แต่ละวันของชีวิตที่ผ่านไปกับสิ่งที่ไขว่คว้า และหนีห่าง

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 8 กรกฎาคม 2006

ชีวิตที่ครุ่นคิดมากกับเรื่องราวต่างๆ นานา จะเป็นอย่างไร  แล้วชีวิตที่ดำเนินไปตามวัฏจักรกิจวัตรประจำวันโดยไม่คิดตั้งคำถามหรือตรึกตรองอะไรนักกับสิ่งรอบตัว ชีวิตเช่นนี้จะเป็นเช่นไร

ปรีดี (นามสมมุติ) อายุ ๓๓ ปี ทำงานในองค์กรขนาดเล็ก แต่งงาน มีครอบครัวที่กำลังเริ่มต้น เขาต้องเดินทางบ่อยๆ  และยิ่งเมื่อภรรยากำลังมีสมาชิกคนใหม่ ปรีดียิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้น  ปรีดีเป็นคนง่ายๆ มีเป้าหมายชัดเจนในตัวเองถึงการสร้างความมั่นคงในครอบครัว  แต่ความที่เป็นคนเกรงใจคนอื่นมาก จึงมักรู้สึกลำบากใจมากๆ เมื่อต้องปฏิเสธความต้องการของผู้อื่น  เขาจึงมักถูกเบียดเบียนเวลา พลังงานกับเรื่องราวของคนอื่นเสมอๆ จนไม่ได้ดูแลเรื่องสำคัญของตนเองเท่าที่ควร  ปรีดีคาดหวังว่าลูกคงเป็นหลักยึดสำคัญให้กับเขาได้ที่จะเลิกละจุดอ่อนนี้ของเขา

สุภีร์ (นามสมมุติ) อายุ ๓๒ ปี ทำงานในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เธอเป็นสาวโสด รักการผจญภัยและความแปลกใหม่  เนื่องด้วยเหตุผลความจำเป็นด้านการเงิน ความเบื่อหน่ายกับสภาพแวดล้อมที่ดูจำเจ และความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับเพื่อนชาย  เมื่อบริษัทมีการรับงานธุรกิจในต่างประเทศ เธอตัดสินใจรับงานนี้  แต่เมื่อทำงานไปได้ ๒ เดือน ความตื่นเต้นในความแปลกใหม่เริ่มจางคลาย ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับนายจ้าง รวมถึงความแปลกแยกกับสภาพสังคม  เธอรู้สึกอึดอัด เบื่อ ต้องการออกจากงาน แต่ก็ต้องอดทนเพราะความจำเป็นการทางเงิน  เธอมักครุ่นคิดถึงทางเลือกของชีวิตในแบบอื่นๆ ที่ให้ตนเองไม่ต้องถูกจำกัดเช่นนี้ตลอดเวลา

ทั้ง ๒ จะเป็นใครก็ตาม ภาพชีวิตของทั้ง ๒ คงไม่แตกต่างกับชีวิตจริงของหลายๆ คนในสังคม มากบ้าง น้อยบ้างตามแง่มุมต่างๆ  เรื่องราวชีวิตจริงย่อมคละเคล้าไปด้วยความรู้สึกนึกคิดต่างๆ อาจเป็นความรู้สึกเบื่อหน่าย ยามเมื่อต้องอยู่กับสิ่งซ้ำซาก อยู่กับวงจรชีวิตเดิมๆ อึดอัด คับข้อง หงุดหงิดกับสิ่งรอบตัวที่ไม่เป็นดังใจ  ความรู้สึกเชิงลบจะทำงานร่วมกับความนึกคิดต่างๆ คอยรบกวน ผลักดันและส่งอิทธิพลให้เจ้าของความคิดต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนา และเพื่อได้หลีกห่างหนีพ้นจากสิ่งไม่พึงปรารถนา

ชีวิตที่ครุ่นคิดมากกับเรื่องราวต่างๆ นานา จะเป็นอย่างไร  แล้วชีวิตที่ดำเนินไปโดยไม่คิดตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ชีวิตเช่นนี้จะเป็นอย่างไร

ความทุกข์กายอาจเป็นและไม่เป็นปัญหาสำคัญของหลายๆ คน  แต่สำหรับความทุกข์ใจ ทุกคนต่างๆ ต้องประสบและต่างต้องช่วยเหลือตนเองตามวิถีทาง สติปัญญา และเงื่อนไขเฉพาะตน  ความรู้สึกนึกคิดเชิงลบต่างๆ เช่น ผิดหวัง เหงา เศร้า เสียใจ โกรธ เกลียด กระหาย ฯลฯ เป็นความทุกข์ใจที่ผลักดันให้เราต้องการเป็นอิสระจากอะไรบางอย่างที่ทำเราต้องทุกข์ใจ  สุภีร์ปรารถนาที่จะเป็นอิสระจากสภาพการทำงานที่ทำให้ตนรู้สึกเบื่อรู้สึกไร้สุข  ปรีดีปรารถนาที่จะเป็นอิสระจากอุปนิสัยข้อด้อยของตน  เราทุกคนต่างก็มีความปรารถนาที่จะเป็นอิสระจากสภาพขื่อคาอะไรบางอย่าง  ทั้งขื่อคาที่มองเห็นได้ง่ายและได้ยาก เช่น ระบบกฎเกณฑ์ สังคมวัฒนธรรม ค่านิยม ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ตามอุปนิสัยและความเคยชิน  บางคนทำตามความปรารถนานั้นสำเร็จ บางคนทำไม่ได้ก็ต้องลงเอยด้วยการอยู่กับขื่อคานั้น อาจรอคอยเวลา เงื่อนไข หรืออาจยอมจำนน

กระนั้นเราทุกคนก็ต้องตอบคำถามสำคัญในลำดับถัดมา อิสรภาพนั้นจะได้มาเพื่ออะไร  เราต่างล้วนมีสายสัมพันธ์และมีผลกระทบกับสรรพสิ่งรอบตัวทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น  อิสรภาพจากบางสิ่งที่เป็นพันธะ ขื่อคา หรือโซ่ล่ามกับบางสิ่งก็ตาม  อิสรภาพนี้มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันเป็น ๒ ด้านในเหรียญเดียวกัน  อิสรภาพเพื่ออะไรบางอย่างจึงเป็นความรับผิดชอบที่เราพึงมีต่อตนเอง ต่อบุคคลรอบข้าง ต่อบทบาทหน้าที่ ฯลฯ  หลายคนมักถามหาโอกาสหรือความเป็นไปได้ในการไม่ต้องอยู่กับความรับผิดชอบ  อาจเป็นไปได้ แต่โชคร้ายที่ติดมาด้วย คือ เราก็ต้องเผชิญกับความรู้สึกถึงความว่างเปล่าภายใน ความรู้สึกถึงการไร้ความหมาย  ทางออกของหลายคนอาจลงเอยด้วยการฝากคุณค่าชีวิตกับการทำงาน ครอบครัว การบริโภค การปรนเปรอความสุข หรือแม้แต่การทำให้ตนเองมึนเมาด้วยสุราหรือยาเสพติด  ความรับผิดชอบจึงเป็นขื่อคาและเงื่อนไขอันหนักหนาจนทำให้หลายคนเลือกปฏิเสธการได้มาซึ่งอิสรภาพ

วิธีการทั่วไปในการปฏิเสธอิสรภาพที่ง่ายและได้ผล คือ การเอาตัวเองเข้ายึดมั่นกับบางสิ่งเพื่อให้ตนเองได้อยู่กับบางสิ่งที่ทำให้ตนเองรู้สึกมั่นคงภายใน เช่น การงาน คู่รัก ครอบครัว ชาติ สังคม อุดมการณ์ ความสุขสำราญ การบริโภค ฯลฯ  ด้านหนึ่งของการเกาะกุมความมั่นคงทำให้เรารู้สึกปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่งความมั่นคงในชีวิตของเราก็ถูกกำกับไปกับสิ่งภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้หรือได้ยาก  ทุกข์สุขของแปรปลี่ยนไปตามสิ่งที่เรายึดถือ  การดำเนินชีวิต การตัดสินใจ การแสดงออกซึ่งศักยภาพที่มีอยู่ในตัวถูกกำหนดและควบคุมด้วยสิ่งที่เรายึดถือ  เช่น เมื่อเรารักความสะดวกสบาย เราย่อมไม่อาจกล้าเผชิญความยากลำบาก เราต้องหลีกเลี่ยงการตัดสินใจ การทำอะไรที่จะกระทบความสะดวกสบายของเรา

บทความนี้กำลังบอกเล่าอะไร เพราะดูเหมือนว่าขณะที่เราวิ่งหนีสิ่งหนึ่ง เราก็ต้องเผชิญกับบางสิ่งที่ไม่ต่างจากการหนีเสือปะจระเข้  หลายคนอาจมองว่านี่คือเรื่องปกติในแต่ละวันของชีวิตที่ผ่านไป  บางทีสิ่งที่แตกต่าง ก็คือ ภาวะความรู้ตัวและการตัดสินใจเลือกกระทำ เลือกดำเนินชีวิตในแบบใดก็ตาม ด้วยความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น  ทั้งผลลัพธ์ทางธรรมชาติ เช่น ความรู้สึก ความนึกคิด ประสบการณ์ในตนเอง และผลลัพธ์ทางสังคม เช่น การลงโทษ ให้รางวัลจากเงื่อนไขบริบทสังคม

แต่ละวันของชีวิตที่ผ่านไปในแต่ละคนอาจไม่แตกต่าง  แต่สิ่งที่แตกต่างสำคัญคือ ภาวะความรู้ตัวและการเป็นตัดสินใจเลือกด้วยตนเองต่อการดำเนินชีวิต การกระทำหนึ่งๆ และรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ใดๆ ที่จะเกิดขึ้น  ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยความรู้ตัว รู้ตัวต่อสิ่งที่กำลังกระทำ ต่อผลลัพธ์จากการกระทำ ย่อมแตกต่างจากชีวิตที่สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ โดยขาดการตระหนักรู้

ชีวิต คือ ชีวิตที่ต้องดำรงและอยู่รอด  เราต่างหากที่ต้องให้ความหมายกับชีวิตด้วยความตระหนักรู้ต่อชีวิตที่กำลังดำเนินไปในแต่ละวัน


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน