“เธอ ทำแบบนี้ มันเสียของ”
“ตกลงงานนี้ ใครเป็นเจ้าภาพ จะได้ประสานถูก”
“คนกันเองแท้ๆ น่าจะช่วยๆ กันได้ ไม่น่าจะถือเป็นกฎเกณท์” ฯลฯ
เราทุกคนต่างเคยมีประสบการณ์กับคำพูดทำนองนี้ เบื้องหลังคำพูดเหล่านี้มีความรู้สึก ความต้องการบางอย่าง และสะท้อนถึงภาวะที่ความต้องการบางอย่างไม่ถูกตอบสนอง เช่น ความต้องการการสนับสนุน การช่วยเหลือ ความปลอดภัย ความมั่นคง ฯลฯ
ในการอยู่ร่วมกันจะในฐานะคู่รัก ชุมชน ครอบครัว สิ่งที่ต้องเผชิญ คือ ความขัดแย้งในความสัมพันธ์นั้น ความขัดแย้งอันเนื่องด้วยความแตกต่างในมุมมอง ทัศนคติ ความเชื่อ บทบาทฐานะ ผลประโยชน์ โดยทั่วไปยามเมื่อเกิดความขัดแย้ง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ความรู้สึกเชิงลบ เช่น ความผิดหวัง เสียใจ โกรธ ขุ่นเคือง เศร้า เครียด ฯลฯ และเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกเชิงลบ หลายคนจึงเลือกที่จะรับมือกับความขัดแย้งโดยการหลีกเลี่ยง หนีห่าง หรือไม่รับรู้ และในความขัดแย้งนั้น ก็สามารถเป็นจุดเริ่มของความรุนแรงด้วยการแตกหักความสัมพันธ์ ปะทะ ตอบโต้ และทำลาย
หนี สู้ และมึนชา คือปฎิกิริยาเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง และหากภาวะขัดแย้งนั้นนำไปสู่ผลกระทบที่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ความกลัวก็มีบทบาททำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ดังกล่าวมากขึ้น
ในสนามเวทีของความขัดแย้ง การชนะหรือพ่ายแพ้ขึ้นกับว่าใครถือครองอำนาจอะไร และใช้มันอย่างไร คนส่วนใหญ่รับรู้อำนาจที่ใกล้ตัว คือ อำนาจเงินตรา อำนาจจากสถานภาพ อาชีพ หรือบทบาท เช่น ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ แพทย์ ฯลฯ อำนาจจากการถือครองอาวุธ และอำนาจใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่มักใช้จนเป็นเรื่องปกติ คือ อำนาจจากโทสะ ความโกรธ ผ่านการแสดงในรูปของความโกรธเกรี้ยว โวยวาย ข่มขู่ ฯลฯ หลายคนทำโดยตั้งใจเพราะความคุ้นเคย หลายคนไม่ทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตและสัมพันธภาพ
หนี สู้ และมึนชา คือปฎิกิริยาที่มักเกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง
โดยไม่ตระหนักรู้ หลายคนคาดหวังและเข้าใจว่า ความโกรธทำให้ตนมีอำนาจและสามารถได้ในสิ่งที่ตนต้องการ เช่น เราต้องการการตอบสนองบางอย่าง แต่เมื่อผิดหวัง ท่าทีความโกรธอาจทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เช่น ฝ่ายตรงข้ามอาจยอมทำตามสิ่งที่เราต้องการ แต่สิ่งที่หลงลืมและมองข้ามคือ ผลกระทบที่เกิดขึ้น
ผลกระทบระยะสั้น คือ ผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ร่างกายที่เครียด เกร็ง หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตที่เพิ่มสูง ในแง่ความสัมพันธ์ คือ เกิดการบังคับ ข่มขู่ แตกร้าวในความสัมพันธ์ และผลกระทบระยะยาว คือ เมื่อถึงระดับที่ไม่สามารถอดทนได้ การแตกหักในความสัมพันธ์ การตอบโต้ก็อาจจะเกิดขึ้น และเกิดการสะสมความคุ้นเคยจนกลายเป็นอุปนิสัย และสร้างพลังงานที่ไม่เป็นมิตรสะสมอยู่ในตนเอง
ความโกรธเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น ในทางจิตวิทยา ความรู้สึกคือ ปฏิกิริยาหรือข่าวสารที่กำลังบอกบางอย่างกับตัวเรา สำหรับความโกรธแล้ว ข่าวสารสำคัญคือ เรามีความต้องการสำคัญบางอย่างที่ไม่ได้รับการตอบสนอง เราคู่ควรได้รับการตอบสนองความต้องการบางอย่าง แต่เมื่อผิดหวัง ความโกรธก็จะปรากฏตัว
ข้อดีของความโกรธคือ การทำให้เรารู้จักตนเอง ได้รับรู้ถึงความต้องการสำคัญนั้นๆ ความโกรธเป็นทรัพยากรที่ช่วยเราเรียนรู้และมีความสามารถในการปกป้องตนเอง ยืนยัน รักษาสิ่งที่เราต้องการ สิ่งที่เราให้คุณค่า ช่วยให้เรามีความมั่นคงในจุดยืนของตนเอง แต่ความโกรธก็ให้ข้อเสียคือ เมื่อความโกรธครอบงำ ความสามารถในการควบคุมตนเอง การมีสติ สัมปชัญญะก็หลุดลอย ร่างกาย จิตใจถูกครอบงำด้วยความโกรธ ความโกรธกลายเป็นนายชีวิตที่บงการตัวเรา หลายคนเมื่อถูกความโกรธครอบงำก็กระทำสิ่งต่างๆ โดยขาดการยั้งคิด กระทำสิ่งรุนแรงจนสร้างผลเสียหายกับชีวิต
เมื่อพิจารณาจากด้านที่เป็นผลบวกและผลเสียหาย เราอาจพบว่าความโกรธเป็นเสมือนไฟ กองไฟเล็กๆ ช่วยให้เราใช้ประโยชน์สร้างความอบอุ่น ใช้เพื่อหุงหาอาหาร ให้แสงสว่าง แต่กองไฟนี้เมื่อไร้การควบคุม กองไฟก็กลายเป็นกองเพลิงที่สามารถเผาผลาญทำลายทุกสิ่งทุกอย่างได้
เมื่อความโกรธครอบงำ ความสามารถในการควบคุมตนเองก็หลุดลอย
เราทุกคนสามารถโกรธได้ แต่โกรธอะไร และโกรธอย่างไร คืองานท้าทายของเรา เราจะใช้ความโกรธให้ได้ประโยชน์กับชีวิต เหมือนที่เราใช้กองไฟสร้างความอบอุ่น สร้างแสงสว่าง หรือเราจะปล่อยให้กองไฟกลายเป็นกองเพลิงเผาผลาญชีวิต ขึ้นกับความสามารถในการกำกับการใช้กองไฟของเรา ซึ่งก็คือ การมีความสามารถเรียนรู้ เท่าทันตนเองในความโกรธที่แสดงตัวออกมาในตัวเรา
นอกเหนือจากเรื่องความรู้สึกโกรธ เราพบความรู้สึกอื่นๆ ที่มีความสำคัญกับชีวิต และมีศักยภาพเช่นเดียวกับความโกรธที่สามารถเป็นกองไฟและกองเพลิงให้กับชีวิตได้ กรณีความกลัวช่วยให้เรารับรู้ ส่วนความใส่ใจที่มีต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงบางอย่าง ก็ช่วยให้เราอยู่รอดปลอดภัย แต่ขณะเดียวกัน ความกลัวก็สามารถกลายเป็นคุกกักขังชีวิตให้อยู่แต่กับสิ่งคุ้นเคย ไม่สามารถก้าวพ้นไปเรียนรู้สิ่งท้าทายอื่นๆ
ความท้าทายที่เป็นด่านทดสอบแรก คือ การเรียนรู้ที่จะเท่าทันความรู้สึก เท่าทันความต้องการที่อยู่เบื้องหลังความรู้สึกนั้น
ด่านที่สอง คือ การมีความสามารถที่จะเท่าทันความรู้สึกต่างๆ ในฐานะข่าวสารสำคัญที่ให้กับตัวเรา และไม่ให้ความรู้สึกนั้นลุกลามกลายเป็นอารมณ์รุนแรงครอบงำตัวเรา
ด่านทดสอบอันเป็นความท้าทายสำคัญต่อมา คือ การปะทะกันของความรู้สึกต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น ความกังวล ความโกรธ ความเสียใจ เราอาจพบว่าในบางสถานการณ์เราพบความซับซ้อนของความรู้สึกมากมาย ความท้าทายในที่นี้คือ การมีความสามารถเฝ้าดูและแยกแยะความรู้สึกต่างๆ เพื่อเท่าทันน้ำหนักและสาระสำคัญของแต่ละความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพื่อสามารถตอบสนองได้เหมาะสม
ด่านทดสอบเหล่านี้เป็นความท้าทายที่รอคอยการข้ามผ่านของเรา หากข้ามผ่านไม่ได้ ด่านทดสอบเหล่านี้ก็จะวนเวียนเข้ามาท้าทายจนกว่าเราจะข้ามผ่านได้