ง่ายๆ แค่รู้สึกตัว

ณพร นัยสันทัด 12 มิถุนายน 2016

เราเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า ทำไมเราจึงต้องรีบเร่ง หรือแข่งขันกันในทุกๆ วัน

นับตั้งแต่ตื่นนอน อาบน้ำ รีบออกจากบ้านเพื่อไปให้ทันรถเมล์ แย่งกันขึ้น  ถ้าคนไหนที่ขับรถก็จะต้องปาดซ้าย ปาดขวา แม้จะแซงไปเพื่อไปอยู่หน้ารถคันอื่นเพียงแค่คันเดียวก็จะรู้สึกพอใจ  หรือถ้าเห็นรถอีกเลนแล่นไปได้ แต่เลนที่เราอยู่ไปไม่ได้ เราจะรู้สึกทนไม่ได้ ต้องพยายามแซงเพื่อไปให้อยู่ในเลนนั้นให้ได้

และเมื่อมาถึงที่ทำงานก็จะต้องรีบเร่งทำงาน กลางวันก็ต้องรีบออกไปกินข้าวก่อนคนอื่นๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องรอนาน ตกเย็นก็จะเป็นชะตากรรมในการเดินทางแบบเดียวกับตอนเช้า เมื่อถึงบ้านก็เร่งรีบทำงานตามบทบาทของตัวเองจนกว่าจะเข้านอน และเมื่อตื่นเช้าก็เริ่มเข้าสู่วงจรนี้ใหม่

ทำไมเราต้องใช้ชีวิตแบบนี้ แล้วทำไมเราต้องรีบเร่ง

คำถามนี้ผุดขึ้นในใจ จังหวะที่สายตาหันไปเห็นป้ายโฆษณาต่างๆ ที่ติดอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป้าย รถด่วน ถ่ายรูปด่วน 1 นาทีได้ ถ่ายเอกสารด่วน เงินด่วนทันใจ รับสมัครพนักงานด่วน ข่าวด่วน

แม้แต่อาหารการกินก็ยังมี อาหารจานด่วน หรือคุ้นในชื่อที่เรียกว่า อาหารฟาสต์ฟู้ด ของร้านแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเดินเข้าไปซื้อในร้าน หรือแบบไดรฟ์ทรู คือขับรถเข้าไปซื้อโดยไม่ต้องลงจากรถ หรือข้อความที่ถูกส่งมาถึงในรูปแบบของ Facebook ที่นำเสนอเทคนิคการออกกำลังกายแบบเร่งด่วน ฯลฯ

ทำให้เริ่มกลับมาตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่า แล้วทำไมเราต้องใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ หรือแบบด่วนๆ ซึ่งทำให้เรากลายเป็นคนที่ทนไม่ได้กับอะไรก็ตามที่ชักช้าไม่ทันใจ หรือไม่สามารถอดทนกับอะไรก็ตามที่ต้องรอ  เคยไหมที่เวลาเข้าไปสั่งอาหารในร้าน เรามักจะถามพนักงานว่าใช้เวลากี่นาที หรืออีกนานไหม เพื่อประเมินว่าคุ้มค่ากับการรอไหม หรือเวลาต้องอยู่นิ่งๆ กับตัวเองก็ทนไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าเสียเวลา

กระแสการตอบสนองความทันใจนี้เอง ที่ทำให้สินค้าหลายอย่างถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการแบบ “ด่วนทันใจ” ไม่ว่าจะเป็นค่ายอินเตอร์เน็ตต่างๆ ที่ขยันออกโปรโมชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการ “เร็ว แรง ที่สุดกว่าใคร”

หรือการขายสินค้าที่โฆษณาว่า “ช้อปออนไลน์ ง่าย แค่ปลายนิ้ว” ที่มักจะพ่วงมากับบริการส่งสินค้าถึงที่ เพื่อตอบสนองคนที่มีเงิน แต่ไม่มีเวลา ยังไม่นับถึงการดัดแปลงภาษาใหม่ๆ ที่ฟังแล้ว งง ว่าหมายถึงอะไร รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองความทันใจ

วิถีชีวิตแบบเร่งรีบ ทำให้เราไม่สามารถอดทนกับอะไรก็ตามที่ช้าไม่ทันใจ หรือแม้แต่เวลาต้องอยู่นิ่งๆ กับตัวเอง

เราเคยสงสัยไหมว่า เราต้องรีบเพื่อเอาเวลาที่เหลือไปทำอะไร เพราะในที่สุดแล้ว เราก็แทบไม่มีเวลาเหลือพอที่จะทำอะไรได้มากกว่ากิจวัตรเดิมๆ ที่เราเคยทำในแต่ละวัน

และเคยสงสัยไหมว่า

แต่ละวันเราใช้เวลาไปกับอะไรมากที่สุด สิ่งนั้นเป็นสาระสำคัญในชีวิตเราจริงหรือ

คำถามนี้เกิดขึ้นเมื่ออ่านพบข้อความที่ว่า “จงใช้ชีวิตในแต่ละวันให้เหมือนกับเป็นวันสุดท้าย” เพราะเมื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับเรา เช่น เมื่อพบว่าตัวเองป่วย ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้  หรืออาจจะแย่กว่านั้นคือ มีเวลาเหลืออยู่อย่างจำกัด หรือคนที่เรารักตายจากเราไป  เมื่อเวลานั้นมาถึง เราอาจจะรู้สึกว่าถ้าเรามีเวลามากกว่านี้ เราจะกลับไปทำดีกับเขา ดูแลเขา หรือเราจะดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้เพื่อที่จะได้ไม่ป่วย หรือไม่เป็นภาระกับคนอื่น

หรือเมื่อลองนึกย้อนกลับไป เราเสียดายเวลาที่ผ่านมา เพราะยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราอยากทำ แต่เรามักจะ “เอาไว้ก่อน” “เดี๋ยวก่อน” หรือ “ไว้มีเวลาค่อยทำ” การคิดแบบนี้ทำให้เราพลาดโอกาสดีๆ หลายอย่างในชีวิตไปอย่างที่หวนกลับไปทำใหม่ไม่ได้ หรือแย่ที่สุดคือ ไม่มีโอกาสได้แก้ตัวอีกเลย

ทำไมเราถึงต้องทำแต่เรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าเรา แล้วเก็บเรื่องอื่นๆ ที่คิดว่าอยากทำ หรือเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตไว้ก่อน

คำถามนี้เคยถามกับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เหมือนกัน พระอาจารย์ให้คำตอบไว้น่าสนใจว่า “เป็นเพราะงานที่ว่าด่วน มีเวลาจำกัดตายตัว หรือเรียกว่ามีเส้นตาย เช่น โปรโมชั่นลดราคาสินค้าก็มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน แต่หลายอย่างที่เราอยากทำ เช่น การดูแลพ่อแม่ หรือการปฏิบัติธรรมไม่มีกำหนดเวลาตายตัว ทำให้เราชอบผัดผ่อน หรือเอาไว้ก่อน”

ระหว่างที่นั่งฟังคำตอบ เรื่องราวในอดีตก็ลอยมาเป็นฉากๆ ทำให้เราเริ่มเข้าใจการดำเนินชีวิตแบบที่ผ่านมาของเรา หรือชีวิตแบบที่เรียกว่า จานด่วนชัดเจน

ทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า จะดีกว่าไหม ถ้าเราลองตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบให้กับตัวเองว่า สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ ใช่สิ่งที่เราอยากทำจริงไหม รวมถึงไม่มีคำว่า “ถ้าฉันมีเวลามากกว่านี้” ขึ้นมาในความรู้สึกเรา เพราะคำพูดนี้ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่กลับซ้ำเติมให้เรารู้สึกแย่มากขึ้น

บางทีการคิดทบทวนว่าทำไมเราต้องใช้ชีวิตแบบจานด่วน อาจจะช่วยให้เราค้นพบคำตอบว่า เราจะเริ่มต้นวางแผนการใช้เวลาที่เรามี หรือชีวิตที่เหลืออยู่ของเราอย่างไร เพื่อที่เมื่อเรานึกย้อนกลับไป เราจะไม่เสียใจในภายหลังที่เรายังไม่ได้ทำสิ่งต่างๆ ที่เราอยากทำ เพราะกระแสชีวิตแบบเร่งด่วนพัดพาเราให้อยู่ในวังวนเหมือนเช่นคนอื่นๆ

เอาล่ะ เรามาเริ่มต้นกันดีกว่า เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนเลย

ก่อนที่จะลุกขึ้นเพื่อเร่งรีบทำกิจวัตรต่างๆ ให้เราลองอยู่กับตัวเองด้วยการทำสมาธิสัก ๕ หรือ ๑๐ นาที ด้วยการรับรู้ความรู้สึกตัว ว่าเราอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งความรู้สึกตัวนี้แหละที่จะมาเป็นภูมิต้านทานให้กับใจเราเวลาที่เราเจอสิ่งที่ขัดใจ หรือไม่ทันใจ ให้เราทำเพียงแค่รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้เท่านั้นเอง

หลายคนอาจจะสงสัยว่าเพียงแค่รับรู้ช่วยอะไรได้ การรับรู้นี่แหละที่สำคัญมาก เหมือนเป็นกระจกที่ส่องกลับมาที่ตัวเราให้เรามองเห็นตัวเองว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ รู้สึกอย่างไร กำลังทำหน้าตายังไง เมื่อโกรธ หงุดหงิด หรือไม่พอใจ  ทันทีที่เรามองเห็นตัวเองจะช่วยทำให้เรานิ่ง กลับมารับรู้อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้มากขึ้น

การนิ่งยังเป็นเสมือนการติดเบรกในชีวิตเรา เพราะเมื่อเรานิ่งไม่ไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้มีเวลาที่จะทบทวนถึงความตั้งใจที่เราอยากทำ หรือช่วยเตือนไม่ให้เราทำผิดพลาดเหมือนในอดีตอีก

อยากชวนให้ลองเริ่มต้นแค่วิธีง่ายๆ นี้ แล้วจะค้นพบว่าชีวิตจานด่วนนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพียงแค่ใส่สูตร “ความรู้สึกตัว” ลงไปเท่านั้น

ณพร นัยสันทัด

ผู้เขียน: ณพร นัยสันทัด

หญิงสาวที่หลงไหลในความน่ารักของแมวเหมียว สนใจเรื่องพฤติกรรมและจิตวิทยาของแมว พอๆ กับชอบที่จะเรียนรู้ความแตกต่างของผู้คนที่พบเจอ จนถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวที่ชวนให้คนอ่านมองเห็นแง่มุมที่ต่างไปจากเดิม