สมมติว่าคุณมีเงิน ๑,๐๐๐ บาท คุณจะเลือกข้อใด หากต้องเลือก ๑ ใน ๒ ข้อนี้

ก) คุณได้เงิน ๑๐๐ บาท

ข) โยนเหรียญ ถ้าคุณชนะ คุณได้ ๒๐๐ บาท แต่ถ้าแพ้ คุณไม่ได้เลยสักบาท

ถ้าคุณเลือกข้อ ก) คุณก็คิดเหมือนคนส่วนใหญ่

ทีนี้ถ้าเงื่อนไขเปลี่ยนไป คุณจะเลือกข้อใด

ค) เสียเงิน ๑๐๐ บาท

ง) โยนเหรียญ ถ้าคุณแพ้คุณเสีย ๒๐๐ บาท แต่ถ้าชนะ คุณไม่เสียเลยสักบาท

ถ้าคุณเลือกข้อ ค) คุณจัดอยู่ในคนส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่เลือกข้อ ง)

การทดลองหลายครั้งให้ผลตรงกัน  สิ่งที่น่าคิดก็คือ ทำไมคนส่วนใหญ่ไม่ชอบเสี่ยงดวงในกรณีที่เป็นฝ่ายได้ แต่กลับยอมเสี่ยงดวงหากถึงคราวที่จะต้องเสีย  คำตอบก็คือ เป็นเพราะคนเรานั้นไม่ชอบความสูญเสีย หากจะต้องสูญเสีย ก็พร้อมที่จะเสี่ยงแม้นั่นหมายความว่าอาจมีโอกาสสูญเสียมากกว่าเดิม  ตรงกันข้ามหากเป็นเรื่องของการได้มา เราชอบอะไรที่เป็นของตายมากกว่าที่จะเสี่ยงแม้มีโอกาสได้มากกว่าเดิม

พูดอีกอย่างคือ มนุษย์เรารังเกียจความสูญเสีย และพร้อมที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อปกป้องสิ่งที่มีอยู่ทั้งๆ ที่มันอาจทำให้สูญเสียหนักกว่าเดิม นี้คือคำตอบว่าทำไมคนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมขายหุ้นทั้งๆ ที่ราคาตกลงไปเรื่อยๆ เพราะคิด (และหวัง) ว่ามีโอกาสที่ราคาหุ้นจะกระเตื้องขึ้น ทั้งๆ ที่หากไตร่ตรองงอย่างรอบด้านแล้ว หุ้นมีโอกาสน้อยมากที่จะปรับตัวสูงขึ้น แต่ด้วยความเสียดายเงินที่ลงไป ทำให้ผู้คนพร้อมจะเสี่ยง ซึ่งมักลงเอยด้วยการที่เขาสูญเงินไปจนหมดเมื่อหุ้นนั้นกลายเป็นขยะ

ในทำนองเดียวกันคนที่เสียเงินจากการเล่นพนัน จะไม่ค่อยยอมหยุดเล่น แต่อยากเล่นต่อเพื่อเอาเงินคืน ทั้งๆ ที่มีโอกาสที่เขาจะสูญเสียหนักกว่าเดิม ผลก็คือยิ่งเล่นก็ยิ่งเสีย และยิ่งเสียก็ยิ่งต้องเล่นต่อ จนลงเอยด้วยความหมดตัว ทั้งๆ ที่หากเขาหยุดเล่นแต่เนิ่นๆ จะไม่เสียหนักขนาดนั้น

Misbehaving หรือ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม หนังสือบอกเล่าความเป็นมาที่สำคัญของแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

นิสัยที่รังเกียจความสูญเสียจนพร้อมจะทำอะไรก็ได้เพื่อไม่ให้สูญเสียนั้น ก่อความพินาศให้แก่ผู้คนเป็นอันมาก วิกฤตเศรษฐกิจปี ๔๐ เกิดขึ้นก็เพราะเหตุนี้ คงจำได้ว่าตอนที่มีการโจมตีเงินบาทนั้น รัฐบาลไทยไม่ยอมลดค่าเงินบาทแต่เนิ่นๆ แต่พยายามต่อสู้ด้วยการทุ่มเงินตราต่างประเทศเพื่อพยุงเงินบาทเอาไว้ สุดท้ายก็ยอมรับว่าสู้ไม่ได้ และต้องลดค่าเงินบาทตามกลไกตลาด แต่ถึงตอนนั้นทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก็ร่อยหรอแล้ว ทำให้ค่าเงินบาทตกกราวรูด ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลตามมา สถานการณ์จะไม่เลวร้ายขนาดนั้นหากรัฐบาลพร้อมยอมรับความสูญเสียตั้งแต่แรกๆ

ริชาร์ด ทาเลอร์ (Richard Thaler) หนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี ค.ศ. 2017

มนุษย์เรารังเกียจความสูญเสีย และพร้อมจะทำอะไรก็ได้เพื่อปกป้องสิ่งที่มีอยู่ ทั้งที่มันอาจทำให้สูญเสียหนักกว่าเดิม

อย่างไรก็ตามนิสัยนี้หากรู้จักใช้ ก็สามารถก่อให้เกิดผลดีได้ ริชาร์ด ทาเลอร์ นักจิตวิทยาชื่อดังชาวอเมริกันพูดถึงเพื่อนคนหนึ่งชื่อเดวิด ซึ่งถูกว่าจ้างเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยมีเงื่อนไขว่าเขาต้องทำปริญญาเอกให้จบก่อนเข้าทำงาน หรืออย่างช้าก็ต้องทำให้เสร็จภายใน ๑ ปีที่ทำงาน ผลดีที่จะเกิดขึ้นกับเดวิดจากการทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จนั้นมีมากมาย เช่น ได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (แทนที่จะเป็นแค่ ผู้ช่วยสอน) ได้รับเงินสมทบสำหรับบำนาญ จำนวน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน หรือหลายพันดอลลาร์ต่อปี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแรงจูงใจให้เขาทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จทันเวลา แต่ปรากฏว่าวิทยานิพนธ์ของเขาคืบหน้าช้ามาก เขาผัดผ่อนครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งนี้เป็นเพราะเขาเอาเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่น่าสนใจกว่าการทำวิทยานิพนธ์

ทาเลอร์อยากช่วยเดวิด จึงมีข้อเสนอว่า เดวิดจะต้องเซ็นเช็ค ๑๐๐ ดอลลาร์ให้เขา โดยสั่งจ่ายในวันที่ ๑ ของทุกเดือนนับแต่นี้ไป เงื่อนไขมีอยู่ว่าทาเลอร์จะนำเช็คนั้นไปขึ้นเงินหากเดวิดไม่นำเอาวิทยานิพนธ์บทใหม่มาสอดใต้ประตูของเขาภายในเที่ยงคืนของวันสิ้นเดือน เงินที่ได้จากเดวิดนั้น ทาเลอร์จะนำไปจัดปาร์ตี้ซึ่งเดวิดจะไม่ได้รับเชิญ

ปรากฏว่า เดวิดสามารถทำวิทยานิพนธ์เสร็จ ๔ เดือนหลังจากนั้น โดยไม่เคยผิดนัดเลย

Nudge หรือ สะกดความคิด สะกิดพฤติกรรม หนังสือขอทาเลอร์ที่ว่าด้วยเรื่องการนำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้ในการปรับเปลี่ยนการตัดสินใจของมนุษย์ให้เป็นไปในทางที่เกิดประโยชน์มากขึ้น

วิธีนี้ได้ผลเพราะเดวิดไม่อยากเสียเงิน ๑๐๐ ดอลลาร์ทุกเดือน ทั้งๆ ที่เงินจำนวนนี้นับว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินที่เขาจะได้รับจากมหาวิทยาลัยหากทำวิทยานิพนธ์เสร็จ

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า ได้เงินเท่าใดก็ไม่กระตุ้นให้คนเราขยันมากเท่ากับการที่จะต้องสูญเงินไปแม้ไม่มากก็ตาม

ใครที่สัญญากับตัวเองแล้ว ทำไม่ได้สักที เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ หรืองดเหล้า ลองเอาวิธีนี้ไปปรับใช้ดูน่าจะดี เช่น ถ้าไม่ทำตามที่สัญญา ก็ปรับตัวเอง ด้วยการบริจาคเงินให้มูลนิธิสาธารณกุศล ส่วนพ่อแม่ที่เหนื่อยหน่ายกับลูกที่ชอบโยกโย้ แทนที่จะกระตุ้นด้วยการให้รางวัล ก็ลองใช้วิธีปรับเงินลูก อาจจะได้ผลก็ได้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา