เปลี่ยนวิธีคิด พลิกวิกฤตสิ่งแวดล้อม

พระไพศาล วิสาโล 9 พฤศจิกายน 2008

เมื่อเรามองท้องฟ้ายามค่ำคืนอันเงียบสงัด ดวงดาวที่ส่องแสงระยิบระยับเต็มฟ้า ไม่เพียงน้อมใจให้สงบ หากเรายังได้สัมผัสกับความงามอันลึกล้ำของธรรมชาติ ในยามนั้นเราอาจตระหนักถึงความเล็กกระจิดริดของตัวเราเอง เพราะความมโหฬารของจักรวาลได้ปรากฏต่อหน้าเราอย่างเต็มตา ขณะที่อายุขัยของเรากลับมีค่าเพียงชั่วกะพริบตาเมื่อเทียบกับกาลเวลากว่าหมื่นล้านปีของเอกภพ  เพียงแค่ระยะห่างนับล้านปีแสงของดาวบางดวงที่เราเห็น ก็ทำให้ประวัติศาสตร์แค่พันปีของชาติเรากลายเป็นเศษเสี้ยวของจักรวาลไปในทันที

แต่ธรรมชาติไม่ว่าจะยิ่งใหญ่มโหฬารเพียงใด ก็ยังเล็กกว่าสิ่งๆ หนึ่ง นั่นคือความรู้สึกว่าเป็น “ของฉัน”  ความรู้สึกว่าเป็น “ของฉัน” นั้นไม่เคยมีขอบเขต มันสามารถแผ่ไปครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ได้ ไม่เว้นแม้แต่ตัวจักรวาลเอง  ไม่สำคัญว่าเราจะเคยไปเดินเหินบนดาวดวงไหนหรือไม่ ทันทีที่เราเห็นบนพื้นโลก หรือจากกล้องโทรทัศน์ เราก็ทึกทักว่ามันเป็น “ของฉัน”ทันที  ด้วยเหตุนี้  สุริยจักรวาลจึงเป็นของฉัน ดาราจักร (galaxy) จึงเป็นของฉัน ทางช้างเผือกจึงเป็นของฉัน ไม่มีอะไรในจักรวาลนี้ที่ใหญ่จนความรู้สึกว่า “ของฉัน” คลุมไปไม่ถึง

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์เราจึงถือสิทธิที่จะเข้าไปทำอะไรก็ได้กับทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ นี้คือทัศนคติสำคัญที่ขับเคลื่อนมนุษยชาติตลอดมา โดยเฉพาะในช่วง ๔ ศตวรรษที่แล้ว  จริงอยู่เมื่อมนุษย์ยังมีอำนาจน้อย เราย่อมหวาดกลัวธรรมชาติ จนเกิดศาสนาขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งและปกป้องมนุษย์จากภัยนานาชนิดในธรรมชาติ  แต่เมื่อเรามีความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น ก็เริ่มเชื่อมั่นในอำนาจของตนเองขึ้นมา จนไม่เพียงเอาชนะสัตว์ร้ายรอบตัวเท่านั้น หากยังเหิมเกริมถึงขั้นที่จะเป็นนายเหนือธรรมชาติ

และนี่คือจุดมุ่งหมายของศาสตร์ต่างๆ ในตะวันตกนับแต่ศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา ดังเดส์กาตส์ บิดาแห่งปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ได้เคยกล่าวว่า “เมื่อรู้จักธรรมชาติและพฤติกรรมของไฟ น้ำ อากาศ ดวงดาว สวรรค์ และสิ่งรอบตัว….เราย่อมสามารถใช้ความรู้เหล่านี้เพื่อเป้าหมายอเนกอนันต์ ดังนั้นจึงทำให้เราเป็นนายและผู้ครอบครองธรรมชาติ”  แต่ฟรานซิส เบคอน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ร่วมสมัยเดียวกับเดส์กาตส์ พูดชัดเจนกว่านั้นอีกว่า ความรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องแสวงหาและเพิ่มพูน ทั้งนี้เพื่อกดธรรมชาติให้เป็น “ทาส” และ “รับใช้” มนุษย์  รวมทั้งเพื่อ “ทรมาน” และ “ไล่ล่าไม่หยุดหย่อน” เพื่อให้ธรรมชาติเปิดเผยความจริงออกมาให้มากที่สุด

นับแต่นั้นมา การผลาญทำลายธรรมชาติจึงเกิดขึ้นอย่างมโหฬาร ไม้ถูกตัด สัตว์ถูกฆ่า ป่าถูกทำลายแทบทุกหนแห่งอย่างไม่เคยมีมาก่อน  ทัศนคติและพฤติกรรมดังกล่าว ได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่มนุษย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  กล่าวได้ว่าอารยธรรมสมัยใหม่ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยวัตถุเกิดขึ้นจากทัศนคติที่มุ่งครอบครองและเป็นนายเหนือธรรมชาติ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือธรรมชาติถูกพร่าทำลายอย่างยับเยิน จนกระทั่งส่งผลเสียต่อมนุษย์ เช่น เกิดน้ำท่วม ฝนแล้ง มลพิษ และทรัพยากรธรรมชาติขาดแคลน  ถึงตอนนี้จึงเริ่มมีการพูดถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ  แต่ถึงแม้ธรรมชาติจะได้รับการดูแลมากขึ้น ศูนย์กลางก็ยังอยู่ที่มนุษย์เหมือนเดิม ดังนักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้หนึ่งให้นิยามว่า การอนุรักษ์ธรรมชาติ คือ “การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อป้องกันมิให้ร่อยหรอ สูญเปล่าหรือถูกทำลาย เพื่อว่ามนุษย์จะสามารถใช้มันได้ในยามต้องการตลอดกาลนาน”  ภายใต้แนวความคิดดังกล่าว การอนุรักษ์จึงมีความหมายรวมถึงการดัดแปลง ตกแต่ง หรือ “พัฒนา” ธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของมนุษย์เอง

แนวความคิดดังกล่าว พูดอย่างสรุปก็คือมองว่า ธรรมชาตินั้นเป็น “ของฉัน” จึงต้องควบคุมโดยฉัน และเพื่อฉัน แต่ลืมมองความจริงอีกด้านหนึ่งว่า มนุษย์เรานั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  ตั้งแต่เกิดจนตาย เราไม่สามารถแยกตัวออกจากธรรมชาติได้เลย  เราทำอย่างไรกับธรรมชาติ ในที่สุดก็ส่งผลย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง  หากเราย่ำยีธรรมชาติ นอกจากส่งผลกระเทือนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเราแล้ว ยังก่อผลร้ายต่อจิตใจของเราเอง กล่าวคือทำให้เราเห็นแก่ตัวมากขึ้น จิตใจหยาบกระด้างยิ่งกว่าเดิม  ใช่หรือไม่ว่าวันนี้เราทำลายต้นไม้และสิงสาราสัตว์ พรุ่งนี้ก็อดไม่ได้ที่จะต้องทำลายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คำกล่าวของหญิงอินเดียนแดงข้างต้น สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงจิตนิสัยของคนที่ไม่เห็นคุณค่าของธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็เหมือนจะบอกต่อไปว่า หลังจากที่คนขาวทำลายธรรมชาติที่ขวางหน้าแล้ว เหยื่อรายต่อไปก็คือชาวอินเดียนแดง

เมื่อเรามีความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น ก็เริ่มเชื่อมั่นในอำนาจของตนเองขึ้นมา จนไม่เพียงเอาชนะสัตว์ร้ายรอบตัว หากยังเหิมเกริมถึงขั้นคิดจะเป็นนายเหนือธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่ค้นพบใหม่ในชั่วไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เราเริ่มตระหนักว่า มนุษย์และทุกชีวิตอยู่ได้ก็เพราะการพึ่งพาอาศัยกัน  นอกจากอากาศที่เราหายใจทุกเวลานาทีจะได้มาจากต้นไม้และมหาสมุทรแล้ว พลังงานที่หล่อเลี้ยงทุกเซลล์ในตัวเรายังได้มาจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่อยู่ในร่างกายของเรามาตั้งแต่เกิด คือไมโตคอนเดรีย  จะว่าไปในแต่ละเซลล์ของเรายังมีชีวิตอื่นอีกหลายชนิดที่ผสานแนบแน่นจนไม่อาจแยกจากเราได้  เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ ขณะเดียวกันระบบนิเวศน์ก็อยู่ในตัวเราด้วย ซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กับภูเขา ป่าไม้ หมู่เมฆ ลำธาร มหาสมุทร ไปจนถึงดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์  มนุษย์กับธรรมชาติเชื่อมโยงสัมพันธ์แนบแน่น จนเราไม่อาจขีดเส้นแบ่งระหว่างเรากับธรรมชาติได้  การถือเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง โดยมีธรรมชาติคอยรับใช้เรานั้น นอกจากจะสะท้อนความเห็นแก่ตัวแล้ว ยังเป็นทัศนคติที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอีกด้วย

จักรวาลนั้นเป็นเครือข่ายแห่งความสัมพันธ์อันซับซ้อน ความสัมพันธ์ดังกล่าวเชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าหากัน และทำให้ชีวิตของเรามิอาจแยกจากธรรมชาติหรือสรรพสิ่งในจักรวาลได้  ติช นัท ฮันห์ ได้กล่าวถึงสหสัมพันธ์ของสรรพสิ่งได้อย่างงดงามว่า

“เมื่อคุณมองเก้าอี้ตัวนี้ คุณเห็นป่าไม้อันเป็นที่มาของไม้ที่ใช้ทำเก้าอี้ตัวนี้ไหม คุณเห็นดวงอาทิตย์ซึ่งสาดส่องป่าไม้ และหมู่เมฆซึ่งโปรยฝนบำรุงเลี้ยงป่าไหม คุณเห็นคนตัดไม้และครอบครัวของเขาไหม และข้าวที่เลี้ยงชีวิตของพวกเขาล่ะ คุณเห็นทั้งหมดนี้ในเก้าอี้ตัวนี้ไหม เก้าอี้ประกอบด้วยสรรพสิ่งที่มิใช่เก้าอี้  คุณเห็นดวงอาทิตย์ในหัวใจของคุณไหม เห็นบรรยากาศในปอดของคุณไหม  สรรพสิ่งล้วนดำรงอยู่ในสภาพที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และต่างเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน”

เมื่อมองโลกด้วยความตระหนักถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับสรรพชีวิตและสรรพสิ่ง เราจะเห็นผู้คนและชีวิตต่างๆ รวมทั้งธรรมชาติด้วยสายตาที่เป็นมิตรมากขึ้น มีความอ่อนโยนและเมตตากรุณายิ่งกว่าเดิม  การดำเนินชีวิตของเราจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง ด้วยความรู้สึกอ่อนไหวต่อความทุกข์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้อื่นหรือชีวิตอื่น เราจะไม่ถือเอาความสะดวกสบายหรือความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุเป็นพระเจ้าอีกต่อไป เพราะรู้ดีว่าการกระทำเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งรอบตัวอย่างไรบ้าง

การนึกถึงผู้อื่นและชีวิตอื่นมากขึ้น จะทำให้ตัวตนของเราเล็กลงและมีจิตใจที่โปร่งเบามากขึ้น  ถึงตอนนั้นจะพบว่าความสุขนั้นเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอิงวัตถุหรือสิ่งเสพ แม้ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายก็มีความสุขได้ เพราะถึงที่สุดแล้วสุขแท้นั้นอยู่ที่ใจเราแล้ว นี้คือธรรมชาติอีกด้านหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไป จนทำให้ผู้คนหมกมุ่นกับการแสวงหาความสุขจากนอกตัว ส่งผลให้เกิดการเบียดเบียนธรรมชาติและผู้คนไม่รู้จบ

ธรรมชาติภายนอกกับธรรมชาติภายในนั้นมิอาจแยกจากกัน  ธรรมชาติภายนอกที่สงบสงัดร่มรื่น ย่อมก่อให้เกิดความรื่นรมย์สงบสุขแก่ธรรมชาติภายใน  เมื่อใดที่ได้สัมผัสกับประสบการณ์ดังกล่าว เราจะเห็นคุณค่าของธรรมชาติภายนอก และไม่ถือตัวอย่างยโสโอหังว่าธรรมชาติภายนอกคือข้าทาสที่ต้องรองรับความปรารถนาของเรา

วิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่ามลภาวะที่แพร่ระบาด ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ รวมถึงปัญหาโลกร้อน ซึ่งกำลังแสดงตัวเด่นชัดขึ้นทุกที โดยเนื้อแท้แล้วเป็นวิกฤตการณ์ด้านจิตวิญญาณ ที่เกิดจากทัศนคติที่ผิดพลาดในการมองโลกและชีวิต  การเปลี่ยนแปลงทัศนคติดังกล่าว จนเห็นสหสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในธรรมชาติ และเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติภายนอกกับธรรมชาติภายใน คือกุญแจสำคัญที่จะนำมนุษย์ออกจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้อย่างแท้จริง  หากมนุษยชาติไปไม่ถึงจุดนั้น อนาคตก็ดูมืดมนเต็มที


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา