เข็มทิศแห่งการเรียนรู้

ปรีดา เรืองวิชาธร 28 กันยายน 2008

โดยทั่วไปหากจะจัดการเรียนรู้ขึ้นมาสักชุดหนึ่งหรือหลักสูตรหนึ่งนั้น เป้าหมายสำคัญมักมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนหรือองค์ความรู้เฉพาะด้านที่อยู่ในเนื้อหาหลักสูตรนั้น และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประกอบอาชีพและอาจรวมถึงนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตบ้างบางบริบท เช่น การแพทย์พยาบาล การบริหารจัดการ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง สื่อสารมวลชน เป็นต้น นี่เป็นจุดมุ่งหมายหลักที่เหลือเกือบเพียงประการเดียวของการเรียนรู้ ดังนั้นหากมุ่งเพียงเป้าหมายด้านนี้เท่านั้นก็จะทำให้การเรียนรู้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้เรียนได้หลากด้านหลายมิติตามที่พึงจะเป็น เพราะการที่ผู้เรียนพัฒนาเฉพาะเพียงบางด้านมักจะทำให้การดำเนินชีวิตและการดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมที่เต็มไปด้วยวิกฤติการณ์อันสลับซับซ้อนติดขัดมีปัญหาอุปสรรคได้ง่ายและหาทางออกเองได้ยาก

ด้วยเหตุนี้การเรียนรู้ที่ดีจึงต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงเติบโตของคนหลากด้านหลายมิติเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมของการพัฒนาคน ทั้งนี้ในที่นี้เชื่อว่า ไม่ว่าเราจะจัดการเรียนรู้เรื่องใดก็ตามที่สัมพันธ์กับมนุษย์ เราควรขยายเป้าหมายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกด้านทุกมิติของความเป็นมนุษย์เท่าที่จะทำได้ โดยไม่ควรจำกัดให้เหลือเพียงความรอบรู้และทักษะในเนื้อหาหลักสูตรที่มุ่งเอาไปประกอบอาชีพเท่านั้น ดังนั้นในที่นี้จึงขอแบ่งเป้าหมายการเรียนรู้ออกเป็น ๖ ด้านที่โยงใยสัมพันธ์กัน ดังนี้

๑. ด้านความรู้ความเห็นหรือทัศนคติ

เป้าหมายในด้านนี้พื้นฐานที่สุดก็คือ หากกระบวนกรมุ่งหมายจัดการเรียนรู้เรื่องอะไร ผู้เรียนก็ควรจะรู้และเข้าถึงองค์ความรู้ในเรื่องนี้เพิ่มพูนจากเดิมที่ยังไม่ได้รับการเรียนรู้ แต่นอกเหนือจากในแง่นี้แล้วยังหมายรวมถึงผู้เรียน รู้และเข้าถึงองค์ความรู้ในเรื่องที่เรียนอย่างสัมพันธ์กับศาสตร์หรือความรู้ด้านอื่น โดยเฉพาะความรู้ที่เกี่ยวกับสภาวะภายในของมนุษย์ ซึ่งองค์ความรู้จากแต่ละศาสตร์แต่ละสาขามักจะโยงใยสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ดังเช่น เรียนรู้เรื่องบริหารจัดการองค์กรก็สัมพันธ์เชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ในเรื่องของอำนาจ จิตวิทยาบุคคลิกภาพ หรือสัมพันธ์ไปถึงที่ว่าด้วยองค์ประกอบภายในของความเป็นมนุษย์ตามคติของพุทธศาสนา ฯลฯ เป็นต้น

ดังนั้นการรอบรู้เข้าถึงองค์ความรู้ในเรื่องหรือหลักสูตรหนึ่งๆ จึงควรเป็นลักษณะปลายเปิดไปสู่การเชื่อมโยงกับศาสตร์หรือความรู้อื่นๆ เพื่อจะสามารถร่วมอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งระดับชีวิต สังคมและธรรมชาติได้อย่างเข้าใกล้ความจริงตามที่มันเป็นมากที่สุด รวมถึงสามารถเชื่อมโยงความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อเข้าไปแก้ไขเยียวยาปัญหาทั้งในระดับชีวิต สังคมและธรรมชาติได้อย่างสอดคล้องกับวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน  ที่สำคัญที่สุด กระบวนกรที่จัดการเรียนรู้ในเรื่องใดๆ นั้นควรจะทำให้บทเรียนที่ตนจัดนั้นมุ่งไปสู่ความจริงและความถูกต้องความดีงาม หรืออย่างน้อยเป็นความรู้ที่ใช้แก้ปัญหาในระดับต่างๆ หรือใช้ประกอบอาชีพอย่างสุจริต  ไม่ควรจัดการเรียนรู้หรือค้นคว้าแสวงหาความรู้เพื่อสนับสนุนให้มนุษย์เกิดความโลภ โกรธ หลงเป็นเจ้าเรือนดังเช่น มนุษย์กำลังจะใช้ความรู้ทางวิศวพันธุกรรมไปดัดแปลงโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสิ่งมีชีวิตกับธรรมชาติกำลังวิปริตแปรปรวนยิ่งขึ้นทุกที เป็นต้น

๒. ด้านทักษะหรือความชำนาญการด้านต่างๆ

ในด้านนี้หมายถึงการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดทักษะหรือความชำนาญในด้านหนึ่งหรือหลายด้านตามความมุ่งหมายของหลักสูตรที่วางไว้ เช่น ทักษะในการฟัง อ่าน เขียน แปลทางภาษา ทักษะการออกแบบ ฯลฯ เป็นต้น ในที่นี้ยังหมายรวมถึงทักษะพื้นฐานสำคัญที่มนุษย์ใช้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพท่ามกลางความสลับซับซ้อนของปัญหาซึ่งได้แก่ ทักษะด้านวิธีคิดอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงเป็นองค์รวม ทักษะด้านการรับฟังอย่างลึกซึ้ง ทักษะสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ทักษะการตั้งคำถามอย่างใคร่ครวญและทำให้เกิดปัญญา และทักษะการจับประเด็น ฯลฯ เป็นต้น

๓. ด้านพฤติกรรม

ในด้านนี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงร่องพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาเป็นพฤติกรรมใหม่ที่สร้างสรรค์ มีสุจริตธรรมเป็นที่ตั้งไม่เอาเปรียบให้ร้ายทำลายผู้อื่น ซื่อตรงต่อจรรยาบรรณของวิชาชีพที่มุ่งเพื่อประโยชน์สุขโดยรวมของทุกคนและสังคม ด้วยเหตุนี้การเรียนรู้ไม่ว่าศาสตร์ใดสาขาใดควรถือเอาการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ด้วยด้านหนึ่ง

๔. ด้านความสัมพันธ์

ในด้านนี้หมายถึงการทำให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนเพื่อสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ด้วยดี ตั้งแต่คนใกล้ตัวในครอบครัว องค์กร ชุมชนหรือระดับสังคม แม้ว่าแต่ละคนจะมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างหลากหลาย แต่ก็สามารถเรียนรู้และสนับสนุนเกื้อกูลกันได้ และหากมีความขัดแย้งกัน ก็สามารถคลี่คลายสลายความขัดแย้งได้หรือแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ได้  ในมิตินี้ยังหมายรวมถึงการที่ผู้เรียนสามารถใช้ศักยภาพอันแท้จริงเท่าที่ตนมีเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ต่างๆ ทั้งระดับครอบครัว ชุมชน สังคมและธรรมชาติแวดล้อม เกิดวัฒนธรรมความสัมพันธ์ใหม่ที่เน้นการช่วยเหลือเกื้อกูลแทนการเอาเปรียบแข่งขัน เน้นความโยงใยสัมพันธ์ระหว่างตัวปัจเจกบุคคลกับคนอื่นในสังคม เพื่อผสานพลังของปัจเจกบุคคลให้เป็นพลังของกลุ่มชน หรือสูงขึ้นไปเป็นประชาสังคมที่เข้มแข็ง อันจะนำไปสู่การแสวงหาความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ชุมชนสังคมให้ดำรงอยู่อย่างเป็นสุขและเป็นธรรม

๕. ด้านจิตใจ

ในด้านนี้หมายเน้นถึงผู้เรียนสามารถระลึกรู้เท่าทันสภาวะภายในในแต่ละย่างก้าวของชีวิตที่รายล้อมไปด้วยความผันผวนปรวนแปรของสรรพสิ่งรอบตัว รวมถึงปัญหาที่สลับซับซ้อนทั้งระดับบุคคล สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้เรียนมีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคงภายในนิ่งสงัดมากพอที่จะรับมือกับทุกสถานการณ์ นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถรู้เห็นชัดภายในว่าเขามีจุดอ่อนจุดแข็งด้านใด รู้ชัดถึงกระบวนการที่จะพัฒนาจุดแข็งและคลี่คลายจุดอ่อนภายในของตนได้ พร้อมทั้งมีเครื่องหล่อเลี้ยงมโนธรรมสำนึกพื้นฐานของมนุษย์ เช่น จิตใจที่ซื่อตรง ความเมตตากรุณา สำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม เป็นต้น

๖. ด้านปัญญา

ในที่นี้หมายถึงความสามารถในการหยั่งรู้ความจริงของกายกับสภาวะของจิต จนสามารถคลี่คลายความยึดมั่นถือมั่นที่เกิดขึ้นภายในได้ทีละเล็กทีละน้อยจนนำไปสู่การคลี่คลายทุกข์ภายในได้ในที่สุด ในอีกนัยหนึ่งก็หมายถึง ผู้เรียนมีความสามารถหยั่งรู้สภาวะตามที่เป็นจริงของสรรพสิ่งภายนอกจนเข้าใจและยอมตามที่มันเป็น ปรับตัวดำรงอยู่ร่วมกับสิ่งอื่น คนอื่นได้อย่างสอดคล้องกับความจริงตามที่มันเป็น จนทำให้การดำรงอยู่นั้นเป็นสุขแท้ๆ ที่เกิดจากปัญญา ซึ่งเป้าหมายในมิตินี้จะเป็นแกนกลาง โดยทำงานควบคู่กับเป้าหมายด้านจิตใจเพื่อเป็นเข็มทิศในการดำรงชีวิตอย่างเข้าถึงความจริง ความดีงาม

กล่าวโดยสรุปแล้วหากมองในมุมกว้าง การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงคนอย่างลึกซึ้งนั้นต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงใน ๖ ด้าน ซึ่งแต่ละด้านล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงหนุนเสริมกันอย่างแยกไม่ออก อย่างไรก็ตาม เราจำต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งคือ เป็นเรื่องยากมากที่จะจัดชุดหลักสูตรการเรียนรู้ใดๆ ให้ครอบคลุมเชื่อมโยงทั้ง ๖ ด้านอย่างสมบูรณ์ เนื่องเพราะการทำให้เนื้อหาหลักสูตรแต่ละเรื่องแต่ละชุดมาเชื่อมโยงสัมพันธ์กันยังมีข้อจำกัดมาก  นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดและอุปสรรคอีกหลายประการ เช่น ขาดประสบการณ์และการทดลองที่จะพัฒนาเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ เรายังมีกระบวนกรจำนวนน้อยที่มุ่งใส่ใจแสวงหาและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในแนวนี้ รวมถึงขาดการสนับสนุนให้การเรียนรู้แนวทางนี้พัฒนาและเติบโตไปอย่างที่ควรจะเป็น เป็นต้น

ดังนั้นข้อจำกัดหรืออุปสรรคดังกล่าวนี้ ผู้ที่จะอยู่ในแวดวงนี้จึงควรที่จะช่วยกันแสวงหาทางออกร่วมกันโดยต้องพยายามก้าวข้ามกำแพงอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะการติดยึดในเรื่องความเห็น ความเชื่อ ความเป็นสาขาวิชาชีพและความเป็นสถาบัน เป็นต้น


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน