เหตุเกิดในพรรษา

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 15 กันยายน 2013

“อิมสฺมิ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสสํ อุเปมิ”  ทันทีที่พระสงฆ์กล่าวคำอธิษฐานเข้าพรรษา ข้อผูกมัดและความรับผิดชอบต่อตนเองที่ต้องอยู่ร่วมกันจำพรรษาตลอดช่วงฤดูฝนก็เริ่มต้นขึ้น จากที่พระภิกษุสามารถเดินทางตามอิสระ  การเข้าพรรษาเป็นประเพณีที่เปิดโอกาสให้พระสงฆ์ต้องมาร่วมวัด ร่วมสังฆกรรม  ดังนั้นช่วงการเข้าพรรษาหลายคนจึงใช้เป็นโอกาสอันดีในการถือปฎิบัติในกิจที่สำคัญ รวมถึงการอธิษฐานความประพฤติในช่วงเวลานี้  เพื่อนของผู้เขียนใช้โอกาสการเข้าพรรษาอธิษฐานงดรับประทานเนื้อสัตว์  บางคนเลือกสมาทานศีลแปด

สำหรับประเพณีวัฒนธรรมพุทธศาสนา การบวชเรียนช่วงเข้าพรรษาเปิดโอกาสให้ผู้ชายสามารถพาตัวเองจากกรอบชีวิตที่อิสระในฐานะฆราวาสมาอยู่ในกรอบของนักบวช  หลายคนอาจได้เตรียมตัว เตรียมใจที่จะเข้าสู่ชีวิตใหม่ ได้ศึกษาหาความรู้ถึงวัตรปฏิบัติของพระภิกษุ กระทำได้มากน้อยตามเงื่อนไขและความตั้งใจ  เพียงข้ามคืนหลังพิธีกรรมการบวช พวกเขาก็ได้เข้าสู่สถานภาพใหม่ ได้รับการปฏิบัติตามความเคารพและความคาดหวังในการประพฤติตัว  สำหรับพระบวชใหม่ต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียวสำหรับการปรับตัว การวางตัว โดยเฉพาะการสำรวมกาย วาจา และใจ  กรอบของพระภิกษุในความหมายศีล สมาธิ ปัญญา ถือเป็นฐานสำคัญของความรู้

สำหรับการบวชเรียนในช่วงพรรษา วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปฏิบัติ ฝึกฝนตน  การเลือกวัดที่พักอาศัย รวมถึงสภาพแวดล้อมและการเลือกสรรและฝากตัวเป็นศิษย์กับครูบาอาจารย์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ  “สัปปายะ” คือศัพท์เฉพาะในพุทธศาสนาที่หมายถึงสิ่งที่เหมาะสม เกื้อกูลสนับสนุนในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย  ความเป็นสัปปายะจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาเลือกสรร ตั้งแต่สถานที่ อาหาร บุคคลแวดล้อม อากาศ ชุมชน  องค์ประกอบเหล่านี้ช่วยให้ช่วงเวลาของการบวชแม้เพียงชั่วคราวมีความหมาย คุณค่า และได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

มูลเหตุสำคัญ คือ ช่วงเวลาเข้าพรรษาที่ทุกชีวิตในวัด ในสถานปฏิบัติธรรมพึงปฏิบัติ คือการไม่สัญจรออกนอกเขตอาวาสโดยไม่มีเหตุอันควร  เงื่อนไขนี้ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้การบวชเรียนมีความหมาย เนื่องเพราะพระภิกษุทุกรูปต้องเผชิญกับสิ่งท้าทาย คือ การอยู่กับตนเอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น  จากปกติที่คนทั่วไปมีอิสระในการเดินทาง ในการประพฤติที่ยืดหยุ่นกว่าพระภิกษุ อิสระในที่นี้ทำให้หลายคนมีช่องทางหลบเลี่ยงการเผชิญหน้า  แต่กรอบความเป็นพระช่วงเวลาเข้าพรรษา พระภิกษุโดยเฉพาะพระบวชใหม่จะต้องเผชิญกับโจทย์ชีวิตในเรื่องนี้โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

กิจของพระภิกษุ คือการประพฤติตามชีวิตพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ในความหมายแบบอย่างการดำเนินชีวิตอันดีงาม คือชีวิตที่ไม่เบียดเบียน  ในอีกความหมายที่ใกล้เคียงคุ้นเคยคือ การศึกษาปฏิบัติธรรม  นิยามความหมายที่กว้างมาก เปิดอิสระให้กับการเรียนรู้ ดังนั้นกิจวัตรที่พระบวชใหม่มักใช้เวลาจึงอาจเป็นการอ่านหนังสือธรรมะ การปฏิบัติสมาธิภาวนา การทำกิจวัตรของสงฆ์ คือ บิณฑบาต ทำวัตร สวดมนต์ ดูแลอาสนะ ทำความสะอาด  อย่างไรก็ดี กิจสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ การสมาคมสังสรรค์ในหมู่เพื่อนพระ และนั่นเป็นโอกาสสำคัญของการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น และโอกาสของการไม่ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับตนเอง

ชีวิตของพระภิกษุ ผู้เขียนขอเปรียบเทียบว่าเหมือนกับชีวิตของนักฟุตบอลที่วิ่งอยู่ในสนาม ตราบที่ยังศึกษาบวชเรียน นักฟุตบอลคนนี้ก็จะได้รับประสบการณ์นี้ ชีวิตของนักบวช ชีวิตของชุมชน  แตกต่างที่นักฟุตบอลคนนี้ไม่มีโคชมากำกับ นักฟุตบอลคนนี้มีอิสระที่จะวิ่งไปไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ยังอยู่ในวินัยและกฎกติกา  สิ่งสำคัญคือ นักฟุตบอลคนนี้จะใช้โอกาสของการมาอยู่ในสนามทำอะไรให้กับตนเอง และให้กับผู้อื่น

“การไม่สัญจรออกนอกเขตอาวาสโดยไม่มีเหตุอันควร” เงื่อนไขนี้ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้การบวชเรียนมีความหมาย

การอยู่กับตนเอง เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เปิดโอกาสให้เราได้เผชิญหน้ากับตนเอง เริ่มตั้งแต่ความสับสนฟุ้งซ่าน ความเบื่อหน่าย โดยเฉพาะความเหงา อาจมีเรื่องของกามฉันทะ ความอยากในอาหารรสเลิศ ความครุ่นคิดถึงบรรยากาศที่คุ้นเคย  พระใหม่บางรูปอาจมีเรื่องราวชีวิตส่วนตัวในเรื่องความเจ็บแค้น ความรัก ความห่วงใยกังวลกับใครบางคน เช่น ศัตรู คนรัก แฟน พ่อแม่ ลูก  คุณค่าสำคัญคือ ช่วงเวลานี้ทำให้เรามีโอกาสทบทวนชีวิตที่ผ่านมา  ความเป็นสัปปายะของสถานที่ บรรยากาศ ช่วยให้เกิดความสงบในจิตใจ ซึ่งเอื้อต่อการคิดนึกทบทวน รวมถึงการปล่อยวางเรื่องราวที่ค้างคาใจ อีกทั้งความสงบจากสถานที่ก็เอื้อต่อการฝึกฝนบำเพ็ญเพียรทางจิต การฝึกฝนที่จะอยู่กับความรู้สึกตัว การมีสติ ความรู้ตัวทั่วพร้อม

การอยู่กับผู้อื่น ตั้งแต่การดูแลพระผู้ใหญ่ การอยู่ร่วมกับเพื่อนพระที่พรรษามากกว่าหรือรุ่นราวเดียวกัน  แม้พระภิกษุจะมีกรอบความเป็นพระ แต่สังคมของพระภิกษุในหลายวัดก็มีเรื่องราวชีวิตประจำวันไม่แตกต่างจากสังคมฆราวาส มีเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทุกสังคม เช่น การใช้อำนาจเป็นใหญ่ การมีพฤติกรรมที่ออกนอกกรอบ ความไม่รับผิดชอบในกิจวัตร การมีอคติขัดเคืองในคำพูดและการกระทำระหว่างกัน  ในขณะเดียวกัน หลายคนก็ได้มิตรแท้และได้มิตรภาพที่มีคุณค่าจากความสัมพันธ์ที่อยู่ร่วมกัน  ช่วงเวลาการอยู่ร่วมกันจึงเป็นช่วงเวลาของการฝึกฝนปฏิบัติ การทดลอง และทดสอบบทเรียนของตนเองภายใต้สภาพคับข้องและขัดเคืองใจ เราจะยังคงรักษาความสงบมั่นคงในจิตใจได้หรือไม่ เพียงใด  หากรักษาไม่ได้ก็มักเกิดสภาพที่เรียกว่า “แหกพรรษา” คือ การไม่สามารถรักษาสัจจะอธิษฐานที่จะอยู่ศึกษาบวชเรียนจนครบพรรษา

การอยู่กับตนเอง และการอยู่กับผู้อื่น เป็นทักษะความสามารถที่ต้องอาศัยเวทีฝึกฝน เริ่มต้นด้วยการลด ละ เลิกกับกิจกรรมที่มักใช้พลังงาน เวลากับเครือข่ายสังคมออนไลน์ มาเป็นการศึกษาเรียนรู้ตนเอง  ชีวิตของพระภิกษุเปิดโอกาสให้เห็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันของสังคมพระและสังคมฆราวาส  ความเชื่อเรื่องการทำบุญกับพระและวัดกลายเป็นฐานสำคัญที่เปิดและรักษาโอกาสนี้  คุณค่าสำคัญคือ การสืบทอดพุทธศาสนา

สำหรับสังคมไทยที่เปิดกว้างในเรื่องการบวชเรียน สิ่งสำคัญคือ การใช้ช่วงเวลานี้ให้มีคุณค่าที่แท้กับชีวิตตนเอง ชีวิตของผู้อื่น และต่อพระศาสนาโดยรวม  การใช้เวลา พลังงาน เพื่ออยู่กับตนเองและอยู่ร่วมเป็นสังคม จึงเป็นไปโดยสอดคล้องกับอุดมคติชีวิตพระภิกษุ คือ การไม่เบียดเบียน


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน