เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนหรือพูดคุยกันเรื่องอะไร มักได้ยินการพูดถึง “สิทธิ” กันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิผู้บริโภค สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก สิทธิผู้ป่วย สิทธิบัตร และอีกสารพัดสิทธิ
เราพูดถึงเรื่องสิทธิกันจนรู้สึกคุ้นเคยเป็นธรรมดา แต่ก็น่าสงสัยเหมือนกันว่าเจ้าสิทธินี่หน้าตามันเป็นอย่างไร เรามีสิทธิกันอยู่จริงๆ หรือเปล่า
เมื่อก่อนคนไทยเราไม่ได้คุ้นเคยหรือแทบจะไม่มีแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องสิทธิอยู่ในวิถีชีวิตหรือในความคิดเลย โดยเฉพาะเมื่อมองภายใต้วัฒนธรรมที่มีพุทธศาสนาเป็นฐาน
สิ่งที่เราพูดกันมากในสังคมไทยสมัยก่อนดูเหมือนจะเป็นเรื่องของ “หน้าที่” มากกว่า เรามีวิชาหน้าที่พลเมืองที่เรียนควบคู่ไปกับวิชาศีลธรรม เรามีเพลงที่เด็กนักเรียนทุกคนต้องร้อง “เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่ ๑๐ อย่างด้วยกัน…” อีกทั้งยังมีหลักธรรมอีกหลายข้อที่เน้นหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัติต่อผู้อื่น เช่น ทิศ ๖ พรหมวิหาร ๔ หรือปฏิบัติต่อสังคม เช่น สังคหวัตถุ ๔ เป็นต้น
เรื่องสิทธิจึงเป็นเรื่องใหม่มากอย่างหนึ่งของสังคมไทย ที่เพิ่งพูดถึงและนำมาใช้กันมากๆ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง แต่ด้วยเหตุที่โลกยุคนี้หมุนเร็วกว่าเมื่อก่อนมาก เรื่องสิทธิที่เพิ่งเข้ามาจึงกลายเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคย กลายเป็นความจริงในสังคมไทยจนเราไม่สามารถปฏิเสธได้
เมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิ ผมมีประเด็นเล็กๆ ที่อยากชวนให้เรามองย้อนศรกันสักนิดก่อนที่จะเพลิดเพลินนำแนวคิดนี้มาใช้กันอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับเรื่องการศึกษาหรือการพัฒนาที่เราพลาดกันมาแล้ว
ผมว่าเราต้องตระหนักแต่แรกว่า “สิทธิ” นั้นไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงแนวคิดที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อใช้จัดระบบสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขเท่านั้น คำพูดที่ติดปากคนยุคนี้ว่า “เรามีสิทธิ” จริงๆ แล้วไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสิทธิหรอก มีแต่สิ่งที่เราตกลงกันขึ้นว่าเป็นสิทธิเท่านั้น
หากมองด้วยทัศนะของพุทธศาสนา แม้สิ่งที่เรียกว่า “เรา” ก็ไม่ได้มีอยู่จริงแล้ว ส่วน “สิทธิ” ที่เราอยากมีนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีได้อย่างไร เราไม่มีสิทธิใดๆ ทั้งต่อชีวิตนี้และต่อสิ่งอื่นใด ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามกระแสแห่งเหตุและปัจจัยที่หนุนเนื่องกันมาทั้งสิ้น
ภายใต้ทัศนะของพุทธศาสนา ทั้งที่ดิน ทรัพย์สมบัติ เงินทอง สิ่งประดิษฐ์ ความคิด ข้อเขียนที่คนยุคนี้พยายามประกาศสิทธิครอบครองอยู่นั้น พระพุทธองค์กลับทรงแนะให้ละวางความยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของของเราเสียอีกด้วย
หลักการเรื่องสิทธิจึงเป็นหลักการที่ขัดกับหลักพุทธธรรมอย่างมาก เพราะการเรียกร้องสิทธิเป็นการขยายตัวตนของเราให้กว้างขึ้น ทำให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ เหนียวแน่นยิ่งขึ้น ผลที่ตามมาก็คือทำให้คนยิ่งมีความทุกข์มากขึ้นๆ ทุกที
เมื่อก่อนเราแทบไม่มีแนวคิดเรื่อง “สิทธิ” อยู่ในวิถีชีวิตหรือในความคิดเลย แต่สิ่งที่เราพูดกันมากในสังคมไทยสมัยก่อนคือเรื่องของ “หน้าที่”
คนโบราณพอมียาดีก็จะเที่ยวบอกแจกจ่ายกันไปทั่ว จารึกติดไว้ตามวัด ตามกำแพง ยิ่งคนนำไปใช้มาก ยิ่งเป็นบุญเป็นกุศล แต่เมื่อเห็นว่าความรู้นี้เป็นสิทธิของเรา กลับทำให้เราทำในสิ่งตรงกันข้าม ต้องเก็บซ่อนปิดบังไม่ให้คนอื่นรู้ ต้องนำไปจดทะเบียนตีตราเป็นเจ้าของ และสุดท้ายก็ตกไปอยู่กับคนที่มีเงินมีอำนาจใช้สิ่งนั้นหาผลประโยชน์แก่ตนเองฝ่ายเดียว
ภายใต้ฐานคิดแบบพุทธ เราไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ใช่เพราะเราเคารพในสิทธิของผู้อื่น หรือเกรงบทลงโทษอันเนื่องจากการไปละเมิดสิทธิของเขา แต่เป็นเพราะเราไม่ต้องการเบียดเบียนให้ใครเป็นทุกข์ อยากให้ผู้อื่นมีความสุข พร้อมกับต้องเพียรฝึกลดละความอยากได้อยากครอบครองของตนลงด้วยการแบ่งปันสิ่งที่มีให้กับผู้อื่น
เมื่อสังคมเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับวัตถุเพิ่มขึ้น ผู้คนไม่ได้ใช้หลักธรรมเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเหมือนก่อน เราเห็นว่าหลักศีลธรรมไม่สามารถช่วยทำให้สังคมสงบสุขได้
แต่แทนที่จะช่วยกันประยุกต์หลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมัยมากขึ้น เมื่อมีโอกาสรับรู้แนวคิดเรื่องสิทธิที่มาพร้อมลัทธิทุนนิยม ทุกฝ่ายกลับพร้อมใจกันขานรับนำแนวคิดนี้มาใช้โดยไม่ลังเล ไม่เว้นแม้แต่เอ็นจีโอที่ดูเหมือนจะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกระแสทุนนิยมมาตลอด
จะว่าไปก็เพราะการใช้แนวคิดเรื่องสิทธินั่นเองที่ทำให้โรงพยาบาลดูแลเราอย่างระมัดระวังมากขึ้น ทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลของราชการมากขึ้น ทำให้สาวโรงงานมีเวลาดูแลลูกหลังคลอดได้นานขึ้น หรือทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสสู้คดีอย่างเป็นธรรมมากขึ้น
แต่ก็เพราะแนวคิดเรื่องสิทธิอีกเช่นกันมิใช่หรือที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอเมริกาพุ่งสูงจนน่าใจหาย ทำให้อาชีพด้านกฎหมายเฟื่องฟู ทำให้ชาวบ้านชาวเขาที่หากินอยู่กับป่ากลายเป็นผู้บุกรุก และทำให้เกษตรกรต้องซื้อพันธ์ข้าวพันธุ์พริกของไทยเองจากบริษัทของต่างชาติมาไว้ปลูก
ทั้งๆ เรารู้ว่ามีข้อจำกัดและผลกระทบทางลบอีกมากมายของแนวคิดเรื่องสิทธิ แต่ดูเหมือนทุกคนยอมจำนนมองไม่เห็นทางออกอย่างอื่น นอกจากยอมรับเอาแนวคิดเรื่องสิทธิมาใช้เพื่อปกป้องตนเอง ขณะเดียวกันประเด็นเรื่องสิทธิก็กำลังถูกทำให้เป็นกฎเกณฑ์และความจริงแท้ของโลกยุคโลกาภิวัตน์ยิ่งๆ ขึ้นทุกทีผ่านระบบการศึกษา การค้า และการจัดระเบียบโลกรูปแบบต่างๆ
ณ วันนี้ ระบบศีลธรรมซึ่งเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่นำความสงบสุขมาสู่สังคมได้มากกว่า สิ้นเปลืองน้อยกว่า และเป็นมิตรกับธรรมชาติมากกว่า ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้อย่างสอดคล้องกับสังคมปัจจุบันได้อีกแล้ว
หลายคนอาจคิดเช่นนั้น
แต่สำหรับผมเห็นว่าจำเป็นต้องนำระบบศีลธรรมกลับมา และต้องกลับมาอย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมีจุดเริ่มต้นที่ตัวเรา จากชุมชนเล็กๆ ของเราที่เห็นภัยจากแนวคิดเรื่องสิทธิ แล้วนำหลักศีลธรรมมาปรับใช้จนแสดงเป็นตัวอย่างได้ว่า ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งของชาวพุทธที่นำสังคมสู่ความสงบสุขได้โดยไม่ต้องพูดถึงเรื่อง “สิทธิ”