หัวใจความเป็นมนุษย์

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ 16 สิงหาคม 2015

คำบางคำมีความหมายดีและสูงส่ง แต่เมื่อนำมาใช้พร่ำเพรื่อ สุดท้ายก็กลายเป็นแค่คำสวยและร่วมกระแสโดยไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง และมีคนไม่น้อยมองคำสวยๆ เหล่านี้ว่าเป็นคำในเชิงอุดมคติไปเลยทีเดียว เช่นเดียวกับคำว่า “การบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” ที่ใช้อย่างกว้างขวางในแวดวงสาธารณสุขในขณะนี้

ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ที่เลือกอาชีพสายสาธารณสุขด้วยความเต็มใจ ย่อมมีจิตใจอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หากแต่บางคนอาจยังไม่ได้ดึงความมีใจเหล่านั้นออกมาสู่การปฏิบัติได้อย่างเต็มศักยภาพ  ด้านสถาบันการศึกษาก็อยากผลิตบุคลากรที่ให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ทั้งเพื่อตอบสนองนโยบาย และในานะบุคคล ไม่มีใครอยากให้พ่อแม่ญาติพี่น้องที่เจ็บป่วยต้องพบเจอกับผู้ให้บริการที่ไร้หัวใจ  ปัจจุบันสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลาการทางการแพทย์หลายแห่ง จึงเริ่มหันมาพัฒนาหลักสูตรที่ทำให้ผู้เรียนได้เห็น “ความเป็นมนุษย์” ของผู้ป่วยไข้มากขึ้น

โดยทั่วไปความอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จะเกิดขึ้นเมื่อคนผู้นั้นเห็น “ความเป็นมนุษย์” ของอีกฝ่าย ด้วยหลักการนี้คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สัมผัสและเห็นความเป็นมนุษย์ แทนการฝึกฝนเฉพาะทักษะหรือเทคนิคด้านกายภาพบำบัด โดยเริ่มตั้งแต่นักศึกษาปีหนึ่งได้ก้าวเท้าเข้ามาในมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว เป้าหมายสูงสุดคือการสร้างนักกายภาพบำบัดที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์

หลังจากใช้เวลาสร้างคณาจารย์ที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกันไปพร้อมๆ กับสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยหัวใจประมาณสองปี ขณะเดียวกันก็เริ่มนำกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่เสริมเข้าไปในวิชาต่างๆ ด้วยเป็นสิ่งใหม่จึงใช้วิธีการเหมือนวิทยาศาสตร์คือลองผิดลองถูกและทำซ้ำ จนปัจจุบันเรียกได้ว่าสามารถใส่กระบวนการเรียนรู้ด้วยหัวใจเข้าไปผสมผสานกับทักษะและวิชาการด้านกายภาพบำบัดได้อย่างกลมกลืน  ผ่านการทดลองมา 8 ปี มีนักศึกษาที่ผ่านกระบวนการไปแล้วหลายรุ่น ซึ่งการประเมินผลทัศนคติด้านต่างๆ เปรียบเทียบระหว่างแรกเข้าเรียนและเมื่อจบออกไปพบว่ามีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น ซึ่งหมายความว่าจะมีนักกายภาพบำบัดที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ออกไปสู่สังคมมากขึ้น

ในวิชาสรีรศาสตร์ที่จะต้องมีการศึกษาผ่านร่างกายของผู้สละร่างกาย ที่เรียกว่า “อาจารย์ใหญ่” ซึ่งแต่ก่อนนักศึกษาจะมองเห็นอาจารย์ใหญ่เป็นแค่เพียงวัตถุหรือวัสดุการเรียน แต่ในกระบวนการเรียนรู้ด้วยหัวใจ มีการสร้างความสัมพันธ์และผูกพันกับอาจารย์ใหญ่โดยให้นักศึกษาได้ติดต่อพูดคุยกับญาติพี่น้องของอาจารย์ใหญ่เพื่อให้นักศึกษาเห็น “ความเป็นมนุษย์” เมื่อครั้งอาจารย์ใหญ่ยังมีชีวิตอยู่

จากนั้นนักศึกษาจะจัดเตรียมทำความสะอาดห้องเพื่อต้อนรับอาจารย์ใหญ่ เมื่อวันที่อาจารย์ใหญ่มาถึงก็จะมีพิธีต้อนรับด้วยการเชิญญาติของอาจารย์ใหญ่มาร่วมพิธีทำบุญ นักศึกษาจะช่วยกันแบกร่างอาจารย์ใหญ่จำนวน 25 ร่างจากชั้นล่างของอาคารเรียนขึ้นสู่ห้องปฏิบัติการที่อยู่บนชั้นห้า ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงความเคารพและให้เกียรติที่ศักดิ์สิทธิ์และทรงพลังทั้งต่อนักศึกษาและญาติพี่น้องของอาจารย์ใหญ่ และเมื่อจบสิ้นภาคการศึกษาก็จะมีพิธีทำบุญเพื่อส่งอาจารย์ใหญ่กลับบ้าน (วัด) เพื่อรอการพิธีฌาปณกิจศพต่อไป

ด้วยกระบวนการเช่นนี้นักศึกษาจะเห็นและเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้คน แม้คนผู้นั้นจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้บางรายแม้จะจบสิ้นการศึกษาแล้วแต่ยังคงความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องของอาจารย์ใหญ่ราวกับเป็นญาติของตัวเอง

โดยทั่วไปความอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จะเกิดขึ้นเมื่อคนผู้นั้นเห็น “ความเป็นมนุษย์” ของอีกฝ่าย

แน่นอนว่าการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์เป็นความปรารถนาของสังคม อย่างไรก็ตามเรายังพบเห็นทั้งด้วยตัวเองและผ่านสื่อต่างๆ ว่ายังมีแพทย์พยาบาลไร้หัวใจอยู่เสมอ ผู้เขียนเชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็นถูกมองเป็นยักษ์เป็นมารและพฤติกรรมเช่นนั่นย่อมมีเหตุผลรองรับ

ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนค้นพบ จากการทำงานฝึกอบรมด้านการสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์ในโรงพยาบาลหลายแห่งคือ ในจุดที่มีปัญหาข้อร้องเรียนบ่อยและซ้ำ ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาตัวบุคคล แต่มีไม่น้อยที่เป็นปัญหาเชิงระบบหรือโครงสร้าง  ซึ่งหากไม่แก้ไขที่ระบบ คนที่อยู่หน้างานจะทำได้แค่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นครั้งๆ ไป  ซึ่งเมื่อเผชิญปัญหาบ่อยๆ เกิดแรงกดดันครั้งแล้วครั้งเล่า บางครั้งความเหนื่อยล้าและความเครียดก็ทำให้ไม่สามารถแสดงหัวใจความเป็นมนุษย์ที่ผู้คนคาดหวังได้ แม้โดยปกติคนๆ นั้นจะเป็นคนที่มีจิตใจเมตตากรุณาเต็มเปี่ยมก็ตาม ตรงกันข้ามกลับแสดงความเป็นมนุษย์ปุถุชนออกมา คือความหงุดหงิดโกรธกริ้วและพูดจาไม่สุภาพ

ครั้งหนึ่งในการหาสาเหตุการซ่อมบำรุงแอร์ในโรงพยาบาลล่าช้า จนทำให้ฝ่ายซ่อมบำรุงตกเป็นจำเลยว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องมานั่งจับเข่าคุยกัน จึงได้ข้อมูลออกมาว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลมีการขยายตึกขยายเตียงอย่างต่อเนื่องจนทำให้เครื่องปรับอากาศในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 700 เครื่อง ขณะที่มีช่างที่ซ่อมแอร์ได้เพียงคนเดียว และมีความสามารถในการซ่อมและล้างแอร์เพียงวันละ 2 ตัว  เรียกได้ว่าให้ซ่อมแอร์ทุกวันไม่เว้นวันหยุดก็ยังไม่สามารถซ่อมและล้างแอร์ได้ครบทุกเครื่อง เมื่อฝ่ายบริหารเห็นข้อมูลเช่นนี้จึงตระหนักว่าปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ตัวบุคคลคือช่างซ่อมแอร์ หากแต่เป็นระบบที่คนกับงานไม่สมดุลกัน

ปัญหาเชิงระบบที่ใหญ่ที่สุดในวงการสาธารณสุขภาครัฐขณะนี้คือ ปัญหางานล้นคน  พยาบาลในโรงพยาบาลระดับจังหวัดเผชิญกับปัญหาขาดแคลนกำลังคนเนื่องจากนโยบายรักษาฟรีของรัฐบาลทำให้คนไข้มากขึ้น แต่รัฐบาลมีนโยบายจำกัดอัตรากำลัง ขณะที่พยาบาลรุ่นใหม่ลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน คนที่เหลืออยู่ต้องเข้าเวรต่อเวรต่อเนื่องกันหลายวัน ทำให้ขาดการพักผ่อน และไม่มีเวลาให้ครอบครัวจนมีปัญหาครอบครัวตามมา

ด้วยเหตุนี้เมื่อกล่าวถึง “หัวใจความเป็นมนุษย์” ในวงการสาธารณสุข สิ่งที่ควรคำนึงถึงมิใช่เพียงการเรียกร้องจากผู้ให้บริการ แต่สิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายและผู้รับบริการควรคำนึงถึงควบคู่กันคือ “หัวใจความเห็นมนุษย์” ที่มีให้กับผู้ให้บริการ ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะ “เห็นอกเห็นใจ” กันและกันมากขึ้น ไม่ตอกย้ำให้สภาพปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างและระบบแย่ไปกว่าเดิม

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง