จำได้ว่า สมัยเมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนเคยได้ฟังธรรมะจากพระอาจารย์รูปหนึ่ง ท่านตั้งคำถามกับพวกเราหลายคนให้ใช้วิจารณญาณว่า “ระหว่างความดีกับความชั่วนั้น สิ่งใดกระทำยากหรือง่ายกว่า” คำถามนี้เป็นประเด็นที่แต่ละคนต้องชั่งน้ำหนัก ทบทวนประสบการณ์ชีวิต อาจคาดเดาจากข้อมูลความรู้ที่เคยรับรู้หรือสัมผัส ในที่สุดแต่ละคนก็ได้คำตอบของตนเอง บ้างก็ตอบว่า ทำความดีง่ายกว่าทำชั่ว บางคนก็ว่าทำชั่วง่ายกว่าทำดี จากนั้นก็อภิปรายแลกเปลี่ยนเหตุผลกัน
ผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรกับคำถามข้างต้น อะไรคือหลักเกณฑ์ตัดสิน และไม่ว่าอะไรจะยากหรือง่ายกว่า เราควรมีท่าทีอย่างไร ในช่วงนี้ประเด็นข่าวที่ผู้เขียนสนใจคือ พฤติกรรมของบุคคลที่มีอำนาจและชื่อเสียงในคณะกรรมการการบินไทย กระทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรม ก่อเกิดปฏิกิริยาทางสังคมที่น่าจับตา และหมายถึงการสื่อพฤติกรรมน่าละอายต่อผู้คนในสังคม
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ รวมถึงหนังสือพิมพ์หลายฉบับลงตีพิมพ์ข่าวถึงผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยใช้อำนาจหน้าที่เพื่อสิทธิพิเศษนำเข้ากระเป๋าร่วมเกือบ ๔๐ ใบ น้ำหนักร่วม ๔๐๐ กิโลกรัม กล่าวอย่างง่ายและสรุปก็คือ พฤติกรรมเช่นนี้คือการกระทำที่มิชอบ เป็นพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบสมบัติของส่วนรวมมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในแวดวงองค์กรและรับรู้ในผู้คนที่เกี่ยวข้องไม่มาก แต่กลับกลายเป็นข่าวครึกโครมสู่สื่อมวลชน เนื่องจากพนักงานการบินไทยรับไม่ได้กับพฤติกรรมเช่นนี้ซึ่งเกิดขึ้นมานาน
คำอธิบายจากผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ (๑๒ ธ.ค. ๕๒) คือ
“สังคมไทยก็ต้องช่วยกัน ตั้งแต่ผมมานั่งฝ่ายบริหารมีคนขอผมทุกวัน ถ้าไม่ให้ก็ไม่รู้จะมองหน้ากันยังไง ฝ่ายบริหารทุกคนก็ถูกขอเหมือนกัน นอกจากขอเพิ่มน้ำหนักบรรทุกแล้ว คนเหล่านี้ยังขอให้ตำรวจหรือทหารระดับสูงมารับถึงในสนามบินเพื่อนำของออกไปด้วย”
จากคำอธิบายข้างต้น ประเด็นที่เชื่อมโยงสืบเนื่องคือ น้ำใจกับความเกรงใจถูกนำมาผูกติดกับสิทธิพิเศษจากอำนาจหน้าที่ ความสับสนระหว่างความสัมพันธ์ส่วนตัว เรื่องส่วนตัวกับตำแหน่งหน้าที่ในการงานที่เนื่องกับสมบัติของส่วนรวม และวัฒนธรรมผิดๆ ที่บั่นทอนศีลธรรม กัดเซาะสังคม และแย่งชิงทรัพยากร
ยามที่ใครสักคนหนึ่งกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และยิ่งหากคนผู้นั้นมีอำนาจและบทบาทหน้าที่ การกระทำอันไม่ถูกต้อง ละเมิดศีลธรรมและหลักจริยธรรม คนผู้นั้นไม่ได้กำลังสร้างผลกรรมให้กับตนเอง แต่ยังสร้างผลกรรม ผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เนื่องเพราะเกิดการแพร่เชื้อตัวอย่างของความประพฤติผิดๆ คนรุ่นหลัง ลูกน้อง ญาติมิตร ครอบครัว ก็ได้รับรู้และเรียนรู้ตัวอย่างเช่นนี้ ที่นำไปสู่การเพิกเฉยต่อศีลธรรมและความละอายเกรงกลัวต่อบาป
อีกประเด็นข่าวที่ดูเหมือนเรื่องธรรมดาหากเกิดขึ้นกับคนทั่วไป แต่เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นกับคนดังระดับโลก คือ ข่าวคราวการนอกใจภรรยาของไทเกอร์ วูดส์ นักกอล์ฟดังขวัญใจของคนทั่วโลก ซึ่งเนื้อข่าวแจ้งว่าเกิดขึ้นหลายครั้ง มีการเผยแพร่ภาพวิดีโอลับของไทเกอร์ วูดส์ กับชู้รัก กระทั่งต้องมีคำสั่งศาลระงับการเผยแพร่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ การแตกร้าวของครอบครัว ความนิยมของสาธารณชนที่มีต่อไทเกอร์ วูดส์ลดน้อยลงมาก และอาจมีผลทำให้เขาต้องเลิกอาชีพนักกอล์ฟ ชื่อเสียงของการเป็นนักกอล์ฟมืออาชีพ ความเป็นเลิศทางกีฬา กลายเป็นสิ่งไร้ความหมาย เมื่อชื่อเสียงเหล่านี้ต้องหมองมัวด้วยพฤติกรรมส่ำส่อนทางเพศและการนอกใจภรรยา ประเด็นที่เชื่อมโยงคือ ชื่อเสียงนำมาซึ่งทุกขลาภ เพศรสคือแรงดึงดูดที่ยากต้านทาน ความชื่อสัตย์และสุจริตเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการฝึกฝนทางจิตใจ
คนส่วนใหญ่มักคิดถึงความมั่นคง และการมีความสามารถในการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย และครอบครองทรัพย์สินอันมีค่า ดังนั้น เงินและผลประโยชน์จึงเป็นคำตอบสุดท้ายของเรื่องนี้ แต่กระนั้นสิ่งที่คนเรามักหลงลืมคือ ทรัพย์สินอันมีค่า คือการมีคุณความดีในตนเอง ในฐานะความน่าเชื่อถือ ความน่าเคารพและพึงกราบไหว้ หรือการมีความรู้สึกที่ดีและเคารพนับถือต่ออีกฝ่าย แต่ทรัพย์สินเช่นการมีคุณความดีนี้จะไร้ความหมายสิ้นเชิง หากเราไม่เชื่อ ไม่ถือเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญของชีวิต
การที่เราเชื่ออะไร เชื่อในสิ่งใด เนื่องเพราะเรามองว่าสิ่งที่เชื่อมันเป็นความจริงที่พึงเคารพ พึงถือปฏิบัติ สำหรับหลายคน ความจริงที่พวกเขามองเห็นคือ ความจริงในระดับโลกียธรรม เป็นความจริงที่มองเห็น สัมผัสได้ง่ายและหยาบ เช่น ความสุขมาจากการครอบครอง ความร่ำรวย เงิน คือคำตอบชีวิต ความสุข-ทุกข์มีอยู่เพียงในโลกนี้ และอาจรวมถึงการมีความเชื่อ มิจฉาทิฐิผิดๆ เช่น คุณความดีไม่มีอยู่จริง และเมื่อมองเห็นแต่ความจริงเพียงระดับนี้ การกระทำที่ไร้ศีลธรรม ไร้ความรับผิดชอบก็เกิดขึ้นได้ง่าย
เหนือพ้นความจริงในระดับโลกียธรรม คือ เรายังมีความจริงในระดับปรมัตถธรรม ความจริงที่อยู่เหนือพ้นการชั่งตวงวัดทางวิทยาศาสตร์ เช่น บาปบุญคุณโทษมีอยู่จริง นิพพานมีอยู่จริง สำหรับผู้ที่เชื่อถือในความจริงระดับปรมัตถธรรม การดำรงชีวิตย่อมต้องประกอบด้วยการถือครองศีลธรรม การมีธรรมะเป็นหลักปฏิบัตินำชีวิต และการมีหลักธรรมะในจิตใจ หมายถึงการมีเครื่องคุ้มครองชีวิตคอยปกป้อง เหมือนคำกล่าวที่ว่า “สุจริตคือ เกราะบัง ศาสตร์ป้อง” หรือพระธรรมบทที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
ชื่อเสียงนำมาซึ่งทุกขลาภ เพศรสคือแรงดึงดูดที่ยากต้านทาน ความชื่อสัตย์และสุจริตต้องอาศัยการฝึกฝนทางจิตใจ
เรื่องราวการประพฤติผิดข้างต้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายกับทุกคน หากเราละเลยศีลธรรมหรือหลักธรระมะประจำใจ กระนั้นก็ไม่ใช่เหตุผลให้เรายอมจำนนกับแรงกระตุ้นให้กระทำสิ่งที่ไม่ชอบธรรม สิ่งสำคัญคือ เราหันกลับมาทบทวนความคิด ความเชื่อ ว่ามีความเป็นสัมมาทิฐิหรือไม่ อย่างไร อีกด้านก็คือการหมั่นฝึกฝน พัฒนาจิตใจ
ธรรมชาติของจิตใจมักไหลลงสู่ที่ต่ำ ซึ่งหมายถึงการมีความเสื่อมเป็นธรรมชาติของจิตใจ กระนั้นธรรมชาติของจิตใจอีกด้านก็คือ จิตใจสามารถฝึกฝนเรียนรู้ได้ ดังนั้นเราสามารถฝึกฝนจิตใจให้มีความเข้มแข็งต่อการยั่วเย้าให้เราหลงจากคุณความดี และจิตใจสามารถพัฒนาให้มีความสว่าง สะอาด สงบ จากธรรมะเพื่อเป็นที่พึ่งที่แท้
ดังนั้น ย้อนกลับมาที่คำถามช่วงต้น ความดี-ความชั่ว อะไรทำง่ายหรือยากกว่ากัน คำตอบที่ผู้เขียนได้ฟังและติดประทับในใจก็คือ คนดีทำความดีง่าย ขณะที่คนชั่วก็ทำความชั่วง่าย
เราไม่ได้รังเกียจคนทำชั่ว แต่เราคงต้องช่วยกันสั่งสอนให้คนทำชั่วหลาบจำ และหมดโอกาสทำชั่วด้วย