“อาจารย์… รักหนูมั้ย” คือคำถามที่เพื่อนผมคนหนึ่งได้รับจากลูกศิษย์ เขาบอกว่านักศึกษาคนนี้ได้เข้ามาขอคุยด้วยในเย็นวันหนึ่งหลังเลิกเรียน
เรื่องนี้ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายท่านอาจจะคิดล่วงหน้าไปแล้วนะครับ แต่อาจจะเลวร้ายกว่าที่คิด นักศึกษาคนนี้บอกกับเพื่อนผมต่ออีกว่า
“หนูว่าไม่มีใครรักหนู เพื่อนๆ ก็ไม่มีใครชอบหนู…ไม่มีใครอยากให้หนูอยู่กลุ่มเดียวกับเค้า” ทุกคนโล่งอกไปตามๆ กัน
หลังจากได้รายละเอียดเพิ่มเติม คนในวงสนทนาของเราวันนั้นส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่อง “พ่อแม่รังแกหนู” เพราะเธอให้ข้อมูลเพิ่มว่า … จริงๆ แล้วเธอชอบอ่าน ชอบเรียนประวัติศาสตร์และวรรณคดีมากๆ แต่ที่บ้านให้สอบใหม่ บอกว่าให้เรียนวิชาชีพ เพราะไม่ตกงาน มีเกียรติ และได้เงินเดือนดีกว่า …
สิ่งที่พ่อแม่มอบให้เหล่านี้ จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย และทำไปด้วยความหวังดีล้วนๆ ลูกๆ จำนวนมากก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยวิธีการนี้ หลายคนเพิ่งสำนึกเห็นคุณค่าที่พ่อแม่เคี่ยวเข็ญบังคับเอาก็เมื่อพบกับภาวะวิกฤติในชีวิต
แต่ปัญหาที่รุนแรงส่วนหนึ่งเกิดขึ้น เมื่อการส่งเสริมกลายเป็นการบังคับฝืนใจให้เด็กทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ ไม่สนใจเลย กับอีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะสังคมเปลี่ยนไป ยุคนี้สังคมมีเสรีภาพมากขึ้น เด็กได้รับข้อมูลมากขึ้น คิดเองมากขึ้น และได้รับอิทธิพลจากเพื่อนมากขึ้น การใช้วิธีการบังคับแบบเดิมแม้จะทำด้วยความหวังดีเต็มร้อยแต่ก็อาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นมากกว่าในเด็กที่เก่ง เพราะดูเหมือนว่าทำได้ดีไปหมด สามารถสอบเข้าเรียนในคณะที่พ่อแม่มุ่งหวังได้
แต่เมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยกับเพื่อนที่ถูกคัดมาแล้วซึ่งล้วนเก่งไม่แพ้กัน ในสถานการณ์การเรียนหนักขึ้นซับซ้อนขึ้น หากปรับตัวไม่ได้ หรือเมื่อเริ่มมั่นใจว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร ปัญหาก็จะเริ่มปรากฏขึ้น จะมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นกับความสามารถในการปรับตัว เพื่อนฝูงที่คบอยู่ ระบบการให้คำปรึกษาของสถาบันการศึกษา และที่สำคัญคือบรรยากาศการพูดคุยในครอบครัว
อาจมีลูกที่ดีหลายคนที่ยอมกัดฟันเรียนจนจบให้พ่อแม่ได้ชื่นใจ และต้องการพิสูจน์ว่าตัวเองทำได้และได้ทำตามสิ่งที่พ่อแม่หวังไว้แล้ว แต่อาจไม่สนใจทำงานในสาขาอาชีพที่เรียนมา น่าเสียดายความรู้ที่เรียนมาและถือเป็นการสูญเสียในด้านการลงทุนทางการศึกษาอย่างหนึ่ง
แต่ก็มีไม่น้อยที่เรียนไม่จบ ยิ่งถ้าพื้นฐานการเลี้ยงดูมาไม่ดี ไม่มีเพื่อนหรือคนให้คำปรึกษาที่ดี ทางบ้านไม่ยอมเข้าใจก็อาจกลายเป็นคนที่ชีวิตล้มเหลว ถึงขั้นเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็มาก
เพื่อนผมบอกว่าเด็กที่เข้ามาเรียนในสาขาที่ตัวไม่ชอบพบบ่อยขึ้นในระยะหลัง หากมองในด้านดีก็อาจเป็นไปได้ที่เยาวชนสมัยนี้เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น รู้ว่าตัวเองชอบ ไม่ชอบอะไร อยากเป็นอะไรหรือทำงานอะไร และกล้าที่จะเปิดเผยออกมา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะเห็นอิทธิพลของสังคมที่มาครอบงำวิถีชีวิตผู้คน ทำให้พ่อแม่ก็มองแต่อาชีพที่มีความมั่นคงตามกรอบที่ตัวเองเห็นคุณค่า ส่วนเยาวชนก็เรียนกันตามแฟชั่นตามเพื่อน คิดว่าเป็นอาชีพการงานที่เท่ห์ที่สนุกตามกระแส เมื่อยึดในระบบคุณค่าที่ไม่สอดคล้องกันก็เกิดความขัดแย้งตามมา
บทเรียนที่เราได้รับจากเรื่องนี้ หากเราอยู่ในฐานะของพ่อแม่ก็อยากบอกว่าไม่ใช่เรื่องผิดหรอกที่เราเคี่ยวเข็ญแนะนำทางที่ดีให้ลูก แต่ก็อย่าลืมสนใจดูแลความรู้สึกของลูกบ้าง เพราะในที่สุดนั่นคือชีวิตของเขาทั้งชีวิต ที่เขาควรมีส่วนได้ร่วมสร้างสรรค์และกำหนดความเป็นไปด้วย
แต่ถ้าเราเป็นลูกที่กำลังถูกขีดเส้นให้เดินหรือเคยอยู่ในภาวะนี้ ก็อยากให้ใช้เวลาทบทวนให้ถ้วนถี่ว่าแนวทางที่ท่านขีดไว้ด้วยความปรารถนาดีนั้นมันเหลือบ่ากว่าแรงเพียงใด เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะประยุกต์เอาพรสวรรค์เอาความถนัดที่เรามีมาผนวกกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้ตามที่ถูกกำหนดไว้
จริงหรือที่เราต้องเรียนสาขาที่เรารักเราชอบเท่านั้น จึงจะทำให้เรามีชีวิตที่มีความสุข จริงหรือว่าเราจะไม่สามารถมีความสุขได้เลย ในวิชาเรียนที่น่าเบื่อ หรือในงานที่จำเจ ไม่ถนัด
ประเด็นที่น่าคิดคือ ความน่าเบื่อ การไม่มีความสุขในการเรียน การใช้ชีวิตนั้น จริงๆ แล้วมันอยู่ที่เนื้อหาของวิชาเรียน หรือว่าอยู่ที่ตัวอาจารย์บางท่านที่มีเทคนิคการสอนไม่ดี อยู่ที่คำพูดเพื่อนๆ ที่วิจารณ์กรอกหูเราทุกวัน อยู่ที่ค่านิยมของสังคมที่บอกว่าสาขานั้นสาขานี้ซิถึงจะดี หรือว่าอยู่ที่ใจของเราเองมากกว่า
หลายคนเมื่อคิดทบทวนในคำถามเหล่านี้แล้วกลับพบว่า วิชาที่เรียนหรืองานที่ทำอยู่ความจริงแล้วมันก็ไม่ได้เลวร้ายนักหรอก เราสามารถประยุกต์เอาความถนัดที่เรามีมาใช้ในงานได้ไม่ยาก หรือไม่ก็ทำเป็นงานอดิเรกไปเลย
แต่ตัวปัญหาใหญ่มันอยู่ที่ใจของเราเองที่คิดวนเวียนปรุงแต่งอยู่กับเรื่องนี้ ให้ปัญหามันใหญ่โต ซับซ้อน รุนแรงมากขึ้นๆ จนรู้สึกทนไม่ไหว เห็นแต่ข้อเสีย ข้อจำกัด ยิ่งมีเพื่อนมาร่วมวิจารณ์ยิ่งปรุงแต่งกันไปอีก แล้วก็ฝันเห็นแต่ข้อดีของอีกด้านหนึ่งโดยแทบไม่ได้นึกถึงข้อเสียที่มีเลย
จริงหรือว่าเราจะไม่สามารถมีความสุขได้เลย ในวิชาเรียนที่น่าเบื่อ หรือในงานที่จำเจ ไม่ถนัด
การปรุงแต่งของจิตใจเราเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้สิ่งที่ไม่ใช่ปัญหา กลายเป็นปัญหาขึ้นมา หรือทำให้ปัญหาเล็กๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่โตจนสร้างผลร้ายตามมาได้มากมาย
การฝึกจิตคุมใจไม่ให้ปรุงแต่งเลยเถิดจนฟุ้งซ่าน จึงเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของชาวพุทธ บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมกลวิธีมากมายไว้ให้เราใช้ฝึกสติเจริญปัญญา
ปัญหาในสังคมตอนนี้หลายอย่างรุนแรงเกินเหตุ ก็เพราะเราละเลยการดูแลจิตใจของพวกเรา เราปล่อยให้ค่านิยมใหม่ๆ จากต่างประเทศมาปั่นจิตใจเราให้ฟุ้งเฟ้อฟูมฟาย
หากตอนนี้รู้สึกว่าชีวิตช่างทุกข์เสียเหลือเกิน ผมอยากให้ลองกลับมานั่นเงียบๆ ทบทวน แล้วหาเทคนิคการฝึกจิตคุมใจที่คิดว่าถูกจริตกับเรามาลองปฏิบัติดู ความทุกข์ที่ใหญ่โตท่วมท้นอาจหายไปได้ในพริบตา เพียงเพราะเราคุมจิตคุมใจมากขึ้น พร้อมทั้งปรับท่าทีในการมองโลกมองชีวิตเสียใหม่
เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น หลายครั้งก็มีข้อจำกัดจนเราไม่สามารถเข้าไปจัดการกับต้นเหตุได้ แต่สิ่งที่เราทำได้อย่างเต็มที่เพื่อให้เราทุกข์น้อยลง คือการเฝ้าดูจิตใจเราไม่ให้ปรุงแต่งเกินเลยไป
ลองทบทวนดูดีๆ ว่า ความทุกข์ที่ถั่งโถมเข้ามาอยู่ทุกวันนี้ ต้นเหตุอยู่ที่ใจเราเองสักกี่มากน้อย
แล้วเราจะปล่อยให้ใจเราทำร้ายตัวเราเองอยู่ต่อไปทำไม