ชีวิตพรหมจรรย์กับการปฏิรูปสุขภาพองค์รวม

สมเกียรติ มีธรรม 24 กุมภาพันธ์ 2001

ปัญหาสุขภาพเป็นปัญหาใหญ่ที่มนุษย์ต่อสู้มายาวนาน  กระทั่งปัจจุบันแม้วิทยาการต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเจริญก้าวล้ำนำหน้าไปไกล แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพได้  นับวันปัญหายิ่งรุนแรง และสลับซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ พร้อมกับโรคร้ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น โรคหนึ่งกำลังจะหาย กลับมีโรคใหม่เข้ามาแทนที่  แม้เมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบมาร์คยีน ซึ่งเป็นรหัสพันธุกรรมที่ชี้สาเหตุของการเกิดโรคได้ แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย และรักษาโรคได้ทุกประเภท  ปัญหาที่เกิดจากการกระทำของแพทย์ หรือโรคหมอทำ ก็ยังปรากฎให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ได้พร่าชีวิตของมนุษย์ลงไปคนแล้วคนเล่า จนเราไม่มีหลักประกันใดๆ ได้ว่า ปัญหาสุขภาพจะถูกขจัดไป หรือจะไม่เกิดขึ้นอีกในศตวรรษหน้า หรือว่าต่อๆไป ตราบที่มนุษย์ยังอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ นอกเสียจากจะหันมาเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่

การประพฤติพรหมจรรย์ หรือการดำเนินชีวิตประเสริฐนั้น หลายคนคงสงสัยว่า เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพอย่างไร เนื่องจากการประพฤติพรหมจรรย์เป็นเรื่องของพระสงฆ์ คงไม่เกี่ยวข้องกับฆราวาส และดูจะห่างไกลเรื่องสุขภาพด้วยซ้ำ  แต่หากพิจารณาให้รอบด้าน ก็จะเห็นว่า การประพฤติพรหมจรรย์ เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยรวมของมนุษย์ทุกคน ครอบคลุมทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม  เพราะว่าการประพฤติพรหมจรรย์ หรือการดำเนินชีวิตประเสริฐนั้น เกี่ยวข้องกับการกินการอยู่ของเราโดยตรง และเชื่อมโยงไปถึงสรรพชีวิตอื่นๆ รวมทั้ง มนุษย์ด้วย

กิจกรรมใดๆ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ย่อมกระทบถึงสิ่งมีชีวิตอื่น และระบบอื่นเสมอ  ดังคำกล่าวที่ว่า เด็ดดอกไม้ดอกเดียวสะเทือนถึงจักรวาลฉันใดก็ฉันนั้น การดำรงอยู่ของมนุษย์ก็เช่นกัน  หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ อยู่ในสังคมที่แออัด มีปัญหารุนแรง ก็เกิดความเครียด ฟุ้งซ่าน จิตไม่เป็นสมาธิ และมีผลต่อสุขภาพกายที่ไม่สามารถรักษาดุลยภาพภายในไว้ได้ จึงเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย กลายเป็นปัญหาสุขภาพของมนุษยชาติในที่สุด

ปัญหาสุขภาพนั้น พุทธศาสนามองว่า มีสาเหตุมาจากการเสียความสมดุลของร่างกาย เสียความสมดุลของจิตใจ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม  ตามธรรมดาเมื่อเราไม่ป่วยไม่เจ็บไม่ไข้ ร่างกายก็จะแข็งแรง ผิวพรรณเปล่งปลั่ง จิตใจเบิกบานแจ่มใส ทำงานได้อย่างมีความสุข อยู่ในสังคมด้วยความรักความเมตตา เอื้ออาทรต่อกันและกัน ระหว่างสิ่งมีชีวิตคน สัตว์ และพืช ประสานสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างมีดุลยภาพ ปัญหาสุขภาพจึงไม่เกิดขึ้น  แต่เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียความสมดุลในตัวของมันเอง และเสียความสมดุลระหว่างกันและกันไป เช่น ร่างกายกับจิตใจ ร่างกายกับสังคม และจิตใจ ฯลฯ ก็จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพขึ้นมาได้

ปีหนึ่งๆ เราต้องสูญเสียทรัพยากร และงบประมาณไปกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีไปเท่าไหร่ สูญเสียค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ไปเท่าไหร่  เงินมากมายมหาศาลกับทรัพยากรที่สูญเสียไป มีใครเคยถามบ้างหรือไม่ว่า สามารถแก้ปัญหาสุขภาพได้จริงหรือไม่ เมื่อสาเหตุของปัญหาสุขภาพไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคร้ายแต่เพียงอย่างเดียว  ดังนั้นการแก้ปัญหาสุขภาพที่นักวิทยาศาสตร์ และวงการแพทย์พยายามอยู่ในปัจจุบัน จึงไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาสุขภาพได้อย่างถาวร เนื่องจากมุ่งแต่จะรักษาโรค โดยไม่สนใจระบบนิเวศน์ของสรรพชีวิตว่าเป็นอย่างไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร  การหันมาปรับระบบนิเวศน์ของชีวิตให้สมดุล ไม่แบ่งแยกกาย จิตใจ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมออกจากกันนั้น เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพที่ออกไปจากวิธีคิด วิธีมองโลกแบบแยกส่วน  และเป็นการปฏิรูปสุขภาพองค์รวมใหม่ให้ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศน์ของสรรพชีวิตทั้งหมด โดยไม่แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ

แต่การเปลี่ยนวิถีแห่งการดำเนินชีวิตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองโลกก่อน  เนื่องจากปัจจุบัน วิธีคิด วิธีมองโลกแบบพุทธได้หายไปจากสังคมไทย หายไปจากระบบการศึกษา การจัดการทางสังคม การประกอบธุรกิจ การจัดการทางการเมือง และหายไปจากสื่อ  ตัวหลักธรรมไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นแว่น  หรือเป็นจุดยืนในการมองปัญหาต่างๆ  แม้ว่าเมืองไทยจะเป็นเมืองพุทธก็ตาม แต่หลักธรรมในพุทธศาสนา ถูกทำให้กลายเป็นเครื่องประดับมากกว่าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิด ส่วนหนึ่งของโลกทัศน์ ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต  การหันกลับมาเปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองโลกแบบพุทธจึงเป็นไปได้ยาก  แม้ปัจจุบันมีการพูดถึงสุขภาพทางเลือกกันบ้างก็ตาม แต่ยังแยกเป็นส่วนๆ ไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ของสรรพชีวิตในระบบนิเวศน์โดยรวม  อย่างเช่น พูดถึงระบบนิเวศน์ของป่า แต่ก็ไม่ได้พูดถึงสิงสาราสัตว์  พูดถึงอาหารธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องจิตใจ  หรือพูดถึงอาหารธรรมชาติ จิตใจ แต่ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างนี้เป็นต้น

ยิ่งในปัจจุบันการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมสมัยใหม่ ทำให้วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป เร่งรีบ แข่งขัน ทานอาหารแดกด่วน ฯลฯ ไม่มีเวลาที่จะมาใส่ใจกับสุขภาพของตน ชีวิตทุกคนจึงฝากไว้กับหมอ ฝากไว้กับบรรษัทต่างๆ ให้ดูแลสุขภาพ พอมีปัญหาก็ต้องวิ่งไปหาหมอหายามารักษา โดยไม่สนใจว่า ตนเองและสังคมเป็นอยู่อย่างไร  การเปลี่ยนวิธีคิด และวิถีชีวิตใหม่จึงเป็นไปได้ยาก ทำให้ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการดำเนินชีวิตที่ไม่สมดุลรุนแรงตามมา ก่อให้เกิดปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ความผิดพลาดจากการวินิจฉัยของแพทย์ ความไม่เท่าเทียมกันในการให้บริการทางการแพทย์ และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

ปัญหาสุขภาพนั้น พุทธศาสนามองว่า มีสาเหตุมาจากการเสียความสมดุลของร่างกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ในการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ให้สอดคล้องกับธรรมชาตินั้น ถ้ามองอีกด้านหนึ่งก็จะเห็นว่า เป็นเรื่องง่าย ไม่มีความซับซ้อนแต่ประการใด  โดยเริ่มจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงอยู่ของมนุษย์ เช่น อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค  ไปจนถึงเรื่องของจิตใจ และความสัมพันธ์ของระบบชีวิตทั้งหมด ให้มีความพอเหมาะพอดี ไม่บริโภค ไม่สะสมเกิดอัตภาพที่ตนพึงจะได้รับ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สังคม และสิ่งแวดล้อมมากเกินไป  ไม่ว่าอาหารการกินก็กินอย่างชาวบ้านชาวเมือง ไม่เห็นผิดคิดว่า กินมังสวิรัต หรือกินเจจะวิเศษกว่าการกินเนื้อ หรือการอยู่ป่าจะดีกว่าการอยู่บ้าน ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น  ซึ่งแท้ที่จริง การกินผักกินเนื้อ หรืออยู่ป่ากับอยู่บ้านก็ไม่ต่างกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เกื้อกูลต่อการพัฒนาตนเอง สังคม และธรรมชาติหรือไม่

ซึ่งในเรื่องนี้สามารถพิจารณาจากหลักการตัดสินพระธรรมวินัยได้ว่า การกินการอยู่นั้นประกอบด้วยความมักน้อย สันโดษ เพื่อความสงัด ประกอบด้วยความเพียร และเลี้ยงง่ายหรือไม่  หากแต่การกินการอยู่เป็นไปในทางตรงกันข้าม ไม่เกื้อกูลต่อการพัฒนากาย ไม่เกื้อกูลต่อการพัฒนาจิตใจ สังคม และธรรมชาติแล้ว การกินการอยู่นั้น ก็ไม่ใช่หนทางแห่งการประพฤติพรหมจรรย์  ในที่สุดต้องปู้ยี้ปู้ยำทำลายทรัพยากรธรรมชาติจนสูญเสียดุลยภาพ และก่อปัญหาสุขภาพได้

แต่หากการกินการอยู่แต่พอดี ไม่สะสม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สังคม และสิ่งแวดล้อมแล้ว ระบบนิเวศน์ของสรรพชีวิตก็จะสมบูรณ์มีดุลยภาพ ปัญหาสุขภาพก็จะถูกขจัดไป มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนน้อย ร่างกายก็ปลอดโปร่งโล่งสบาย รักษาก็ง่าย  เนื่องจากในระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีองค์ประกอบหลากหลายเข้าด้วยกันอย่างสมดุลนั้น สามารถเยียวยารักษาตัวของมันเองได้ เพียงแต่ปรับร่างกายให้สมดุลเท่านั้น ดังต้นไม้ที่ถูกขวานฟัน หรือแผลที่ถูกมีดบาด เซลต่างๆ ก็จะเยียวยารักษาตัวของมันเองได้อย่างน่าประหลาดใจ

เพราะฉะนั้นแนวทางการปฏิรูปสุขภาพในกาลข้างหน้า สมควรอย่างยิ่งที่จะหันกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันของมวลชีวภาพอันหลากหลายในระบบนิเวศน์ของสรรพชีวิตที่มีอยู่โดยธรรมชาติ  มากกว่าการเอาชนะโรคร้ายต่างๆ อย่างเด็ดขาด  เนื่องจากความซับซ้อน และหลากหลายของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ ทำให้เชื้อโรคและพาหะนำโรคอยู่ในสภาพของการควบคุมกันและกันตามธรรมชาติอย่างพอเหมาะพอดี  การรบกวน หรือทำให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลงนั้น เป็นการสร้างโอกาสให้จุลชีพมีวิวัฒนาการแตกต่างออกไป และสามารถแพร่กระจายโรคร้ายได้อย่างรวดเร็ว  ตัวอย่างเช่น เชื้อกาฬโรคที่เกิดจากหนูเป็นพาหะ เมื่องู เหยี่ยว และแมว ถูกมนุษย์ฆ่าจนมีจำนวนน้อยลง หนูก็เพิ่มขึ้นมา เชื้อกาฬโรคก็ระบาดมากขึ้น  หรือในด้านการไหลเวียนของน้ำที่มนุษย์เข้าไปเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากธรรมชาติ เป็นต้นว่า เขื่อน ฝาย และคลองชลประทาน มีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เป็นพาหะของไข้เหลือง และมาลาเรีย นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสให้เกิดอหิวาตกโรค โรคบิด และพยาธิใบใม้ อีกด้วย

ดังนั้นการประพฤติพรหมจรรย์ที่กล่าวมาข้างต้น ก็คงจะเห็นกันแล้วว่า ไม่ใช่เรื่องของพระสงฆ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นเรื่องของฆราวาส ที่ต้องช่วยกันปรับระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติให้กลับมามีดุลยภาพ  เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้แก่สุขภาพของมนุษย์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสุขภาพที่ทุกคนปฏิบัติได้ โดยไม่ต้องเสียงบประมาณมากมายมหาศาลถึงปีละ ๒ แสนล้านบาท ทั้งยังเป็นผลดีต่อตนเอง สังคม และธรรมชาติอีกด้วย


ภาพประกอบ