แดเนียล กอตต์ลีบ (Daniel Gottlieb) เป็นนักจิตวิทยาที่ประสบความสำเร็จในการงาน มีครอบครัวที่น่ารัก ภรรยาพร้อมลูกสาวตัวน้อย ๒ คน ชีวิตแต่งงานผ่านพ้นไป ๕ ปี แล้วภรรยาของเขาก็ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง ความมั่นคงและสายสัมพันธ์ในครอบครัวเริ่มสั่นคลอนเนื่องด้วยความกดดันจากปัญหาสุขภาพ ท่ามกลางเงื่อนไขชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไป การทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว ดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ สิ่งที่แดเนียลพบคือ ความห่างเหินที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการซุกซ่อนตัวของความโกรธ ความกลัว กังวล และหากว่าโจทย์ชีวิตยังไม่หนักหนาพอ ก่อนหน้าวันครบรอบแต่งงาน ๑๐ ปีไม่นาน แดเนียลประสบอุบัติเหตุร้ายแรง ทำให้แดเนียลเป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมา และเขาต้องมีชีวิตอยู่แต่ในรถเข็น และต้องอาศัยการช่วยเหลือจากคนอื่นอยู่มากในภารกิจประจำวัน ท่ามกลางสภาพเช่นนี้ ภรรยาของแดเนียลขอแยกทาง
สิ่งที่น่าสนใจคือ นับแต่ภรรยาของแดเนียลล้มป่วย กระทั่งตนเองมาประสบอุบัติเหตุกลายเป็นอัมพาตเช่นนี้ แดเนียลพบว่าตนเองต้องอยู่กับความหวาดกลัว ความเครียด ความกังวลตลอดเวลา เครียดกับความกังวลถึงอนาคต เครียดกับภาระหน้าที่ทั้งในฐานะหัวหน้าครอบครัว สามีและพ่อ ขณะที่ตนเองก็อยู่ในสภาพพิการ รวมถึงเครียดและกังวลต่อภรรยาถึงสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงต่อความสัมพันธ์ว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ความเครียด หวาดกลัวนี้คุกคามชีวิต ดังนั้นการขอแยกทางของภรรยา จึงหมายถึงการสิ้นสุดของความเครียดและวิตกกังวลที่เคยอยู่ในความรู้สึกนึกคิดมาตลอด พร้อมกับการเกิดขึ้นของความเครียด ความหวาดกลัวกับความจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้า
แต่ละชีวิตต่างต้องพบพานโจทย์ชีวิตและแรงเสียดทานที่อาจหนักหนาสาหัส หรืออาจเป็นเพียงคู่ซ้อมเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปวดหัว ตัวร้อน รถติด ฯลฯ ตัวอย่างแรงเสียดทานที่เข้ามาในชีวิต ดังเช่น การตกงาน งานใหม่ การโยกย้ายที่ทำงาน โรคภัยไข้เจ็บ การนอกใจในความสัมพันธ์ การสูญเสีย ฯลฯ ยามเมื่อเราเผชิญการเปลี่ยนแปลง อาจหมายถึงวิกฤตหรืออาจเป็นโอกาส แต่สิ่งที่หนีไม่พ้นคือ ความเครียดและกดดัน หลายคนระบายโทสะกับการโทษว่าสิ่งรอบตัว: ผู้คน ระบบ สภาพแวดล้อม หลายคนหนีปัญหาไปกับสุรา ยาเสพติด แล้วเราจะรับมือกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้อย่างไรดี โดยเฉพาะในทางสร้างสรรค์
โชคชะตาหรือเส้นทางชีวิตทำให้เราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สิ่งที่พึงระลึกคือ ตัวเรา ไม่ใช่กระสอบที่ว่างเปล่า แต่ละเรื่องราวที่เข้ามาสามารถเป็นบทเรียนให้เราเติบโต กลายเป็นประสบการณ์บทเรียนชีวิตให้เราฉลาดขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น มีภูมิต้านทานมากขึ้น และข้อพึงระลึกอีกประการคือ เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเราเพียงคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับแทบทุกคน เกิดขึ้นตลอดเวลา เรื่องราวความทุกข์ของเราจึงเป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์ทั้งหมด ไม่ใช่ตัวเราที่ทุกข์ เครียด กังวลอยู่คนเดียว ดังนั้นคำตอบของทางออกหรือการเอาตัวรอดจากแรงเสียดทาน จึงอยู่ที่ความสามารถในการมองเห็นคำตอบ หรือทางเลือกที่ปรารถนา เพื่อพาตัวเองออกจากแรงเสียดทาน ความเครียด ภาะกดดันนั้นๆ จากสภาพการณ์ที่แวดล้อมเราอยู่
ความสามารถนี้ ต้องอาศัยคุณภาพฐานสติปัญญาในตัวเรา ทั้งในแง่ ฐานสติปัญญาการคิดนึก การมีความรู้ ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ต่อมาคือ ฐานสติปัญญาด้านอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความเมตตากรุณา การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความใส่ใจในความสุข ความทุกข์ คุณภาพจิตใจแบบนักกีฬา และสุดท้าย ฐานสติปัญญาด้านร่างกาย นั่นคือ สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ทักษะความสามารถเนื่องด้วยร่างกาย ฐานติปัญญาโดยรวมเหล่านี้ เราอาจเรียกรวมๆ ว่า จิตมั่งคั่ง ในความหมายของความรุ่มรวยในทรัพยากรต่างๆ ที่จะช่วยเราเอาตัวรอดจากแรงเสียดทานที่มักเข้ามาในชีวิตเสมอๆ
องค์ประกอบของจิตมั่งคั่งในฐานะทรัพยากรสนับสนุนชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสมในตัวเรา การดำเนินชีวิตที่ไม่ประมาท จึงหมายถึงการเตรียมพร้อมสั่งสมในทรัพยากรชีวิตเหล่านี้ การทำคุณความดี การละเว้นการกระทำในความชั่วร้าย รวมไปถึงการฝึกฝนปฏิบัติสมาธิ สติในจิตใจจึงต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นในเชิงรูปธรรมกับชีวิต องค์ประกอบจึงเริ่มตั้งแต่
๑) ความฉลาดทางอารมณ์: การรู้จักและเท่าทันอารมณ์ ต่างๆ ในตนเอง รวมไปถึงการมีอารมณ์เชิงจิตวิญญาณ เช่น ความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความกตัญญูกตเวที
๒) การมีทัศนคติในทางบวก การมีความคิด ความเชื่อที่ดีต่อชีวิต ต่อผู้คนและสิ่งรอบตัว การมีความรู้ ความเข้าใจต่อความจริง การมีความสามารถแยกแยะสิ่งถูก สิ่งผิด
๓) การบ่มเพาะทางจิตวิญญาณ เช่น การฝึกฝนปฏิบัติในเรื่องคุณธรรม การมีหลักจริยธรรมในการดำเนินชีวิต
๔) การมีความรู้ ความสามารถ รวมไปถึงการมีความเชี่ยวชาญเพื่อเพิ่มพูนความสามารถด้านอาชีพการงาน
๕) การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง การสะสมทรัพย์สมบัติเพื่อเป็นฐานชีวิต
๖) การมีกัลยาณมิตร กิจกรรม สภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลชีวิต เป็นต้น
ทุกแรงเสียดทานที่ผ่านเข้ามา อาจกลายเป็นประสบการณ์ชีวิตให้เราฉลาดขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น มีภูมิต้านทานมากขึ้น
การหย่าร้างในครอบครัวของแดเนียล อาจดูเป็นสิ่งเลวร้ายในภาวะที่หัวหน้าครอบครัวอยู่ในภาวะพิการ อีกทั้งภาระครอบครัวกับลูก ๒ คน ท่ามกลางความโกรธเกรี้ยว ความผิดหวังที่แต่ละฝ่ายสาดซัดใส่กันในระหว่างกระบวนการหย่าร้าง หรือแม้แต่หลังจากนั้น แดเนียลพบว่า ตนเองได้เป็นอิสระจากความกลัว ความกังวล ความเครียดที่รุมเร้าจิตใจมาตลอด ทั้งความกลัวต่อเรื่องการต้องอยู่เพียงลำพัง การถูกทอดทิ้ง กลัวต่อการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายแดเนียลก็พบว่า ตนเองอยู่ได้ ความเลวร้ายที่เคยอยู่ในจินตนาการ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ขณะที่ก่อนหน้านั้น ความกลัว ก่อความเครียดและแรงกดดันสาหัส ทว่าความรู้ความสามารถทางจิตวิทยาก็ช่วยให้แดเนียลได้ทำงานที่มีคุณค่ากับตนเองและผู้คน รวมถึงการเรียนรู้ที่จะยอมรับและมีความสุข
ปัญหาแม้ดูร้ายแรง ทำร้ายร่างกายและจิตใจแสนสาหัส แต่ในที่สุดเมื่อเราผ่านมาได้ เราก็จะพบว่า ปัญหานี้ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น ฉลาดขึ้น เติบโตมากขึ้น และความสามารถนี้ก็มีแต่เพิ่มพูนไม่มีสูญหาย เหมือนทักษะว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ฯลฯ เมื่อเราทำได้แล้ว เราก็จะทำได้ดียิ่งขึ้น หรืออาจเท่าเดิมแต่จะไม่ย่ำแย่ลง จิตมั่งคั่งก็เติบโตในลักษณะนี้