นิทานกับเรื่องจริง

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 16 พฤษภาคม 2010

หนูน้อยหมวกแดงเป็นเรื่องราวการผจญภัยของเด็กหญิงที่สวมหมวกแดง เด็กหญิงอายุราว ๑๐ ขวบ เช้าสดใสวันหนึ่งเธอขอนุญาตคุณแม่เพื่อไปเยี่ยมคุณยายที่ชายป่าแห่งหนึ่ง ห่างไกลพอสมควรจากบ้านของเธอ  แม่ของหนูน้อยไม่อยากให้เธอเดินทางเพียงลำพัง แต่เมื่อทนการรบเร้าไม่ได้ เธอจึงอนุญาตพร้อมกับกำชับให้ระมัดระวังตัว อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า  หนูน้อยออกจากบ้านด้วยความร่าเริงสดใส แวะดูดอกไม้ข้างทาง เพลิดเพลินจนออกนอกเส้นทาง และแล้วหมาป่าหิวโซตัวหนึ่งก็ออกมาพบเข้า

ด้วยเล่ห์เหลี่ยมที่หลอกล่อ บวกกับความใสซื่อของของหนูน้อย เจ้าหมาป่าจึงคิดวางแผนชั่วร้ายทันที มันเข้ามาพูดคุยตีสนิทกระทั่งหนูน้อยหลงเชื่อ มันอาสาไปส่งหนูน้อยที่บ้านคุณยายเพื่อคอยดูแลระหว่างทาง  ยังไม่ทันถึงบ้าน หมาป่าอ้างมีเหตุจำเป็นขอตัวลาจากไป แท้ที่จริง หมาป่ารีบเร่งไปที่บ้านคุณยายล่วงหน้า หลอกล่อให้คุณยายเปิดประตูรับ หมาป่ากัดกินคุณยาย จากนั้นมันก็สวมรอยเป็นคุณยาย รอคอยหนูน้อยหมวกแดงเพื่อจับกินเป็นอาหาร  มันนึกดีใจที่วันนี้มันได้ลาภถึง ๒ ครั้ง และแล้วหนูน้อยหมวกแดงก็เดินทางมาถึง เธอรู้สึกแปลกใจว่าเหตุใดรูปร่างหน้าตาของคุณยายจึงเปลี่ยนไป แต่ก็สายเกินการณ์ หมาป่าจับตัวหนูน้อยกินเป็นอาหาร

แต่เพราะเรื่องนี้เป็นนิทาน จึงไม่สมควรจบลงด้วยโศกนาฏกรรม การที่หนูน้อยหมวกแดงตัวแทนความใสซื่อต้องพบกับชะตากรรมเช่นนี้ดูเป็นเรื่องเลวร้าย เรื่องราวจึงดำเนินต่อไป คือ ระหว่างที่หนูน้อยกำลังวิ่งหนีหมาป่า ก็มีนายพรานในละแวกนั้นผ่านมาพบเข้าจึงได้เข้าช่วยเหลือ นายพรานยิงธนูฆ่าหมาป่าตาย และผ่าท้องก็พบว่าคุณยายยังไม่ตาย ทั้งยายและหลานจึงได้รอดพ้นอันตราย สำหรับนายพรานก็ได้รับคำขอบคุณและชื่นชมเป็นอย่างมากในฐานะผู้ช่วยเหลือ

บทบาทหน้าที่ประการหนึ่งของนิทาน คือ การเป็นคติสอนใจ เป็นรูปแบบหนึ่งของการอบรมสั่งสอนเด็กๆ ในเรื่องของการดำเนินชีวิต การเชื่อฟังพ่อแม่ การใช้วิจารณาญาณ  นิทานยังเป็นสื่อที่สอนให้เด็กๆ รู้จักตัวแทนของสื่อนามธรรมต่างๆ ในโลกรอบตัว  หมาป่าคือตัวแทนที่สื่อถึงรูปลักษณ์ของสัตว์ร้ายน่าเกลียด น่ากลัว ตัวแทนความชั่วร้ายในรูปของความคดโกง หลอกลวง  ขณะที่นายพรานคือ ตัวแทนของความกล้าหาญและการปกป้องคุ้มครองผู้ที่อ่อนแอกว่า

กระนั้นเรื่องราวในนิทานก็สะท้อนและบอกเล่าด้วยว่า ในสังคมที่แวดล้อมนั้นมีความชั่วร้ายซ่อนเร้นอยู่ มีคนจำนวนมากมายที่ประพฤติตัวไม่แตกต่างจากหมาป่า ขณะเดียวกันความใสซื่อของหนูน้อยหมวกแดงก็อาจไม่แตกต่างจากความไม่รู้ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่รอบด้าน และภาวะข้อจำกัดของการใช้วิจารณญาณของหนูน้อยหมวกแดง  โชคร้ายที่สังคมที่เป็นอยู่คือ สังคมที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ความใสซื่อดังกล่าวกลายเป็นเหยื่อของความคดโกงหลอกลวง ความใสซื่อจะได้รับการคุ้มครองปกป้องก็ต้องอาศัยบุคคลแบบนายพราน ตัวแทนของความเข้มแข้งกล้าหาญ และความรัก ความเมตตา ซึ่งนี้คือสิ่งที่สังคมต้องการ

บรรยากาศกรุงเทพมหานคร วันที่ 20 พฤษภาคม

จากนิทานก้าวสู่ชีวิตจริงในสังคม สังคมในฐานะองค์ประกอบหลากหลายที่อยู่ร่วมกัน โดยมีวัฒนธรรมและค่านิยมเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นและเป็นกรอบที่ครอบสังคมด้วยนั้น  พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ชี้ว่า วัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อสังคมทุกวันนี้ และเป็นเรื่องท้าทายสำคัญคือ วัฒนธรรมแห่งความละโมภ อันประกอบด้วย กิน กาม เกียรติ  และวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง อันประกอบด้วย โกรธ เกลียด กลัว  วัฒนธรรมทั้งสองต่างทำงานประสานโดยมีอัตตาของแต่ละคนในสังคมมาร่วมกัน กลายเป็นอัตตาร่วมของสังคมที่ยึดถือตัวตนคอยขับเคลื่อน แต่ทั้งหมดก็เพื่อตอบสนองและปรนเปรอความพึงพอใจของอัตตาตลอดเวลาโดยไม่มีวันหยุด

วัฒนธรรมแห่งความละโมภ ทำงานภายใต้ตัวตนที่มุ่งแสวงหาการบริโภค การแสวงหาความสุขจากการบริโภคเพื่อมาเติมเต็มความสุขให้มากยิ่งๆ ขึ้น  ขณะเดียวกันก็เพื่อหลบเลี่ยงความว่างเปล่า ความโดดเดี่ยวในจิตใจ  ลึกๆ จิตใจของพวกเราต่างสัมผัสได้ถึงความว่างเปล่า และการบริโภคแม้จะเป็นการตอบสนองชั่วครั้งชั่วคราว แต่พวกเราต่างก็ยึดถือราวกับมันเป็นยาขนานเอกที่รักษาได้ผล  น่าเสียดายที่ยาตัวนี้สร้างผลข้างเคียงที่รุนแรง  การแสวงหาอำนาจ การหาความสุขจากเพศสัมพันธ์ เครื่องดื่มมึนเมา เกมการพนัน การพร้อมใช้ความรุนแรงเพื่อได้มาซึ่งการตอบสนอง ทั้งหมดถูกกระทำเพื่อตอบสนองรวมศูนย์มาที่อัตตา ให้อัตตารู้สึกถึงความสุข เพลิดเพลิน พอใจกับกิน กาม เกียรติ  สิ่งที่ย่ำแย่มีอยู่ข้อเดียวคือ อัตตาไม่เคยพอ

วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง คือ โกรธ  เกลียด กลัว เกิดขึ้นยามที่เราต้องพานพบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา สิ่งที่ไม่ชอบใจ  พลังของอารมณ์ความรู้สึกโกรธมันพร้อมพวยพุ่งขยายตัว อัตตาเบ่งบานพร้อมแสดงพลังเพื่อทำลายสิ่งที่ก่อความขัดเคือง  เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ สะท้อนให้เห็นความโกรธที่ขยายตัวเป็นความเกลียดชัง ประสานร่วมกับความกลัว จนต้องทำลาย ฆ่าฟัน เพราะทนรับหรือทนอยู่ร่วมกับสิ่งที่กลัวไม่ได้  ตัวอย่างของพลังความแค้นเคืองพยาบาทจากความอยุติธรรม คือตัวอย่างพลังที่เปรียบไฟที่เผาผลาญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  มีก็แต่ความเมตตาและการให้อภัยที่จะเยียวยาไฟพยาบาทนี้

บรรยากาศการจุดเทียนและวางพวงมาลัย บริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เมษายน เมื่อวันที่ 11 เมษายน

ความเข้มแข้งกล้าหาญ และความรัก ความเมตตา คือสิ่งที่สังคมไทยต้องการ

ช่วงที่ผ่านมาของเหตุการณ์การเมือง กลุ่มรณรงค์สันติพยายามทำงานอย่างหนัก หลายกลุ่มรู้สึกขัดเคืองกับท่าที “ไม่ได้ดั่งใจ” ของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทหารตำรวจ  ทันทีความอดทนขาดหาย ความรุนแรงก็พร้อมแสดงตัว เพราะเชื่อว่าได้ผลเร็วกว่า แต่หลงลืมไปว่า ความรุนแรงลูกใหม่ก็กำลังก่อตัวด้วย และมันก็จะไม่มีวันจบสิ้น

ในนิทานเราสามารถนำพาเรื่องราวให้จบลงอย่างไรก็ได้  ในสังคมเราก็สามารถทำเช่นนั้นได้ เพียงแต่สังคมนั้นใหญ่โตเกินกว่าเราคนเดียวจะทำได้ ต้องอาศัยความตระหนักรู้และความร่วมมือระหว่างกัน  เริ่มต้นด้วยการตระหนักรู้กับวงจรการทำงานและผลกระทบของวัฒนธรรมความละโมภและความเกลียดชัง  ระลึกเสมอว่า เราต่างต้องอยู่ร่วมกันอีกนาน ทั้งหนูน้อยหมวกแดง หมาป่า คุณยาย รวมถึงนายพราน ต่างอยู่แวดล้อมด้วยกัน และต้องอยู่ร่วมกัน  มีแต่หนทางของการไม่เบียดเบียน และขันธิรรมที่จะช่วยพวกเราทุกคนก้าวพ้นวัฒนธรรมทำลายเช่นนี้


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน