เติมสุขให้ใจ อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล

เครือข่ายพุทธิกา 22 มกราคม 2024

อนุโมทนาที่ทุกท่านได้มาร่วมกันทำสิ่งดีๆ ทราบว่ามีรุ่นลูกหลานเรามาเป็นจิตอาสา หลายๆ คนมีความประทับใจ ทั้งงานที่ทำและพี่เลี้ยงที่เป็นจิตอาสา ที่เป็นรุ่นพี่หรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ด้วยซ้ำ สิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยและญาติ ลึกลงไปเป็นสิ่งที่ช่วยเติมความสุขให้กับจิตใจเราด้วย

มีคนเปรียบว่าความสุขเหมือนกับผีเสื้อ บางคนอยากได้ผีเสื้อต้องคอยไล่ล่าตามจับ ตามสวน หรือว่าตามชายป่า แต่มีวิธีที่ผีเสื้อจะมาหาเราเอง โดยที่ไม่ต้องไปไล่ล่าตามหาเขา วิธีนั้นก็คือปลูกต้นไม้ ปลูกดอกไม้ไว้ในสวนของเรา ไว้ในบ้านของเรา ถ้าปลูกดอกไม้ไว้ในที่ของเรา ผีเสื้อก็จะมาเอง หลายคนเข้าใจว่าความสุขเป็นสิ่งที่ต้องไปตามล่าหามันมา ไปตามหาความสุขตามห้าง ตามร้านอาหาร ตามผับบาร์ หรือบางทีไปไกลถึงต่างประเทศ แท้จริงแล้วความสุขสามารถพรั่งพรูสู่ใจเราได้ไม่ยาก โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไล่ล่าตามหาความสุขอย่างที่กล่าวมาเลย

การปลูกดอกไม้ไว้ที่บ้านของเราก็หมายถึงการทำกายวาจาใจให้งดงาม ถ้าเราทำให้ใจของเรา กาย วาจา ใจของเรา ให้งดงามเหมือนดอกไม้ ความสุขก็จะมาสู่ใจของเราเอง ความสุขมี 2 ชนิด หลายคนเข้าใจว่าความสุขมีชนิดเดียวคือความสุขที่เกิดจากการกิน การเสพ หลายคนคิดว่าจะมีความสุขได้ต้องไปกิน เที่ยว ดื่ม หรือไม่ก็เล่น ช็อปปิง ความสุขแบบนี้ต้องใช้เงิน จะได้กินของดีๆ อร่อยๆ จะได้ไปเที่ยวไกลๆ ต้องมีเงิน เงินก็เลยกลายเป็นสรณะของคนจำนวนมาก ถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีความสุข หรือมีเงินน้อยก็สุขน้อย แต่จริงๆ แล้วยังมีความสุขอีกชนิดหนึ่ง คือความสุขที่เกิดจากการทำ ซึ่งต่างจากความสุขจากการเสพ ความสุขจากการทำ เป็นความสุขที่ยั่งยืนกว่า และคำว่าทำ มีหลายอย่าง เริ่มต้นตั้งแต่การทำความดี เช่น ช่วยเหลือผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่นสามารถจะเป็นสิ่งที่เติมความสุขให้กับใจของเราได้

มีเรื่องราวมากมายของคนที่พบความสุขเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่น เคยมีจิตอาสาคนหนึ่งไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับศูนย์เด็กอ่อนที่บ้านปากเกร็ด บ้านปากเกร็ดมีเด็กเล็กตั้งแต่ 6-7 เดือน จนถึง 9-10 ขวบ พ่อแม่ไม่มีความสามารถในการเลี้ยงเด็กเหล่านี้ ก็มาให้ศูนย์สงเคราะห์เลี้ยง เจ้าหน้าที่ก็ไม่พอ เลยเปิดรับจิตอาสามาเป็นพี่เลี้ยง จิตอาสาคนนี้ปกติเป็นไมเกรน กินยาระงับปวดเป็นประจำ เมื่ออาสาเป็นพี่เลี้ยง แกไปทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ไปทำจิตอาสาไม่ถึง 3 เดือนด้วยซ้ำ วันหนึ่งแกก็สังเกตว่า ระยะหลังแกลืมกินยา ปกติกินยาระงับปวดทุกวัน แกก็ถามตัวเองว่า ทำไมฉันลืมกินยา ก็เพราะไม่ได้ปวดหัว วันไหนมาเป็นจิตอาสา วันนั้นจะไม่ปวดหัว พอไม่ปวดก็เลยลืมกินยา ก็เลยคิดว่า ทีแรกจะไปให้ความสุขกับเด็ก แต่ที่จริงเด็กกลับให้ความสุขกับเรา ทีแรกคิดว่าเราจะไปช่วยเด็ก แต่ที่จริงเด็กกลับช่วยเรา

หลายคนมีประสบการณ์ทำนองนี้ เดิมทีคิดว่าจะไปให้ความสุขกับคนที่ทุกข์ยาก แต่พอลงมือทำแล้ว ปรากฏว่าตัวเองกลับมีความสุข คำว่าเติมสุขให้ใจ ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะใจของผู้ที่เราไปช่วยเท่านั้น แน่นอนว่าผู้ป่วยและญาติที่มาสถาบันประสาทวิทยา เมื่อเจอเราได้รับความช่วยเหลือจากเรา ได้รับการอำนวยความสะดวกจากเรา เขาก็มีความสุข เขาดีใจ ไม่ใช่ดีใจเพราะทำอะไรได้คล่องแคล่วขึ้น ไม่หลงทิศหลงทาง แต่ปลาบปลื้มใจที่มีคนมีน้ำใจดี มาช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ ในสถานที่ที่เขาแทบจะช่วยตัวเองไม่ได้ เพราะไม่คุ้นเคย

ชาวบ้านเวลามาโรงพยาบาลจะเหมือนมาอยู่อีกโลกหนึ่ง ซึ่งเขาไม่มีความมั่นใจ ทำอะไรไม่ถูก เหมือนกับเราถ้าไปอยู่ต่างประเทศที่เราไม่รู้จักคุ้นเคย เราจะวิตกมาก แต่พอมีใครสักคนหยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้ก็จะมีความสุขมาก มีความปลาบปลื้มใจ แต่ไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยและญาตินะที่เขามีความสุข พวกเราเองซึ่งเป็นจิตอาสา อาตมาก็เชื่อว่า เราก็ได้รับความสุขเหมือนกัน เพราะเวลาเราเห็นคนที่ลำบากคนที่เดือดร้อนเขามีความสุข เพราะการกระทำของเรา เพราะน้ำใจของเรา เราก็พลอยมีความสุขไปด้วย นี่เป็นประสบการณ์ของหลายคนที่ไปเป็นจิตอาสา บางคนก็พบว่า ไม่ใช่แค่ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวเหมือนกับเรากินของอร่อย ได้ฟังเพลงเพราะ ได้ดูหนังที่สนุก แต่ว่ามันซึมซาบใจ และทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นมา

อาตมาเคยไปไต้หวันเมื่อ 10 ปีก่อน ไปดูงานของมูลนิธิฉือจี้ มูลนิธินี้ผู้นำเป็นภิกษุณี ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เยอะแยะ ตั้งแต่โรงเรียน โรงพยาบาล วิทยาลัย รวมทั้งที่ขึ้นชื่อของเขาคือกิจกรรมช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม ฉือจี้มีสถานีแยกขยะ ตอนที่อาตมาไปมี 5,000 สถานีทั่วประเทศ ป่านนี้คงเป็นหมื่นแล้ว เวลาพูดถึงสถานีเราอาจนึกถึงโรงงานใหญ่ๆ แต่ที่จริงคล้ายๆ โกดัง และมีคนสูงวัยมานั่งทำงานและแยกขยะ เอาวัสดุที่มีประโยชน์มารีไซเคิล เช่น หัวจุก ขวดน้ำพลาสติก หรือว่าแกะเอาสายไฟฟ้า สายลวดมารีไซเคิลใหม่

คนที่ทำส่วนใหญ่เป็นอาซิ้มอาแปะ แต่จริงๆ หลายคนเคยเป็นผู้จัดการธนาคาร เคยเป็นวิศวกร สถาปนิก นักธุรกิจ พอเกษียณแล้วก็เสนอตัวมาเป็นจิตอาสา สถานที่ที่เขาทำคือโกดังไม่ได้ติดแอร์ ก็ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนกับออฟฟิศที่เขาเคยอยู่ แต่ว่าคนสูงวัยเหล่านี้ทำงานอย่างมีชีวิตชีวา มีความสุขมาก มีคุณลุงคนหนึ่งบอกว่า ผมคือขยะคืนชีพ แกบอกว่า ตอนที่เกษียณใหม่ๆ แกมีความสุขมาก ได้เที่ยว ไปดูหนัง ไปช็อปปิง กินของอร่อย แต่ทำอย่างนี้ไปสักปีสองปีเริ่มเบื่อแล้ว และรู้สึกเคว้งคว้าง เพราะไม่มีอะไรทำ ไม่เหมือนคนแก่ในชนบทบ้านเรา มีอะไรให้ทำเยอะ เลี้ยงหลาน ทอเสื่อ สานตะกร้า แต่ผู้สูงอายุในเมืองพอเกษียณแล้ว มีแต่กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ไม่มีอะไรให้ทำเป็นเรื่องเป็นราว รู้สึกเคว้งคว้าง สุดท้ายรู้สึกว่าตัวเองเป็นขยะ คือไม่มีประโยชน์ แต่พอมาเป็นจิตอาสาที่สถานีแยกขยะของฉือจี้ ถึงแม้จะไม่สะดวกสบายเหมือนออฟฟิศที่เคยอยู่ แต่มีความสุขมีชีวิตชีวา จึงเรียกว่า “ขยะคืนชีพ”

การเป็นจิตอาสานอกจากได้ทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมให้กับสังคม ซึ่งเป็นการเติมความสุขให้กับชีวิต ให้กับจิตใจแล้ว ก็ยังช่วยให้ตัวเองมีคุณค่ามีความหมาย แต่ละวันมีเป้าหมาย คนเราถ้าวันหนึ่งไม่มีอะไรทำ จนถึงจุดหนึ่งไม่มีเป้าหมายในชีวิต มันเคว้งนะ เดี๋ยวนี้ผู้เฒ่าผู้แก่ในเมืองมักบ่นว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ที่ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เพราะวันๆ ไม่มีอะไรทำ ตื่นมาก็รู้สึกเคว้งคว้าง มีคนมาปรึกษาอาตมาเยอะว่า เดี๋ยวนี้ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกเบื่อ รู้สึกเคว้งคว้าง เงินทองไม่ขาดนะ แต่จิตใจว่างเปล่า อาตมาเลยแนะนำว่า ให้ลองหาอะไรทำ ให้ลองตั้งเป้าในชีวิตว่าแต่ละวันๆ ว่าเราจะทำอะไร ตื่นขึ้นมาจะทำอะไร จะทำให้เรามีชีวิตชีวาขึ้นมา และสิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า มีความหมายก็คือการเป็นจิตอาสา

การทำอะไรเพื่อส่วนรวม แม้จะไม่ได้เป็นลักษณะของการทำสม่ำเสมอ แค่แต่ละวันตื่นขึ้นมาเรารู้ว่า มีอะไรที่อยากจะทำ หรือมีอะไรที่เราน่าจะทำ ก็ทำให้ชีวิตในแต่ละวันมีคุณค่า

อานิสงส์อย่างหนึ่งของการเป็นจิตอาสา คือ ช่วยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจ ความสุขนี่นอกจากจะเกิดจากการทำความดี เห็นคนอื่นเขามีความสุขจากการช่วยเหลือของเราแล้ว มันยังเกิดขึ้นจากการที่เราได้ฝึกใจให้ความเห็นแก่ตัวลดลง ความยึดติดถือมั่นลดน้อยลง

มีจิตอาสาในบ้านปากเกร็ดหลายคนพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงในตัวเขา อย่างมีเด็กคนหนึ่งชื่อน้องด้ายอายุ 14 หลังจากที่ไปเป็นจิตอาสา 3-4 เดือน แม่บอกว่าน้องด้ายนิ่งสุขุมขึ้น ใช้เหตุผลฟังคนอื่นมากขึ้น ใช้อารมณ์น้อยลง เด็กเกิดความเปลี่ยนแปลงภายใน และแน่นอนจากคนที่เคยอารมณ์ร้อนวู่วาม กลายเป็นคนที่เย็น เจ้าตัวย่อมรู้สึกว่ามีความสุขมากขึ้น และไม่ใช่เฉพาะเด็กอายุ 14 ผู้ใหญ่อายุ 30, 40 บางคนเป็นเจ้านาย เป็นนักธุรกิจ ใจร้อน พูดจากระโชกโฮกฮากกับลูกน้อง พอมาเป็นจิตอาสาให้กับเด็ก หลายคนบอกว่าใจเย็นลง อ่อนโยนมากขึ้น เพราะว่าจะใช้ความเคยชินเดิมๆ กับเด็กไม่ได้ จะใช้ความใจร้อนวู่วามไม่ได้ ต้องใจเย็น คนที่นึกถึงเด็ก เขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้เด็กมีความสุข บางทีเด็กอาจร้องไห้งอแง ผู้ใหญ่ก็ต้องใจเย็น และพยายามเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงร้องไห้ ไม่เหมือนเวลาทำงานกับลูกน้อง ถ้าลูกน้องงอแง เจ้านายอาจจะด่า แต่พอคนเดียวกันมาดูแลเด็กก็รู้ว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ เราต้องใจเย็น พยายามเข้าใจเขา พยายามฟังเขาให้มากขึ้น หลายคนพบว่านิสัยเปลี่ยนแปลงไป บุคลิกเปลี่ยนแปลงไป คนรอบตัวตั้งข้อสังเกตได้ เช่น แม่ของน้องด้าย หรือลูกน้องของนักธุรกิจ บอกว่าลูกพี่ใจเย็นมากขึ้น แน่นอนว่า เจ้าตัวย่อมรู้สึกถึงความสุขที่เกิดขึ้นจากการที่ไปเป็นจิตอาสา ไม่เฉพาะกับเด็กนะ จิตอาสาที่ทำงานกับผู้ใหญ่ กับผู้ป่วย กับญาติ ถ้าหากว่าสังเกตตัวเองน่าจะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่จิตใจ เพราะคนเราเวลานึกถึงผู้อื่น เราจะทำตามใจตัวเราเองน้อยลง จะหุนหันพลันแล่นน้อยลง เราจะฟังมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นการช่วยลดละสิ่งที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ทำกิเลสให้เบาบางลง

“อานิสงส์อย่างหนึ่งของการเป็นจิตอาสา คือ ช่วยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจ”

คนเราถ้าความเห็นแก่ตัวลดลง กิเลสลดลง ความยึดติดถือมั่นหรืออุปาทานน้อยลง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความเบา ความสบายของจิตใจ ความโปร่ง ความโล่ง คนเราถ้าเอาแต่ใจตัวเอง เราจะเป็นคนที่มีความทุกข์ง่าย มีความสุขได้ยาก ลูกที่เอาแต่ใจตัวเองก็จะหาความสุขได้ยาก แต่ลูกที่นึกถึงความรู้สึกของผู้เป็นพ่อแม่จะพยายามอ่อนโยนกับพ่อแม่ ฟังความเห็นของพ่อแม่มากขึ้น เอาใจตัวเองน้อยลง ก็จะมีความสุขได้ง่าย อันนี้เป็นความรู้สึกของผู้ชายคนหนึ่งที่เขาเรียนรู้ที่จะนึกถึงพ่อแม่มากขึ้น หลังจากที่เขาตระหนักว่า พ่อแม่จะตายจากเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ทำให้เขาตระหนักว่า เราควรปฏิบัติกับพ่อแม่อย่างเสมือนว่าจะเป็นวันสุดท้าย พอคิดแบบนี้ใจมันเปลี่ยนเลย นิสัยเริ่มเปลี่ยน เพราะว่าจะต้องอ่อนโยนกับบุพการีมากขึ้น เพราะท่านจะไปจากเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ทำแบบนี้ฝืนความเคยชิน ฝืนนิสัยเดิมๆ แต่สิ่งที่ตามมาคือความสุข ความเบาสบาย ไม่เฉพาะความสุข ความสัมพันธ์ที่ราบรื่นระหว่างลูกกับพ่อแม่ แต่ยังเป็นเพราะว่ากิเลสเบาบาง ก็มีช่องว่างให้กับความสุขมากขึ้น

จิตอาสาหลายคนพอนึกถึงเด็ก นึกถึงผู้ป่วย นึกถึงญาติผู้ป่วย แม้ว่าอาจมีความไม่พอใจคนบางคน เช่น อาจไม่พอใจพยาบาล ไม่พอใจเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล หรืออาจไม่พอใจจิตอาสาด้วยกันเอง แต่เขารู้จักอดกลั้น เพราะรู้ว่า ถ้าหากปล่อยใจไปตามอารมณ์เหมือนอย่างที่เคยทำ จะส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ต่องาน ต่อคนที่เขาต้องการช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นเขาจะมีความอดกลั้นมากขึ้น ซึ่งก็นำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจคนที่เห็นต่าง

การทำงานเพื่อส่วนรวมแม้เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราไม่ระวัง ตัวอัตตาจะเข้ามาครองใจ อัตตาอาจหมายถึงว่า ความยึดมั่นถือมั่นในความคิด หรือการไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนอื่น เป็นเรื่องของอัตตาทั้งสิ้น หรือความคิดว่าที่ว่า ฉันเป็นคนดีนะ มาทำเพื่อส่วนรวม ไม่ได้มาทำเพื่อลาภสักการะ เพื่อเงินทอง ทำไมเธอพูดกับฉันแบบนี้ อันนี้เป็นความคิดหรือปฏิกิริยาที่เกิดจากการเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ถ้าเราทำเพื่อส่วนรวมจริงๆ เราจะไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เราจะระมัดระวังว่า สิ่งที่ทำ เราทำเพื่อส่วนรวม เพื่อผู้ป่วย หรือทำเพื่อตัวเราเอง อันนี้เป็นเรื่องยากนะ ไม่ต่างจากพ่อแม่ พ่อแม่ทุกคนบอกรักลูก แต่บ่อยครั้งสิ่งที่พ่อแม่ทำกลายเป็นการทำเพื่อตัวเองในนามความรักลูก เช่น เคี่ยวเข็ญบังคับให้ลูกทำตามใจตัวเอง ให้ลูกเรียนในคณะที่พ่อแม่อยากให้ลูกมีชีวิตอย่างที่พ่อแม่ต้องการ พูดง่ายๆ คือให้ลูกมีชีวิตแบบของพ่อแม่ ไม่ใช่แบบของตัวลูกเอง แบบนี้ถือว่าเป็นการทำเพื่อตัวเอง แต่เจ้าตัวไม่รู้ นึกว่าทำเพื่อลูก และลูกก็มีความทุกข์ เพราะถูกคาดหวังให้ต้องใช้ชีวิตสานต่อความฝันของพ่อแม่ แต่ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อสานต่อความฝันของตัวเอง อันนี้เรียกว่า ไม่รู้เท่าทันตัวเอง เรียกว่าทำเพื่อตัวเองในนามความรักลูก

เวลาเราทำเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าหากว่าเราไม่ระมัดระวังตรงนี้ ก็อาจกลายเป็นการทำเพื่อตัวเอง และพอเราทำเพื่อตัวเอง เราจะมีความทุกข์ เวลาเห็นอะไรไม่เป็นไปตามใจของตัวจะหงุดหงิด เวลาเห็นใครต่อใครมีความเห็นไม่ตรงกับเรา เราก็จะไม่พอใจ คนเราถ้าเอาอัตตาเป็นที่ตั้งจะมีความสุขยาก มีความทุกข์ได้ง่าย นี่เป็นได้กับทุกคนทุกองค์การ แม้กระทั่งกับพระ พระแม้จะมุ่งลดละกิเลส แต่ถ้าไม่ระวัง สิ่งที่ทำการทำเพื่อสนองความยึดมั่นถือมั่นของตัวเอง หรือสนองอุปาทานของตัวเอง ก็มีความทุกข์ และสร้างความทุกข์ให้กับคนอื่นด้วย

“คนเราถ้าความเห็นแก่ตัวลดลง ความยึดติดถือมั่นน้อยลง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความเบาสบายของจิตใจ”

เมื่อมาทำงานจิตอาสา เราควรหันกลับมาพิจารณาตัวเองอยู่เสมอว่า นี่เราทำเพื่อใคร เราทำเพื่อตัวเอง หรือทำเพื่อผู้อื่น หรือเพื่อส่วนรวม และแน่นอนถ้าเราทำเพื่อส่วนรวม เราจะปล่อยวางมากขึ้น ใครมาพูดกระทบความรู้สึกของเรา จะไม่เอามาเป็นอารมณ์มาก เพราะเรารู้ว่าถ้าโมโหมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน เดี๋ยวมันก็เสียงานเสียการ เกิดปัญหากับส่วนรวม และทำให้เดือดร้อนกับคนที่เราจะช่วย คนที่นึกถึงส่วนรวม เขาจะมีความอดกลั้น แม้จะมีอะไรมากระทบกับตัวตน ก็ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะเอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง พอวางใจแบบนี้จะมีความสุขได้ง่าย มีอะไรมากระทบก็ไม่กระเทือน ปล่อยวางได้ ไม่ถือสา ก็คงเหมือนพ่อแม่ บางทีก็มีเรื่องทะเลาะกันตามประสาสามีภรรยา แต่ด้วยความรักลูก เขาจะมีความอดทนอดกลั้นระหว่างสามีภรรยา ไม่ปล่อยใจไปตามอารมณ์ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เอาความเห็นของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่เอาความทุกข์ของตัวเองมาเป็นใหญ่ แต่ยอมอดกลั้น เพราะนึกถึงความสุขของลูก

คนเราถ้านึกถึงผู้อื่น จะมีกำลังในการลดละความเห็นแก่ตัว มีแรงจูงใจในการปล่อยวาง ไม่ยึดติดถือมั่นในตัวกูของกู และคนเราถ้ายึดมั่นในตัวกูของกูน้อยลง หรือลดละตัวตนได้มากขึ้น จะมีความสุขได้ง่าย และนี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่หลายคนพบความสุขเมื่อมาเป็นจิตอาสา เพราะพอนึกถึงเด็ก ผู้ป่วย คนชรา เป็นที่ตั้งแล้ว เรื่องที่เคยมากระทบกับตัวเอง เขาก็ไม่ถือสา ไม่เอามาเป็นอารมณ์ ปล่อยวางได้ คนเราพอปล่อยวางได้ ไม่เอาอะไรมาเป็นอารมณ์ จะมีความสุขได้ง่าย พูดอีกอย่างหนึ่งคือ พอตัวตนใหญ่ พอมีอะไรมากระทบก็กระเทือน แต่พอตัวตนเล็กลง มีอะไรมากระทบก็เฉี่ยว ก็ผ่าน ไม่มากระแทกเหมือนเมื่อก่อน

ถ้าเราทำงานเป็นจิตอาสา มุ่งประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง และหมั่นมาดูใจเราอยู่เรื่อยๆ สำรวจตรวจสอบว่าที่เราทำ เรากำลังเอาอัตตาตัวเองเป็นที่ตั้งหรือเปล่า กำลังทำเพื่อตัวเองไหม และถ้าหากว่ามีความรู้สึกตรงนี้ ก็พยายามไม่ให้อัตตามาครองใจ ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เวลาใครมาพูดกระทบเรา หรือว่าทำอะไรที่ถูกใจเราก็ไม่เป็นทุกข์มาก เพราะไม่ถือสา ไม่เอามาเป็นอารมณ์ อันนี้แหละเป็นสิ่งที่นำพาความสุขให้กับเรา โดยเฉพาะเวลาเราทำงานจิตอาสา

“การเป็นจิตอาสา นอกจากช่วยเติมความสุขให้กับชีวิต ก็ยังช่วยให้ชีวิตมีคุณค่ามีความหมาย”

คำว่าเติมสุขให้ใจ เติมได้ 2 ลักษณะ คือ หนึ่ง เพราะเราทำดี เราช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อเราช่วยเหลือผู้อื่น เราย่อมได้รับความสุข อันนี้พระพุทธเจ้าสอนไว้ “ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข” ประการที่สองคือทำใจหรือวางใจเป็น ทำดีคือให้ความสุขกับเรา แต่จะให้ความสุขกับเรายิ่งขึ้น ถ้าเรารู้จักทำใจหรือวางใจให้เป็น เช่น รู้จักวิธีปล่อยวางในเรื่องที่มากระทบกับความรู้สึกของเรา รู้จักวางหรือปล่อยในสิ่งที่เคยยึดติดว่าเป็นเราเป็นของเรา พูดง่ายๆ คือลดละอัตตาให้น้อยลง ซึ่งการทำงานจิตอาสาเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดละอัตตา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อรักษาผู้อื่นก็เท่ากับรักษาตัวเอง รักษาผู้อื่นหมายความว่า ช่วยเหลือผู้อื่น ทำดีให้แก่ผู้อื่น ย่อมก่อประโยชน์ให้แก่ตนเอง ประโยชน์ต่อตนเองไม่ใช่หมายถึงลาภ สักการะ แต่หมายถึงกิเลสที่เบาบาง ตัวตนที่เล็กลง ซึ่งจะตามมาด้วยความสุขที่มากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าหากเราหันกลับมาดูใจของเราอยู่เสมอระหว่างที่ทำเพื่อส่วนรวม อย่างที่เรียกว่าทำกิจและทำจิต ทำดีไปด้วย ทำใจไปด้วย ก็ทำให้ความสุขพรั่งพรูสู่ใจเรา ช่วยทำให้กายและใจของเรางดงาม เหมือนกับปลูกดอกไม้ไว้ที่บ้านของเรา ผีเสื้อก็จะมาเอง ไม่ต้องไปตามไล่ล่าหาผีเสื้อที่ไหน


พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ณ สถาบันประสาทวิทยา

#เติมสุข #อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล