ในระหว่างการอบรม “สู่ชีวิตที่ดีงามและเป็นสุข” (ชีวิตที่เป็นสุขในสังคมบริโภค จัดโดยเสมสิกขาลัย) พระไพศาล วิสาโล ได้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมไปเดินภาวนาในห้างสรรพสินค้าประมาณ ๒ ชั่วโมง โดยให้ทุกคนเฝ้ามองดูจิตของตนเอง เริ่มตั้งแต่มาถึงหน้าห้างเมื่อพบกับป้ายโฆษณาต่างๆ ให้เฝ้ามองภายในว่าจิตกำลังรู้สึกและคิดนึกปรุงแต่งไปอย่างไร และเมื่อเดินสำรวจไปทุกชั้นทุกแผนก โดยเฉพาะแผนกสินค้าที่ตนเองชื่นชอบ ก็ให้รับรู้ภายในว่าจิตกำลังทำงานอย่างไร พร้อมกับเฝ้าสังเกตด้วยว่า มีอะไรในห้างที่ทำให้จิตใจเราหวั่นไหว ตื่นตาตื่นใจและรู้สึกอยากได้อยากซื้อ ภายหลังการเดินภาวนาในห้างเสร็จสิ้น หลายคนได้แบ่งปันประสบการณ์และการเรียนรู้อันน่าสนใจ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
ก่อนออกเดินทางไปห้าง ทุกคนต่างตั้งใจว่าจะไม่ซื้ออะไรทั้งสิ้น เพียงขอเฝ้าดูจิตดูใจที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเท่านั้น บางคนเล่าว่าเพียงแค่เห็นป้ายโฆษณาหน้าห้างที่มักจะมีรูปดาราแฟชั่นคนดัง และคำโฆษณาที่โดนใจเท่านั้น ก็รู้สึกได้ว่ามันมีพลังโน้มน้าวให้เราอยากเข้าไปจับจ่ายซื้อหา รวมถึงอยากเข้าไปท่องเที่ยวค้นหาอะไรบางอย่างที่เราก็ยังไม่รู้ชัดว่าคืออะไร แต่ที่แน่ๆ มันสร้างความตื่นตาตื่นใจชั้นแรกแล้ว
หลายคนจับอารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจนว่า ความอยากได้อยากซื้อของเริ่มเพิ่มดีกรีร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ กลยุทธ์การลดแลกแจกแถมในช่วงโปรโมชั่น ศิลปะการจัดวางสินค้าที่เย้ายวนใจให้ต้องรี่เข้าไปจับต้องใกล้ๆ การนำสินค้าแบรนด์เนม สินค้าล้ำยุคหรือไฮเทคขึ้นมาประชันเพื่ออวดโฉม รวมถึงการสร้างหรือจัดบรรยากาศของแต่ละแผนกให้ตื่นตาตื่นใจ และสอดรับกับลักษณะของสินค้า เช่น เสียงเพลง การสาธิตคุณภาพของสินค้าและเสียงที่นุ่มนวลของพนักงาน เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้มีพลังมหาศาลที่เหนี่ยวนำให้ผู้เข้าร่วมอบรมหวั่นไหวอยากจะเป็นเจ้าของขึ้นมาทันที และยิ่งเดินวนเวียนในห้างนานร่วม ๒ ชั่วโมง ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ตอกย้ำให้รู้สึกอยากซื้ออยากหา บางคนเล่าว่า การเดินวนเวียนหรืออยู่แช่นานๆ ที่แผนกที่ตนชื่นชอบทำให้ใจที่เดิมไม่ได้อยากได้ก็ถูกกระตุ้นให้อยากได้ ยิ่งเห็นคนอื่นซื้อในราคาที่ถูกลงมากใจยิ่งทนได้ยาก เพราะถ้าไม่ซื้อก็เท่ากับเราพลาดโอกาสสำคัญนี้ไป หลายคนถึงกับรู้สึกว่าพ่ายแพ้อะไรบางอย่างไป
บางคนแบ่งปันว่า ที่ผ่านมาไม่เคยพินิจพิเคราะห์ดูว่าองค์ประกอบต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าทำไมจึงมีพลังกระตุ้นให้คนรู้สึกอยากเป็นเจ้าของ และกระตุ้นให้คนตัดสินใจจับจ่ายได้รวดเร็ว ทั้งที่บางคนรู้อยู่แก่ใจว่า ตนเองก็ไม่มีกำลังซื้อหามากพอ หรืออาจต้องเป็นหนี้ เขาพบว่าทุกอย่างในห้างมันลดทอนหรือถึงกับทำลายความสามารถในการยับยั้งชั่งใจเพื่อคิดใคร่ครวญว่า สินค้าและบริการนั้นควรซื้อหรือไม่ มีประโยชน์หรือโทษอะไรแฝงอยู่ เราอยากได้อยากซื้อเพราะเพียงได้ครอบครองของใหม่ทั้งๆ ที่พอไปถึงบ้านแล้วมันก็หมดเสน่ห์และแทบไม่เคยใช้มันอีกเลย กลายเป็นกรุสมบัติรกบ้านไปในที่สุด
ก่อนไปห้าง ทุกคนตั้งใจว่าจะไม่ซื้ออะไรทั้งสิ้น แต่พอเห็นป้ายโฆษณาและคำเชิญชวน ก็รู้สึกว่ามันมีพลังดึงดูดให้เราอยากเข้าไปเดินค้นหาอะไรบางอย่าง โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร
ถามลงลึกต่อไปอีกว่า มีปัจจัยอื่นอีกไหมที่เป็นแรงกระตุ้นหนุนเสริมให้เราอยากซื้ออยากได้ หลายคนแบ่งปันว่า โฆษณาที่ผ่านหูผ่านตาจากสื่อทุกชนิดโดยเฉพาะจากทีวีและเว็บไซต์ต่างๆ เพราะสื่อโฆษณาเหล่านี้กระตุ้นการรับรู้อย่างมีพลังให้เราเกิดความรู้สึกอยากได้อยากเป็น และสร้างความเชื่อที่ว่า หากได้ครอบครองสินค้านั้นเราจะมีความสุขขึ้นมาทันทีตามที่โฆษณาบอกเราไว้ หากได้ใช้สินค้าแบรนด์เนมเหล่านั้นแล้วมันช่วยตอกย้ำตัวตนของเราที่มีเสน่ห์ ล้ำหน้า หรือสูงส่งเหมือนพรีเซ็นเตอร์ และยังทำให้เราไม่ตกกระแสของสังคมที่นิยมยกย่อง พูดง่ายๆ ก็คือ ใช้แล้วดูดีในสังคมและคนอื่นไม่ดูถูกดูแคลน
โฆษณาชวนเชื่อตามสื่อต่างๆ กระตุ้นอย่างได้ผล ก็เพราะมีปัจจัยอีกอย่างน้อย ๒ เรื่องก็คือ ค่านิยมของสังคมหรือวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้คนอยากขึ้นมาเป็นคนร่ำรวย อวดมั่งอวดมี และประชันแข่งขันกัน ภายใต้วัฒนธรรมแบบนี้ หากใครเห็นคนอื่นมีอะไรที่ล้ำหน้าตัวเอง ก็ต้องเที่ยวไปซื้อหาเพื่อให้ล้ำหน้าคนอื่น หรือหากเห็นคนอื่นไม่มีเหมือนตนก็ดูถูกดูแคลน คนที่ยากจนขาดแคลนก็เลยรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า ดูถูกตนเอง อีกด้านหนึ่งทั้งคนรวยและจนก็ถูกตอกย้ำว่า ชีวิตตนเองรู้สึกขาดหรือพร่องอยู่ตลอดเวลา ต้องเที่ยวแสวงหามาเติมเต็มอยู่ทุกขณะของชีวิต ซึ่งไม่เคยสัมผัสถึงความรู้สึกพอหรือเต็มอิ่มเลย ดังนั้นความสุขที่แท้จริงจะหาได้จากตรงไหนในสังคมที่ทุกคนต่างมุ่งแสวงหาอย่างไม่รู้จักพอ
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ เพราะเราทุกคนมีความอยากได้อยากเป็น (ตัณหา) เป็นพื้นอยู่แล้ว เมื่อถูกกระตุ้นเร้าก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นอย่างแน่นหนา (อุปาทาน) เช่นยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเราผู้สูงส่ง ยิ่งใหญ่ หรือร่ำรวย ยึดมั่นว่าเราต้องเป็นเจ้าของในทุกๆ สิ่งที่อยากได้ ความอยากและความยึดมั่นเหล่านี้ล้วนมาจากความไม่ตระหนักรู้อย่างแท้จริงว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราจะเป็นเจ้าของได้แท้จริง ไม่ช้าไม่นานเราและสิ่งอื่นๆ ก็ต้องแปรเปลี่ยนแตกสลายไป
ชีวิตและสังคมภายใต้สังคมบริโภคนิยมไม่ได้ก่อให้เกิดทุกข์ภายในจิตใจที่ต้องดิ้นรนแสวงหาหรือรู้สึกพร่องเท่านั้น มันยังส่งผลไปถึงปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวและของประเทศ ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาการทำลายล้างธรรมชาติแวดล้อมและปัญหาสังคมอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เราจะพอทำอะไรได้บ้างเพื่อให้มีชีวิตที่เป็นสุขในสังคมบริโภค
สิ่งแรกที่ทำได้ทันทีก็คือ การฝึกเฝ้าดูจิตใจไม่ให้เป็นเหยื่อของการกระตุ้นความอยาก หมั่นยับยั้งชั่งใจหรือใช้เวลาใคร่ครวญอย่างเพียงพอเมื่อจะต้องซื้อหาสิ่งใด โดยพิจารณาถึงคุณ โทษ ของสินค้านั้นๆ รวมถึงผลกระทบอันเนื่องจากการผลิตและการทิ้งเป็นขยะ หมั่นพินิจพิเคราะห์เพื่อให้รู้เท่าทันเครื่องมือของบริโภคนิยม โดยเฉพาะสื่อโฆษณาต่างๆ ว่ามีความจริงปนความเท็จมากน้อยเพียงใด หลายคราวอาจจำเป็นต้องหลีกห่างหรือไม่เข้าไปเสพสัมผัสสื่อโฆษณาชวนเชื่อบ้าง
ถ้าหากเราเสพติดการซื้ออย่างหนัก ควรกำหนดแผนการใช้เงิน หรือวางมาตรการเพื่อจำกัดการไปเที่ยวห้าง จะได้ไม่ซื้ออย่างไม่ลืมหูลืมตา สิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ เปลี่ยนความเชื่อว่า ความสุขจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีวัตถุสิ่งเสพเท่านั้น มาเป็นความสุขที่แท้เกิดขึ้นได้จากการฝึกฝนจิตใจให้สงบนิ่ง ไม่แส่ส่ายดิ้นรน และฝึกปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูลงทีละเล็กละน้อย ส่วนวัตถุสิ่งเสพเป็นเพียงตัวหนุนเสริมความสุขระดับต้นๆ เท่านั้น อีกแง่หนึ่ง ความสุขใจภายในอาจมาจากการเป็นผู้ให้ ผู้แบ่งปัน แทนการเป็นผู้รับ ผู้ได้ ซึ่งรวมถึงการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ
ส่วนระดับสังคม ควรร่วมกันปลูกฝังวัฒนธรรมค่านิยมที่ยกย่องความดีงามแทนความร่ำรวย และการอวดมั่งอวดมี รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนให้สังคมไทยมาสมาทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แทนเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีในปัจจุบัน