ชีวิตกับเรื่องราว

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 14 พฤษภาคม 2005

เจอโรม จอห์นสัน ตำรวจชั้นผู้น้อยเป็นคนผิวสีผู้ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ประจำตัวให้กับมาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ ผู้นำคนสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนในสหรัฐอเมริกา เขาได้ถ่ายทอดประสบการณ์จุดหักเหชีวิตในสมัยที่ทำหน้าที่นี้ในช่วงก่อนที่ผู้นำคนสำคัญนี้จะถูกฆาตกรรม คือ  ครั้งหนึ่งเขารู้สึกว่าชีวิตของเขาในฐานะตำรวจคงไม่มีความหวังนัก เพราะการกีดกันอันเนื่องจากความเป็นคนผิวสี ซึ่งเป็นเสมือนพลเมืองชั้นสองในสังคมอเมริกา เพื่อนส่วนใหญ่ปลอบใจว่าเขาควรมีความสุขและยอมรับกับสภาพที่เป็นอยู่ มากกว่าการดิ้นรนต่อสู้  เขารู้สึกสับสน ท้อแท้ และไม่มีความหวัง เขาปรับทุกข์เรื่องนี้กับท่านมาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์  คำพูดที่ได้รับและเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงคือ “อย่ายอมแพ้” และ “รักษาศรัทธาเอาไว้”

ภายใต้สถานการณ์ที่ดูไร้ความหวัง สิทธิมนุษยชนที่ไม่เสมอภาคระหว่างคนดำกับคนขาวในสังคมอเมริกา ท้ายที่สุดเจอโรม จอห์นสันสามารถผลักดันตนเองด้วยการสอบบรรจุและได้รับการแต่งตั้งเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร และเป็นผู้บังคับการในที่สุด  ในช่วงบั้นปลาย เจอโรมทำงานเป็นอาสาสมัครชุมชนเพื่อทำงานในหมู่เยาวชนคนผิวสี เขาตั้งใจที่จะเขียนหนังสือเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตในช่วงที่เขาทำหน้าที่เป็นนายตำรวจผิวสีคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการระดับสูงในสถาบันตำรวจของอเมริกา

นี่คือตัวอย่างเรื่องราวชีวิตของคนธรรมดาที่ดำเนินชีวิต ประสบวิกฤตชีวิตหรือสถานการณ์ที่ตนรู้สึกคับข้องอึดอัด ผ่านพ้นจุดหักเหชีวิตที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง การคลี่คลายของความทุกข์ ความอึดอัดคับข้อง พอๆ กับที่จุดหักเหนั้นอาจนำไปสู่วิกฤตชีวิตครั้งใหม่หรือใหญ่กว่าเดิมก็ได้  ในอีกทางหนึ่ง เรื่องราวขององครักษ์ประจำตัว อาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ผู้นำสิทธิมนุษยชนผู้นี้ตระหนักมากขึ้นถึงความสำคัญและความหมายของการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพคนผิวสีตามภารกิจที่ท่านแบกรับอยู่  เราทุกคนจึงเป็นเรื่องราวของกันและกัน

ดร. มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ ขณะกล่าวสุนทรพจน์ “I Have a Dream” เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้แก่คนผิวสี เมื่อปี ค.ศ. 1963

ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม เราทุกคนมีกาลเวลาเป็นที่หมายเพื่อบอกระยะของการเดินทาง มีเรื่องราวของชีวิตที่ประกอบด้วยสิ่งที่มีหรือเป็นความหมายของชีวิต รวมถึงความมุ่งหมายของชีวิตที่เรามุ่งเดินทางทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว  เมื่อพวกเราเป็นเด็ก เราทุกคนต่างรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับเรื่องราวในนิทานหรือเทพนิยายราวกับมีพลังดึงดูด นี่คือเสน่ห์ของการเรียนรู้เรื่องราวชีวิตของคนอื่น ซึ่งมีคุณค่าและประโยชน์กับชีวิต  แต่ที่มีคุณค่ายิ่งกว่าคือ การศึกษาเรื่องราวชีวิตของตนเอง ซึ่งเป็นเสมือนการที่เราได้มาสำรวจเพื่อมาทำความรู้จักบ้านของตนเองที่เราอยู่ใกล้และคุ้นเคยมากจนมองข้ามหลายสิ่งหลายอย่างไป  ดังเช่น เป้าหมายชีวิต แรงจูงใจ ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ระบบการคิดนึก อารมณ์ ความรู้ รวมไปถึงเส้นทางชีวิตต่อผู้คนที่พบปะ สถานที่ สิ่งแวดล้อม รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกยามประสบสิ่งต่างๆ

ถึงตรงนี้ เราจะสำรวจ “บ้านแห่งชีวิต” จากเรื่องราวชีวิตได้อย่างไร  สิ่งที่เป็นความยากลำบากของคนส่วนใหญ่คือ การไม่รู้ว่าจะอ่านหรือทำความเข้าใจเรื่องราวชีวิตที่พัวพัน ยุ่งเหยิง ดูสับสนให้เป็นระบบ ระเบียบ เพื่อสามารถทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของเรื่องราวประเด็นต่างๆ ในชีวิตได้อย่างไร เพราะในทุกวันนี้เรามีชีวิตภายใต้ระบบสังคมที่ถือการบริโภค เงินตราและความโลภเป็นค่านิยมใหญ่ โดยถือเป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติ ด้วยความยุ่งยาก วุ่นวาย และสับสนของเรื่องราวจากการดำเนินชีวิตของเราเอง  แนวคิดเรื่องเครื่องมือสำคัญที่ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอ ๒ ลักษณะในการทำความเข้าใจเรื่องราวชีวิต คือ

๑) การมองชีวิตด้วย “ตาใน”

โดยปกติเราใช้ “ตา” ในการมองเห็นแสงและสี รับรู้เป็นภาพเพื่อทำความเข้าใจจากภาพนั้น  แต่สำหรับการมองเห็นด้วยตาใน คือ การรับรู้ด้วยสติ ด้วยการตระหนักรู้ถึงการกระทำต่างๆ และผลของการของกระทำที่เกิดขึ้นทั้งปฏิกิริยาโต้ตอบ อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น คำพูด ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นยามเมื่อเราปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัว  บางครั้งเราอาจต้องใช้เวลาเพื่อพิจารณาทบทวนและตรึกตรอง เพื่อรับรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการมองด้วยตาในของเราเอง

๒) องค์ความรู้ที่ช่วยเราทำความเข้าใจชีวิต 

บทบาทสำคัญขององค์ความรู้ที่มนุษย์มีการเรียนรู้และสั่งสมกันมา คือ เพื่อความเจริญงอกงามและก้าวหน้าในการดำรงชีวิต อาจเป็นทางด้านวัตถุ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือความสัมพันธ์ทางสังคม ความเข้าใจในมนุษย์ เช่น สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ รวมไปถึงศิลปศาสตร์ หรือแม้แต่ศาสนา เช่น แนวคิดเรื่อง กรรม โหราศาสตร์ ก็เป็นองค์ความรู้สำคัญในการทำความเข้าใจชีวิตมนุษย์ในอีกลักษณะหนึ่ง

การศึกษาเรื่องราวชีวิตของตนเอง เป็นเสมือนการกลับมาสำรวจเพื่อทำความรู้จักบางสิ่งที่อยู่ใกล้และคุ้นเคยมากเสียจนเรามักมองข้ามไป

แต่ละศาสตร์ความรู้ต่างมีจุดอ่อน จุดแข็ง และศักยภาพแตกต่างกันในการทำความเข้าใจเรื่องราวชีวิต  ศาสตร์ความรู้ชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนได้ศึกษาและมีประสบการณ์ด้านการฝึกฝนคือ “Enneagram” หรือนพลักษณ์  เป็นองค์ความรู้ในการทำความเข้าใจเรื่องราวชีวิตโดยการทำความเข้าใจถึงบุคลิกภาพภายใน ได้แก่ แบบแผนวิธีการคิด วิถีของอารมณ์ความรู้ และปฏิกิริยาโต้ตอบ  ซึ่งภูมิปัญญาของบรรพชนพบว่า วิถีการคิดนึก อารมณ์ความรู้สึกนี้สามารถจัดแบ่งได้ ๙ ลักษณะ คือ คนสมบูรณ์แบบ ผู้ให้ นักแสดง คนโศกซึ้ง นักสังเกตการณ์ นักปุจฉา นักเสพสุดยอด เจ้านาย และ ผู้ประสานไมตรี

และนี่เองที่การเรียนรู้และทำความเข้าใจชีวิตด้วยตนเอง หรือแม้แต่การรับฟังเรื่องราวของคนอื่น ก็คือ การทำตัวเองให้เป็นเสมือนตำราที่เราสามารถศึกษา เรียนรู้ เพื่อปล่อยวางความโง่เขลา ความยึดมั่นถือมั่น ที่ล้วนแต่สร้างความทุกข์ ความหนัก และเหนื่อยกับชีวิต  เราทุกคนจึงเป็นเรื่องราว และเรื่องเล่าที่รอการทำความเข้าใจและเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การปล่อยวางให้ชีวิตสุข สงบ ในท้ายที่สุด


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน