน จงนึกถึงประโยชน์ของสรรพสัตว์เป็นสำคัญ โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เห็นความเป็นเพื่อนทุกข์ด้วยกัน และช่วยกันนำพาสรรพสัตว์ให้พ้นจากห้วงทุกข์ ดังเช่นที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสแสดงและทรงกระทำเป็นตัวอย่างแก่เราทุกคน เมื่อทำได้เช่นนี้ คำว่าพุทธศาสนาประจำชาติอาจจะน้อยไปเสียด้วยซ้ำ ด้วยสรรพสัตว์นั้นมีจำนวนไม่ประมาณ ในสากลจักรวาลอันเกินคณานับ