เมื่อมีอาการปรี๊ดแตกจะแก้ไขอย่างไรดี

เครือข่ายพุทธิกา 25 พฤศจิกายน 2024


ถ้าหากว่าเราเดินหนีออกจากสถานการณ์นั้นได้ก็ควรทำ เพื่อไม่ให้เรามีอาการปรี๊ดแตก แต่ถ้าเราต้องอยู่ในเหตุการณ์ในสถานะการณ์นั้นในสถานที่นั้น สิ่งที่เราทำได้คือเอาใจมาอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ สัก 10 ครั้ง ใหม่ๆ ใจจะไม่ยอมอยู่กับลมหายใจ แต่จะไปอยู่กับเหตุการณ์ที่ไม่สบอารมณ์ ไปอยู่กับความโกรธที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดว่าเราทำบ่อยๆ หรือหายใจไปสักพัก ใจเราก็จะค่อยๆ เย็นลง

พอใจมาอยู่กับลมหายใจก็จะเบาเหมือนกับลมหายใจ พูดง่ายๆ คือเปลี่ยนความสนใจของจิตจากไปสนใจคำพูดของแม่ สนใจการกระทำของคนที่พูดไม่ถูกใจเรา เราเปลี่ยนความสนใจมาอยู่ที่ร่างกายของเรา ที่ลมหายใจ หรือจะมาดูสังเกตอาการของกายก็ได้ ตอนที่โกรธลมหายใจเป็นอย่างไร หัวใจเราเป็นอย่างไร มันเต้น มือ เท้า ขาเกร็งไหม หรือว่าปากเม้มแน่น ลองสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา เพียงแค่รับรู้เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรกับมัน เราก็จะพบว่าความโกรธทุเลาลง เพราะตอนนั้นจิตวางเรื่องราวเหตุการณ์ที่ไม่สบอารมณ์ที่ทำให้หงุดหงิดจนบางทีลืมไปเลย

จิตรับรู้เรื่องอะไรก็จะเป็นอย่างนั้น ถ้าจิตไปรับรู้เรื่องที่โกรธ คำพูดที่ไม่สบอารมณ์ ใจก็จะโกรธไปด้วย แต่ถ้าจิตไปรับรู้สิ่งอื่นแทน เช่น ลมหายใจที่สงบ ที่เบา ใจก็จะพลอยเบาไปด้วย หรือว่าเอาใจไปรับรู้อยู่กับธรรมชาติรอบข้าง วิวทิวทัศน์ ดอกไม้ เสียงนกร้อง ใหม่ๆ ใจไม่ค่อยอยู่แต่ถ้าพอทำไปสักพักใจจะมีสมาธิกับสิ่งนั้น ก็จะหายรุ่มร้อนและความสงบเย็นก็จะค่อยๆ คืบคลานเข้ามาสู่จิตใจของเรา พูดง่ายๆ คือ ต้องรู้จักเปลี่ยนอารมณ์เปลี่ยนความสนใจของจิต ถ้าหากว่าเรายังต้องอยู่ในสถานที่หรือเหตุการณ์นั้นๆ แต่เราเปลี่ยนความสนใจของจิตได้ บางทีมารับรู้ถึงมือที่กำลังกุมอยู่ มารับรู้ถึงหลังที่กำลังพิงพนัก สิ่งเหล่านี้ช่วยทำให้ใจวางความโกรธความหงุดหงิดลงได้ ถ้าทำบ่อยๆ จะหายโกรธได้ไวขึ้นใจก็จะเป็นปกติได้เร็วขึ้น

– พระไพศาล วิสาโล –