ยินดี – ยินร้าย

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 6 กันยายน 2009

เช้าวันหนึ่ง ผู้เขียนออกจากบ้านแถวงามวงศ์วาน จุดหมายปลายทางคือโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งแถวพระราม ๒  ในบริเวณท่ารถซึ่งผู้เขียนไม่คุ้นเคยนักมีคนเข้าแถวรอรถตู้อยู่ ผู้เขียนทักถามหญิงสาวที่รอรถอยู่เช่นกันว่า รถตู้นี้ไปอนุสาวรีย์ชัยใช่มั้ย หญิงสาวพยักหน้ารับและเงียบ  แล้วเมื่อผู้เขียนนั่งอยู่ในรถตู้ก็พบว่ารถตู้คันนี้ไปอนุสาวรีย์ก็จริง แต่เส้นทางจะต่างออกไป คือ จะขับอ้อมโรงพยาบาลรามาธิบดี และจุดจอดรถจะอยู่บริเวณโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งไม่ใช่ปลายทางที่ผู้เขียนต้องการ  เสียงในใจของผู้เขียนดังขึ้นด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ และโทสะที่คุกรุ่นต่อหญิงสาวในฐานะสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น มันดังแล้วดังอีก ขณะที่ภาพภายนอกผู้เขียนไม่ได้แสดงกิริยาใดๆ ทั้งสิ้น  สิ่งที่เห็นและสัมผัสในใจที่พบคือ จิตใจที่กำลังด่าทอมันฟูฟ่อง สะใจ สบายใจกับการได้ระบายความโกรธ สัมผัสได้ถึงความอร่อยในการได้ระบายโทสะแบบนี้  ขณะเดียวกันก็เห็นอาการของจิตใจที่ด่าทอนั้น เดี๋ยวหาย เดี๋ยวก่อเกิดขึ้นใหม่ และก็หายและมันก็ก่อเกิดใหม่อีก

ผู้เขียนจำได้ว่าความรู้สึกขุ่นมัวยังคงติดค้าง ความหงุดหงิดรำคาญพวยพุ่ง ยามที่รู้สึกว่าคนที่เดินอยู่ตรงหน้าช่างเดินเอื่อยเฉื่อยเหลือเกิน ความคิดวิ่งวนไปถึงสังคมญี่ปุ่น สังคมในเมืองหลวงที่รีบเร่ง มันเป็นเช่นนี้เอง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใด โรคภัยจากความเครียด มะเร็ง หัวใจ ความดัน เบาหวาน จึงเป็นโรคภัยปกติของสังคม  กว่าที่ความรู้สึกขุ่นมัวจะจางหายไปในที่สุด ก็ต่อเมื่อผู้เขียนได้มาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว “ค่อยยังชั่ว ทันเวลา”

ถึงบ้านด้วยความเหนื่อยล้า ละครภาคค่ำที่เปิดอยู่กำลังเข้มข้นด้วยฉากปะทะทางวาจา และตบตี เตะ (เพียะ พลั้ก) ของนางร้ายกับนางร้ายกว่า  ฉากการตบตีของตัวละครหญิงในละครภาคค่ำกลายเป็นฉากพื้นฐานที่ละครทุกช่องต้องมี ผู้เขียนรู้สึกถึงอาการเต้นแรง ตื่นเต้น สนุก และสลับกับอาการของจิตใจที่รู้สึกร้อนรุ่มไปกับอารมณ์เกลียด โกรธ และกลัว ของตัวละครที่แผดเข้ามา

“อย่าดูเลย บั่นทอนสุขภาพกายและจิตใจเปล่าๆ” ผู้เขียนตัดสินใจลุกขึ้น เสียดายอยู่บ้างกับรสอร่อยและเพลิดเพลินจากความตื่นเต้น และการเสพความบันเทิงเพื่อมึนเมาตนเอง  แต่เมื่อได้มานั่งเงียบๆ คนเดียวในห้องพัก ความเคยชินก็ทำให้ผู้เขียนหยิบหนังสือมาอ่าน  วรรณกรรมเยาวชนแปลจากภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องราวของของเด็กหญิงแรกรุ่นที่สูญเสียแม่จากอุบัติเหตุรถตกเขา เธอออกเดินทางพร้อมกับปู่และย่าเพื่อแกะรอยตามเส้นทางที่แม่ของเธอเคยเดินทางก่อนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เรื่องราวสลับไปมากับฉากชีวิตที่อยู่ร่วมกัน ความรักของปู่กับย่า พร้อมกับเรื่องราวคู่ขนาน เด็กหญิงเล่าเรื่องราวของครอบครัวเพื่อนสนิทให้ปู่กับย่าฟังถึงวิกฤตครอบครัวที่เกิดขึ้น แต่ลงท้ายก็จบลงด้วยดี และด้วยการให้อภัย

ผู้เขียนอ่านหนังสือเล่มนี้ช้าๆ ซึมซับอารมณ์ไปกับเรื่องราว รู้สึกได้ถึงความแช่มชื่นที่เข้ามา ประทับใจกับจดหมายรักของวัยแรกรุ่นที่สื่อสารไปมาด้วยถ้อยคำง่ายๆ

“กุหลาบสีแดง  ธุลีสีน้ำตาล    โปรดยอมเป็นคู่รักฉัน  ไม่เช่นนั้นฉันคงทุกข์ใจ” 

“ทะเลทรายแห้งแล้ง  สายฝนชุ่มฉ่ำ     รักที่เธอมอบให้  จะไม่มีวันสูญเปล่า”

เพียงถ้อยคำง่ายๆ ไม่กี่ประโยค แต่สร้างมโนภาพได้อย่างเด่นชัด  ความทรงจำย้อนรำลึกไปถึงฉากชีวิตที่ผ่านมาถึงความทรงจำดีๆ ที่เคยเกิดขึ้น จิตใจเหมือนถูกชโลมด้วยน้ำฝนเย็นชื่นใจ จากความขุ่นข้อง รุ่มร้อน ค่อยๆ สงบและรู้สึกได้ถึงรอยยิ้มในใจ

เราทุกคนต่างมีฉากชีวิตทั้งที่ผ่านมาและกำลังดำเนินไปคอยขับเคลื่อนชีวิต  ฉากชีวิตที่ก่อเกิดความรู้สึกต่างๆ นานา ซึ่งหากเราจำแนกความรู้สึกในใจที่เกิดขึ้นก็คือ ความรู้สึกในเชิงยินดี และยินร้าย  จิตใจเราวิ่งไปมาระหว่างการเข้าหาความยินดี และการหนีห่างจากความยินร้าย  เส้นทางชีวิตที่เคลื่อนจากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันนักว่าตำแหน่งสุดท้ายหรือเส้นทางที่ผ่านพ้นไปส่วนใหญ่ จะเป็นสิ่งพึงปรารถนาน่ายินดี หรือเป็นความเร่าร้อน ทุกข์กาย ทุกข์ใจ  สิ่งที่เราพอทำได้คือ ใช้เส้นทางชีวิตที่ความผิดพลาด โง่เขลา ทุกข์ทรมานเป็นบทเรียนชีวิตต่อไป

ชีวิตที่ดำเนินไปมีภารกิจสำคัญที่พึงรับผิดชอบ คือ ๑) ความรับผิดชอบต่อร่างกาย  ๒) การดูแลรักษาจิต และใจ ความรู้สึกนึกคิด คุณธรรม ความรู้  ๓) การสร้างสรรค์–ถนอมรักษาความสัมพันธ์  และ ๔) การเติบโตในทางจิตวิญญาณ–ธรรมะ  ภารกิจประการที่สี่นี้เองที่เป็นตัวนำทางที่สำคัญที่ช่วยให้เรา “ตื่น-รู้” ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตและเราจะไปอย่างไรต่อ  แต่ภารกิจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ให้คำเตือนสติในเรื่องนี้ว่า “นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ .. และ คนไม่เห็นโลก” เพราะว่าในกระแสของความยินดีและยินร้ายมีแรงดึงดูดให้เราเข้าคลุกวงใน โรมรันพันตูเป็นหนึ่งเดียวกับความยินดี ยินร้ายนั้นๆ

ภาพเปรียบเทียบที่ช่วยให้เห็นภาพก็คือ ตัวเราในฐานะคนขี่ม้า เรากับม้าเป็นสิ่งเดียวกันจนไม่รู้ว่าใครบังคับใคร เราอาจชักจูงม้า เท่าๆ กับที่ม้าก็ลากพาเราไป  แต่หากเราเรียนรู้ถึงความตระหนักรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็แยกออกเป็นผู้ขับขี่ได้ เรากับม้าไม่ใช่สิ่งเดียวกัน  เหมือนกับตัวเรา กับร่างกายและจิตใจที่วิ่งวุ่นระหว่างความยินดีและยินร้ายก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เป็นเพียงสิ่งที่แยกกันแต่สัมพันธ์กันเท่านั้น  ภาวะที่ชั่วครู่หนึ่ง เรารู้ตัวถึงกายและใจ จนเปรียบเหมือนภาวะที่เราตระหนักรู้กับตนเองในฐานะผู้ขับขี่ มีม้าที่เรากำลังขับขี่  ภาวะนี้สลับไปมากับภาวะที่เราหลงลืม เราเข้าร่วมกับม้า จนลืมกายลืมใจของตนเอง ลืมฐานะของตนเอง

เส้นทางชีวิตที่ผ่านพ้น ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันนักว่าส่วนใหญ่จะน่าพึงปรารถนา หรือเร่าร้อนเป็นทุกข์

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ครูบาอาจารย์ที่เคารพรักของหลายๆ ท่านที่ใฝ่ในธรรม ท่านได้ตั้งข้อสังเกตถึงภาวะที่เป็นอยู่ของคนทั่วไปว่า หลายคนหลงทีเดียว คือ หลงแต่เช้าจนถึงก่อนนอน ขณะที่คนที่ศึกษาและปฏิบัติจะเรียนรู้และพบว่าในหนึ่งวันของตนนั้นมีแต่หลงกับรู้ สลับกันไปมาตลอดเวลา  ภาวะที่รู้ตัวว่าหลงมากนี้เอง คือ ภาวะของความรู้ตัว เพราะทันทีที่รู้ตนเองว่าหลงไปแล้วก็คือ ภาวการณ์ตื่นขึ้น

ชีวิตของพวกเราทุกท่านต่างต้องจัดสรรปัน (หลาย) ส่วนให้กับอาชีพการงาน จนเหน็ดเหนื่อยสาหัส กระนั้นก็ไม่เป็นเหตุให้เราจะหลงลืมกายและใจของตน ไม่เป็นเหตุให้เราต้องคลุกจมกับความยินดี ยินร้าย  ดังนั้นเมื่อเราหลงจมกับความยินดี ยินร้าย ชีวิตเรานั่นแหละจะทุกข์ทรมานเพราะความเร่าร้อน

ชีวิตสอนบทเรียนเราเองว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร เมื่อเรา “หลง” หรือ “รู้” กับความยินดี – ยินร้าย


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน