วิชาชีวิต…บนวิถีแห่งการเรียนรู้

มะลิ ณ อุษา 30 มิถุนายน 2013

โดยปกติทั่วไป เราใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนคนละอย่างน้อย 16 – 19 ปี เริ่มตั้งแต่อนุบาลตอนอายุ 3 ขวบ (ยกเว้นบางคนที่เริ่มต้นเรียนชั้นประถมตอนอายุ 7 ขวบ) จนกระทั่งจบปริญญาตรีตอนอายุ 22 ปี

ตลอดระยะเวลา 16 – 19 ปีนี้ เราเรียนรู้อะไร? และเราได้นำบทเรียนอะไรมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันบ้าง?

ขอยกตัวอย่างวิชาเดียว คือ วิชาสุขศึกษา ทุกคนต้องเคยผ่านบทเรียนที่ว่าด้วยเรื่องวิธีปฏิบัติเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง เช่น การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารหรือพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ฯลฯ เราท่องจำและตอบข้อสอบได้ แต่น้อยมากที่จะนำมาบทเรียนเหล่านั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิต ประหนึ่งว่า การเรียนรู้หยุดลงในวันประกาศผลสอบ หรือบางคนอาจเร็วกว่านั้น คือหลังออกจากห้องสอบ พร้อมกับวางหนังสือเรียนคืนให้คุณครูในบัดเดี๋ยวนั้นเลยทีเดียว

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พอมีลูกหลาน เราก็สอนให้พวกเขาท่องจำเพื่อตอบข้อสอบให้ผ่าน แล้วใช้ชีวิตตามกระแสที่ถูกกำหนดไว้แล้วโดยรัฐบาลและสื่อโฆษณาสำเร็จรูปของนายทุน ซึ่งแตกต่างจากเนื้อหาในหนังสือเรียนอย่างสิ้นเชิง (แล้วนายทุนเรียนโรงเรียนแบบเดียวกับเราๆ ท่านๆ ไหมนะ?)

ทำไมบทเรียนที่เกิดขึ้นในห้องเรียนจึงมีอายุแสนสั้น? ถ้าไม่ใช่บทเรียนจากห้องเรียน แล้วเราใช้ชีวิตจากบทเรียนไหนกัน?

ถ้าหากฉันจะขอให้คุณช่วยทบทวนความทรงจำอันแสนสุขในชีวิตที่ผ่านมา คุณจะนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างแจ่มชัดไหม คุณใช้เวลาในการนึกนานแค่ไหน?

เช่นเดียวกัน หากฉันจะขอให้คุณช่วยทบทวนความทรงจำอันแสนเจ็บปวดหรือความยากลำบากในชีวิต คุณจะยังคงจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนอยู่หรือเปล่า การหวนกลับไปแตะต้องมันอีกครั้ง ทำให้หัวใจของคุณสั่นไหวอยู่ไหม?

คุณผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้อย่างไร มันได้ฝากอะไรติดตัวคุณมาจนถึงทุกวันนี้บ้าง? …นอกจากความทรงจำ

เหตุการณ์เช่นนี้ เคยเกิดขึ้นกับวิชาฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์บ้างหรือไม่ (สาบานได้ว่า อารมณ์ของคุณเปลี่ยนไปทันทีที่ได้อ่านบรรทัดนี้) ที่น่าคิดก็คือ ทำไม 2 เหตุการณ์นี้จึงถูกจัดให้แยกอยู่คนละส่วนกัน

อาจจะดูคับแคบไปหน่อย แต่ฉันขอตั้งข้อสังเกตอย่างสรุปรวดรัดตัดความว่า ช่วงเวลาที่เราเกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งคือ ช่วงเวลาที่เราได้ลงมือทำบางอย่างที่ต้องใช้ศักยภาพความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ภายใต้สภาวะที่พึงพอใจหรือไม่พึงพอใจ เราเรียกการเรียนรู้เช่นนี้สั้นๆ ว่า ประสบการณ์

ในความเห็นของฉัน ประสบการณ์ที่เกิดจากการผ่านช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยอุปสรรคความยากลำบากหรือความผิดพลาดล้มเหลว มีคุณค่าและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตค่อนข้างมาก

เวลาแห่งความยากลำบากของชีวิตแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน ความยากลำบากในวัยเด็ก อาจจะเป็นการตื่นไปโรงเรียนตอนเช้าเพื่อที่จะไปเจอกับคู่อริที่ชอบแกล้งเราให้อับอาย ความยากลำบากในวัยรุ่น อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ถูกเพื่อนๆ ในกลุ่มปฏิเสธ อกหัก สอบเรียนต่อไม่ได้ พ่อแม่หย่าร้าง ความยากลำบากของคนวัยทำงานอาจจะเป็นการงานล้มเหลว ธุรกิจล้มละลาย แยกทางกับคู่รักหรือหย่าร้าง ลูกเกเรดื้อรั้น และความยากลำบากของคนสูงวัย อาจจะเป็นความเหงา ความรู้สึกไร้ค่า ลูกหลานทะเลาะเบาะแว้งกัน และความเจ็บป่วย

อาจจะ…อาจจะ…

อาจกล่าวรวมๆ ได้ว่า ความผิดพลาดด้านการเรียนหรืองาน ความผิดพลาดด้านความสัมพันธ์ การพลัดพรากจากสิ่งที่รักหรือคนที่รัก และความเจ็บป่วย คือ ความทุกข์ยากอันเป็นสากลของชีวิตทุกช่วงวัย แต่ต่างกันที่บริบทและความซับซ้อนที่มักจะเพิ่มขึ้นตามอายุ

การเผชิญกับช่วงเวลาเหล่านี้ โรงเรียนไม่ได้สอนว่าเราควรทำอย่างไร (บางทีโรงเรียนเองก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของความยากลำบากด้วยก็ได้) เราเรียนรู้จากการเผชิญหน้ากับมัน ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยอาจจะมีผู้ฝึกอย่างพ่อแม่หรือกัลยาณมิตรอยู่ข้างๆ

เมื่อเราผ่านประสบการณ์การลองผิดลองถูกครั้งหนึ่งในชีวิต เราจะเกิดการเรียนรู้ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เราอาจจะไม่ได้ใส่ชื่อรายวิชาว่าเป็น วิชาการแก้ปัญหาครอบครัว วิชาเทคนิคการล้มละลายทางธุรกิจ หรือวิชายามคนรักเปลี่ยนใจ แต่เราก็ผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้ (หรือบางคนอาจจะกำลังอยู่ในช่วงยากลำบากที่ว่านี้) คนที่สามารถให้คะแนนและตัดเกรดได้ยุติธรรมที่สุด คือ ตัวเราเอง แต่เรามักจะให้อำนาจคนอื่นตัดสินอยู่เสมอ ซึ่งบ่อยครั้งก็เป็นคำตัดสินที่ค่อนข้างกดหรือปล่อยคะแนนเกินความเป็นจริง และถ้าเรายังก้าวข้ามบทเรียนนี้ไม่ได้ ก็ถือว่าสอบไม่ผ่าน ยังต้องเจอปัญหาในลักษณะนี้ในรูปแบบใหม่ไปจนกว่าจะก้าวข้ามไปได้ จึงจะเลื่อนขั้นไปเจอบทเรียนที่ยากขึ้น

ถ้าอย่างนั้น เราก็อยู่ที่เดิมกับปัญหาเล็กๆ ในระดับเดิมอย่างที่คุ้นชินไม่ดีกว่าหรือ จะผ่านมันไปเพื่อเจอปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าให้ยุ่งยากทำไม?

ย่อมทำได้…หากเราพอใจ

มันเหมือนกับการที่เรารู้ว่ากลไกของอวัยวะภายในร่างกายของเราทำงานอย่างไร ต้องการการหล่อเลี้ยงอย่างไรจึงจะมีสุขภาพดีแข็งแรง แต่เราก็ยังอยากจะกินแต่ข้าวบดหรือโจ๊ก เพราะว่ามันง่ายดี เราก็จะใช้ชีวิตอย่างข้าวบดหรือโจ๊กต่อไป เมื่อต้องกินอาหารที่หยาบและแข็งเราก็จะพยายามขย้อนมันออกมา แม้ว่ามันจะอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายก็ตาม

ประสบการณ์จากช่วงเวลาที่ยากลำบากและเต็มไปด้วยอุปสรรคนั้นมีคุณค่าต่อชีวิต ซึ่งเราจำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง

อย่างที่ฉันได้เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า ฉันให้คุณค่ากับบทเรียนที่มาจากความยากลำบากค่อนข้างมาก เพราะมันเหมือนผักรสขมที่มีสารอาหารและกากใย ช่วยบำรุงสมอง หัวใจ และสายตา (แม้บางครั้งเราอยากจะคายมันทิ้งใจจะขาด แต่ก็ทำไม่ได้)  ความยากลำบากจะช่วยขัดเกลาความคิดอ่านให้แหลมคม มีมุมมองที่กว้างไกล และมีหัวใจที่แข็งแรง  และแน่นอนว่า เราไม่สามารถกินแต่ผักรสขมอย่างเดียวไปตลอดได้ จะต้องมีอาหารประเภทอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมในชีวิตให้สมดุลด้วย มีใครปฏิเสธรสชาติอันหอมหวานของความสุขได้บ้างล่ะ

อาหารที่เราแสวงหามาป้อนให้กับร่างกาย ก็เหมือนกับการแสวงหาประสบการณ์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อบดเคี้ยวกลั่นกรองผ่านกระบวนการคิดใคร่ครวญ เป็นบทเรียนหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณให้เติบโตขึ้นนั่นเอง และนี่เองที่เป็นบทเรียนที่เราได้รับการถ่ายทอดมาจากครูผู้ฝึกในแต่ละช่วงชีวิต ซึ่งเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ลูกหลานของเราก็จะเข้ามาลงทะเบียนเรียนกับเราด้วยเหมือนกัน

แต่…เพราะฉันไม่ใช่ผู้รู้ (ฉันเป็นเพียงคนธรรมดาที่มีความยากลำบากตามช่วงวัยของตัวเอง) สิ่งที่ฉันรู้จึงเป็นเพียงประสบการณ์จากช่วงหนึ่งของชีวิตฉันเท่านั้น ฉันไม่สามารถบอกสอนในสิ่งที่คุณควรรู้ได้ เพราะการเรียนรู้เป็นเรื่องที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของคุณเอง ดังนั้น สิ่งที่คุณควรรู้จึงมีอยู่แล้วทั้งภายในและรอบๆ ตัวคุณ ฉันทำได้แต่เพียงตั้งคำถามให้คุณลองกลับไปใคร่ครวญเท่านั้น

ยินดีต้อนรับสู่ห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก บางครั้งเราอาจจะกำลังเรียนวิชาเดียวกันอยู่ก็ได้!


ภาพประกอบ

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน