อยู่กับความขัดแย้งการเมืองอย่างไรไม่ให้ทุกข์: วิถีแบบพุทธ

เครือข่ายพุทธิกา 1 เมษายน 2006

มีผู้กล่าวไว้ว่า หากอยากรักษาไมตรีกับใคร ก็อย่าคุยเรื่องการเมือง เพราะลักษณะของการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมักจะทำให้เกิด “คู่” ความขัดแย้งที่เห็นแตกต่างกันคนละขั้วอยู่เสมอ  นำไปสู่การแยกเขา-แยกเรา  ความเครียด ความโกรธ เกลียด อยากเอาชนะ ฯลฯ เกิดความไม่สบายใจ  ซึ่งหากไม่รู้จักวิธีการผ่อนและคลาย ก็จะสะสมกลายเป็นความทุกข์ก่อผลร้ายแก่ร่างกายและจิตใจ  ข่าวจากการทำโพลระบุว่า คนไทยไม่น้อยกำลังเครียดและทุกข์จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ไม่ว่าในที่ทำงาน ที่บ้าน ฯลฯ

วิธีการต่อไปนี้สามารถช่วยให้เรามีสภาพจิตใจและร่างกาย ที่ไปพ้นจากความเครียดความทุกข์ ที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองได้ หากทดลองปฏิบัติกันดู คือ

๑. เปิดใจกว้าง ไม่มองผู้ที่เห็นต่างจากเราเป็นศัตรู

คนเรานั้นเห็นต่างกันได้ จึงเป็นธรรมดาที่มีบางคนหรือหลายคนยังนิยมชมชื่นคนที่เราไม่ชอบ  การที่เขาเห็นต่างจากเราเพราะได้รับข้อมูลต่างจากเรา หรือเพราะมีเกณฑ์วัดความดีหรือความสำเร็จไม่เหมือนเรา ฯลฯ  จะเป็นเพราะเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ข้อสำคัญก็คือคนที่เห็นต่างจากเราไม่ใช่คนเลว คนดีก็มีสิทธิเห็นต่างจากเราได้ ดังนั้นจึงไม่ควรเห็นเขาเป็นศัตรู

ขอให้ระลึกว่า เขาอาจเห็นต่างจากเราในเรื่องนี้ แต่เรื่องอื่นอาจเห็นเหมือนกับเรา และเรื่องที่เห็นเหมือนกันนั้นอาจมีมากกว่าเรื่องที่เห็นต่างกันก็ได้

๒. มองให้ไกล แล้วช่องว่างจะลดลง

แม้สองฟากถนนจะห่างกัน แต่เมื่อมองไกลสุดสายตา ทั้งหมดก็ไปบรรจบที่จุดเดียวกัน ฉันใดก็ฉันนั้น  วันนี้เรากับเขาอาจอยู่คนละมุม แต่พรุ่งนี้เรากับเขาอาจร่วมมือร่วมใจกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้ (ปรากฏการณ์ที่เห็นชัดที่สุดคือ ตอนที่คนไทยร่วมใจกู้ภัยสึนามิ) เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งทะเลาะกันจนมองหน้าไม่ติด วันพรุ่งนี้ยังรอให้เรามาจับมือกันทำงานใหญ่ก็ได้

อย่าลืมว่าถึงอย่างไรเขาก็เป็นคนไทยเช่นเดียวกับเรา มิหนำซ้ำบางคนก็เป็นคู่รักและผู้มีพระคุณกับเรา  บุคคลที่เป็นชนวนให้เกิดความเห็นแตกต่างกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องไป (จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่) แต่เราทุกคนที่เหลือยังจะต้องอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินนี้ และบางคนก็ยังต้องอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ร่วมสำนักงานเดียวกัน  ในเมื่อเราทุกคนยังจะต้องอยู่ร่วมกันไปอีกนาน ดังนั้นจะทะเลาะวิวาทกันไปทำไม  อย่าให้ใครคนเดียว มาเป็นเหตุให้เราต้องเหินห่างหมางเมินกับคู่รัก พ่อแม่พี่น้อง หรือมิตรสหายเลย  สายสัมพันธ์ของเรามีค่ากว่านั้นมาก

๓. เอาคู่ตรงข้ามออกจากใจบ้าง

อย่าให้คู่ตรงข้ามที่เราไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย ยึดครองจิตใจของเรา จนไม่มีที่ว่างให้กับเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญเลย  ชีวิตเรายังมีอีกหลายเรื่องที่สำคัญ  เอาเขาออกไปจากใจของเราเสียบ้าง จิตใจของเราจะได้โปร่งโล่งหายอึดอัดกลัดกลุ้ม  อย่างน้อยเวลากิน เวลานอน ก็อย่าไปหมกมุ่นครุ่นคิดว่าใครจะอยู่หรือไป ใครแพ้ใครชนะ  เวลาทำงานก็ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ อย่าเอาเขามาเป็นอารมณ์จนไม่เป็นอันทำงานหรือเสียสมาธิ

ข่าวสารการเมืองจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ เป็นสิ่งที่เราควรสนใจก็จริงอยู่ แต่อย่าเสียเวลากับข่าวเหล่านั้น จนไม่เป็นอันทำอย่างอื่น  อย่าลืมว่าการเมืองไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตเรา หากเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น  ชีวิตเรายังมีอีกหลายเรื่องที่ควรใส่ใจ

๔. แผ่เมตตาให้คู่ตรงข้ามบ้าง

ความโกรธเกลียดไม่เป็นผลดีแก่จิตใจของเรา  ทุกครั้งที่เรารู้สึกโกรธเกลียด มีจิตปรารถนาร้ายต่อใคร คนแรกที่ถูกทำร้ายคือเรา  ความโกรธเกลียดนั้นทำร้ายเราก่อนที่จะไปทำร้ายคนอื่นเสียอีก เพียงแค่คิดถึงเขาก่อนนอน ก็อาจทำให้เรานอนไม่หลับ เกิดความเครียด ความดันโลหิตขึ้น  อย่าปล่อยให้ความโกรธเกลียดบั่นทอนจิตใจของเรา  ขับไล่ความโกรธเกลียดไปด้วยการแผ่เมตตา  ทุกคืนก่อนนอน ลองแผ่เมตตาให้คู่ตรงข้ามกับความคิดของเรา อธิษฐานด้วยความปรารถนาดี  ขอให้เขาหลุดพ้นจากวังวนแห่งความทุกข์  ขอให้ความโลภ โกรธ หลงอย่าได้เกาะกุมจิตใจเขาเลย  ขอให้เขามีสัมมาทิฏฐิและมีโอกาสเข้าถึงความสงบสุขที่ลึกซึ้งในชีวิตด้วยเทอญ  เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ หรือดูโทรทัศน์พบเห็นภาพของคู่ตรงข้ามที่เราไม่ชอบใจ ก็แผ่เมตตาทำนองนี้ให้เขาด้วยก็ดี  อย่างน้อยใจเราจะได้ไม่เร่าร้อนหรือถูกเผาลนด้วยความโกรธเกลียด

๕. ผ่อนคลายด้วยลมหายใจ

เมื่อมีความเครียดหรือรู้สึกโกรธเกลียด ลองดับความเร่าร้อนด้วยลมหายใจดูบ้าง โดยหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ  หายใจออกยาวๆ ช้าๆ  น้อมใจมาอยู่ที่ลมหายใจทั้งเข้าและออก ให้ใจอิงแอบอยู่กับลมหายใจอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง พร้อมกับนับทุกครั้งที่หายใจออก เริ่มจาก ๑ ไปถึง ๑๐  จะทำกี่รอบก็ได้ ยิ่งนานยิ่งดี  บางครั้งใจจะเผลอแวบไปนึกเรื่องอื่น รู้ตัวเมื่อไร ก็ดึงจิตกลับมาที่ลมหายใจ  ถ้าจำไม่ได้ว่านับไปถึงไหนแล้ว ก็ให้เริ่มนับ ๑ ใหม่

วิธีนี้ทำได้ทุกที่ ระหว่างชุมนุมก็ได้ ดูทีวี หรือระหว่างนั่งรถก็ได้ หรือระหว่างที่กำลังฟังคนที่เห็นต่างจากเราก็ได้  วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย หายเร่าร้อนแล้ว ยังทำให้เกิดความสงบภายใน และช่วยให้สมองปลอดโปร่ง คิดอะไรได้ดีขึ้น

๖. พักผ่อนให้เต็มที่

อย่าให้การเมืองแย่งเวลาของการพักผ่อนและนอนหลับอย่างเต็มที่  การอดนอนอย่างสะสมจะทำให้สมองตื้อและเครียด หงุดหงิดฉุนเฉียวได้ง่าย เรื่องเล็กอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่  ดังนั้นควรหาเวลาพักผ่อน ไม่จดจ่อแต่การเมือง การอยากเอาชนะ การจัดเวลาจึงมีความสำคัญ

นอกจากการพักกายแล้ว ก็ควรพักใจด้วย โดยการปล่อยวางจากเรื่องที่เคร่งเครียดบ้าง หรือถอนตัวออกจากเหตุการณ์ที่วุ่นวายสักระยะหนึ่ง จะใช้ลมหายใจช่วยด้วยก็ได้  เมื่อจิตใจปลอดโปร่ง ตั้งหลักให้สบายคลายเครียดแล้ว ค่อยมาติดตามต่อไป

หากทำได้อย่างนี้ ก็จะอยู่อย่างไม่ทุกข์ หรือทุกข์น้อย ทุกข์ไม่นาน กับสถานการณ์ความขัดแย้งในวิกฤตการณ์ปัจจุบัน และยังอาจมีพลังของการสร้างสรรค์สิ่งดีงามได้อีกด้วย


ภาพประกอบ