ความขัดแย้ง เผชิญได้ หนีไม่ได้ (๑)

ปรีดา เรืองวิชาธร 10 ธันวาคม 2005

ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ “สมานไมตรี” (การคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี) เราได้สมมติสถานการณ์ว่าหากเราทั้งหมดต้องไปสร้างชุมชนใหม่ด้วยกัน สิ่งที่เราอยากให้มีในชุมชนใหม่ของเราได้แก่อะไรบ้าง โดยให้ผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง ๒๐ ท่าน เลือกสิ่งต่างๆ ได้เพียง ๖ อย่างจากทั้งหมด ๒๐ อย่าง  สิ่งต่างๆ ที่ให้เลือกนั้นได้แก่ เรือกสวนนาไร่ ป่าชุมชน โรงเรียน ชมรมแพทย์พื้นบ้าน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมประจำหมู่บ้าน กิจกรรมกลุ่มเรียนรู้ของเยาวชน วัดและพระสงฆ์ กองทุนหมู่บ้าน ศูนย์กีฬาครบวงจร วิทยุชุมชน ฯลฯ

ผลจากการเลือกปรากฏว่า ไม่มีใครเลือกทั้ง ๖ อย่างเหมือนกันหมด  ทั้ง ๒๐ รายการมีคนเลือกหมด แม้บางรายการจะมีคนเลือกเพียงคนสองคน  ที่สำคัญแต่ละคนมีเหตุผลในการเลือกไม่เลือก ฟังดูสมเหตุสมผล และมีหลายคนเปลี่ยนใจไม่เลือกสิ่งที่เลือกไว้เดิม เพราะเหตุผลของคนอื่นน่าสนใจกว่า

จากสถานการณ์จำลองนี้ เราได้เรียนรู้ร่วมกันว่า มีเหตุปัจจัยมากมายที่เป็นเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งกำหนดให้แต่ละคนคิดและตัดสินใจเลือกไม่เหมือนกัน รวมถึงเป็นเหตุทำให้เราต้องขัดแย้งกันได้ง่ายทุกชั่วโมงทุกนาที

ความแตกต่างหลากหลายที่ว่านี้ได้แก่ ความต้องการพื้นฐานของชีวิตที่ต่างกัน อายุหรือวัย เพศ ความเชื่อศรัทธาซึ่งรวมไปถึงความเชื่อทางศาสนา ความชอบความสนใจเฉพาะคนที่ไม่เหมือนกัน อาชีพ สถานภาพทางสังคม บุคลิกภาพ การเลี้ยงดูและการหล่อหลอมค่านิยมทางสังคมผ่านกลไกทางสังคมที่แตกต่างกัน

เหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้คนในกลุ่มหรือสังคมคิดและตัดสินใจแตกต่างกัน รวมถึงทำให้เกิดความขัดแย้งกัน  อย่างไรก็ตามเหตุปัจจัยที่เป็นเรื่องของความแตกต่างหลากหลายนี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่เราต้องพยายามทำให้ทุกอย่างเหมือนกันหมด และมันเพียงทำให้เกิดความขัดแย้งธรรมดาสามัญอันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย  ตรงข้ามมันกลับพลิกเปลี่ยนเป็นสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ เพียงเรายอมรับว่า สิ่งเหล่านี้มันต้องมีต้องเป็นเช่นนี้อยู่แล้ว พร้อมกับเรียนรู้ความเหมือนและต่างกันและกันอยู่เสมอ

ความขัดแย้งคือสิ่งธรรมดาสามัญ อันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย

แต่ที่ความขัดแย้งธรรมดาๆ พัฒนาขยายตัวเป็นความขัดแย้งที่สลับซับซ้อน ลึกซึ้งรุนแรง จนสร้างความปั่นป่วนเดือดร้อนไปทุกหัวระแหงนั้น อยู่ที่เหตุปัจจัยต่างๆ อีกชุดหนึ่ง ก็คือ

๑. อกุศลธรรมภายในของมนุษย์ 

มีอกุศลธรรมอยู่ ๓ ตัวที่เป็นปัจจัยหรือตัวการทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริง นั่นคือ

– ความทะยานอยากทั้งหลายทั้งปวง (ตัณหา) ไม่ว่าจะเป็นความอยากได้อยากเอาในทางวัตถุหรือทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อนำมาสนองปรนเปรอตนเองอย่างเกินเลย  ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่หรือไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ตามค่านิยมของสังคม โดยเฉพาะความเชื่อหรือค่านิยมปลอมๆ ลวงๆ เช่น ความอยากเป็นมหาเศรษฐีที่ยิ่งใหญ่ ความอยากมีอำนาจ ความอยากเป็นผู้ชนะเหนือผู้อื่น ความไม่อยากเป็นคนยากจนที่ด้อยค่าน่ารังเกลียด เป็นต้น

– ความถือตัวสำคัญตนว่าเหนือหรือด้อยกว่าผู้อื่น (มานะ) เช่น สำคัญมั่นหมายว่าชาติพันธุ์ของเราวิเศษกว่าชาติพันธุ์อื่น ศาสนาของเราดีกว่า เป็นต้น

– ความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นความเชื่อของตน (ทิฏฐิ) รวมถึงการยึดติดข้อสรุปที่ตนได้พิสูจน์จากประสบการณ์จริงจนเชื่อมั่นศรัทธาอย่างตายตัว ทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงเตือนอยู่บ่อยครั้งว่า ความจริงความเห็นในระดับความเชื่อและเหตุผลนั้น ยังเป็นความรู้ความเห็นที่อาจบกพร่องผิดพลาดได้เสมอ ดังเช่น ทฤษฎีหรือสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น  การยึดติดในความเห็นความเชื่อมักทำให้คู่ขัดแย้งทนไม่ได้เอาเลย หากมีคนอื่นเห็นหรือเชื่อต่างไปจากตน

๒. อคติภายในที่ทำให้คู่ขัดแย้งมองและปฏิบัติต่อกันอย่างลำเอียง

การที่แต่ละฝ่ายมองและปฏิบัติต่อกันด้วยความลำเอียงไม่ว่าจะลำเอียงด้วยรัก โกรธ กลัว หรือหลงก็ตาม ล้วนทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจประเด็นแห่งความขัดแย้งและความจริงคลาดเคลื่อนจากที่เป็นจริง และยากแก่การเปิดโอกาสปรับทำความเข้าใจกัน

๓. วิธีคิดหรือมองอย่างตัดสินตายตัว 

ความขัดแย้งมักเกิดและขยายตัวได้ง่ายมาก จากการคิดหรือมองแบบตัดสินตายตัว ดังเช่น ๑) เรามักจะมองความจริงไม่ว่าคนหรือเหตุการณ์ใดๆ แบบเจาะจงเพียงด้านเดียวหรือเลือกมองเพียงบางด้าน ทำให้เราตีขลุมด่วนสรุปไปเลยว่า สิ่งนั้นคนนั้นดีหรือร้ายไปทั้งหมด  ๒) เรามักคิดหรือมองความจริงแบบเจาะจงสนใจ เฉพาะเหตุการณ์ที่ปรากฏออกมาให้เห็นตรงหน้าเท่านั้น โดยมองไม่เห็นหรือมองข้ามเหตุปัจจัยที่หนุนอยู่เบื้องลึกของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ๓) คิดหรือมองความจริงแบบหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลงทั้งที่ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นต้น

๔. การสื่อสารที่ผิดพลาดและไม่สร้างสรรค์ 

เช่น การจับประเด็นและสื่อสารคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง การบิดเบือน เสริมแต่ง ตัดตอนข้อเท็จจริง รวมถึงการกล่าวร้าย ใส่ความและปล่อยข่าวลือของคนรอบข้างคู่ขัดแย้งหรือของสื่อต่างๆ เป็นต้น  การสื่อสารที่ไม่สร้างสรรค์นี้เป็นทั้งตัวจุดประกายความขัดแย้ง และตัวโหมกระพือให้ความขัดแย้งลุกลาม บานปลายออกไปอย่างยากที่จะยุติลงได้

๕. ท่าทีการแสดงออกของคู่ขัดแย้ง

ที่เวลาเกิดความขัดแย้งแล้วมักจะเกิดอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว โกรธเป็นฝืนเป็นไฟได้ง่าย หรือบางทีก็แสดงอากัปกิริยาก้าวร้าว ดูถูกใส่กัน  ปฏิสัมพันธ์แบบนี้ก็เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้ความขัดแย้งเข้มข้นรุนแรงได้ง่ายเช่นกัน

๖. โครงสร้างองค์กรหรือโครงสร้างสังคมที่ไม่ยุติธรรม 

ซึ่งมาในรูปของกฎหมาย กฎระเบียบ กติกา เงื่อนไขต่างๆ ขององค์กรหรือสังคมที่ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันได้ง่าย เอื้อเฟื้อช่องทางโอกาสให้คนบางกลุ่มตักตวงผลประโยชน์ และใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมได้ง่าย  โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมเรามักจะเห็นในรูปโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจ ไม่เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมในการคิด  ตัดสินใจ ทำ ตรวจสอบและรับผิดชอบ

ทั้ง ๖ ประเด็นที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักรู้อย่างลึกซึ้ง  ดังนั้นหากสังคมของเราปรารถนาการอยู่กับความขัดแย้งอย่างเป็นสุขและคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยไม่จำเป็นต้องหลบเลี่ยงหลีกหนีความขัดแย้ง เราจึงต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ด้วยการเรียนรู้ธรรมชาติความขัดแย้ง เรียนรู้ปัจจัยที่เป็นเรื่องความแตกต่างหลากหลายเพื่อยอมรับอย่างที่มันเป็น และเรียนรู้ไปพร้อมกับการเฝ้าระวังไม่ให้เหตุปัจจัยแห่งความขัดแย้งที่รุนแรงทั้ง ๖ ประการเกิดขึ้นได้โดยง่าย  ในสัปดาห์หน้าเราจะมาต่อกันในเรื่องของหลักการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน