“บุคคลไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย และไม่พึงพะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
สิ่งเป็นอดีตก็ละไปแล้ว สิ่งเป็นอนาคตก็ยังไม่มา”
ธรรมบทตอนหนึ่งในบทสวดมนต์ที่หลายท่านคุ้นเคย เป็นเครื่องเตือนสติให้กับเราทุกคนที่ต่างล้วนมีเรื่องราวในอดีตให้คอยครุ่นคิด หมกหมุ่น อาลัยอาวรณ์ ผูกใจเจ็บ ฯลฯ และพวกเราหลายคนก็มีเรื่องวิตกกังวลมากมาย ฟุ้งซ่าน กังวลกับเรื่องราวอนาคต ธรรมบทข้างต้นช่วยเตือนสติให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน แต่หลายครั้งสติของเราก็อ่อนล้า แม้จะพยายามรำลึกถึงข้อธรรมนี้ แต่เรื่องอดีต อนาคต ก็มักผุดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่าจนเหนื่อยล้า
วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “The Perks of Being a Wallflower” ซึ่งดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ถ่ายทอดเรื่องราวของการเติบโต เรียนรู้ ของกลุ่มเพื่อนวัยรุ่นช่วงมัธยมปลาย พวกเขาอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ ที่สำคัญคือ ตัวละครแต่ละตัวต่างล้วนมีบาดแผลที่ซุกซ่อนอยู่ และบาดแผลเหล่านี้ก็เป็นปมชีวิตที่ผูกติดให้เจ้าของชีวิตมีเส้นทางชีวิต พฤติกรรมที่สับสน ไม่เข้าใจตนเอง ทุกข์ใจกับความคลอนแคลนของคุณค่าในตนเอง แปลกแยกกับสังคม โชคดีที่พวกเขาเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เรื่องเลวร้ายจึงไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป
ในเส้นทางชีวิต เราต่างต้องพานพบเรื่องราวความทุกข์ที่เข้มข้นรุนแรงไปตามสภาพเหตุปัจจัย ประสบการณ์เหล่านี้ประทับในความทรงจำเป็นรูปรอยในความรู้สึกนึกคิด รวมไปถึงการรับรู้ การให้ค่ากับตนเอง พร้อมกับเจ้าของชีวิตก็เรียนรู้ถึงการสร้างแนวทาง วิธีการเพื่อตอบโต้ รับมือกับบาดแผลชีวิต ความทรงจำในประสบการณ์นั้น
นิทานเรื่องช้างน้อยกับโซ่ คือตัวอย่างของเราทุกคนที่แม้ว่าเราจะเติบใหญ่เพียงใด แต่ประสบการณ์วัยเด็กและความทรงจำยังคงฝังแน่นในจิตใจว่า ตนเองเป็นช้างน้อยที่เอาชนะเชือกล่ามนั้นไม่ได้ เชือกล่ามนั้นแข็งแรงเกินกว่ามันในฐานะช้างน้อยจะเอาชนะได้ และแม้กาลเวลาผ่านไปช้างน้อยจะเติบโตสูงใหญ่ แต่ความทรงจำในบาดแผลยังคงมีอยู่เช่นเดิม เจ้าช้างยึดติดอดีตที่ยังฝังใจว่ามันเอาชนะโซ่ล่ามไม่ได้ มันไม่มั่นใจ ไม่เชื่อมั่นตนเอง แม้ว่าร่างกายของมันจะเติบโตต่างจากวัยเด็กมากแล้วก็ตาม
บาดแผลความทรงจำมีฤทธิ์เดชเช่นนี้เอง มันประทับตราในจิตใจรุนแรงเสียจนกลไกป้องกันตนเองในตัวเราต้องทำงานเงียบๆ เพื่อรักษาและเยียวยาบาดแผลในจิตใจ บ่อยครั้งกลไกตอบโต้เพื่อปกป้องรักษาจิตใจที่เปราะบาง ปฏิกิริยาที่แสดงออกในหลายคนคือ การแสดงออกซึ่งความโกรธให้พวยพุ่งออก ด้วยการโวยวาย กล่าวโทษ ตำหนิ วิพากษ์ตัดสิน ในทางกลับกัน ความโกรธก็อาจแสดงในรูปของอาการหลบใน เงียบ ซึมเศร้า กล่าวโทษตำหนิตนเอง ฯลฯ
ตัวเอกในเรื่องราวเคยพานพบเรื่องราวในวัยเด็ก ปมฝังลึกเช่นนี้ทำให้เธอมองตัวเองว่าด้อยค่า เธอมักเลือกคบหาบุคคลที่จะมาเป็นคนรู้ใจซึ่งเป็นคนที่เพื่อนๆ รอบตัวเห็นว่าไม่คู่ควรกับเธอเลย แต่เธอก็มองว่าตัวเองสมควรแล้วที่จะมีคนรู้ใจทำนองนั้น บาดแผลชีวิตกลายมาเป็นตัวกำหนดคุณค่าชีวิต และตัวเราก็ยอมให้บาดแผลชีวิตมาชี้นำคุณค่าชีวิตของเราเสียเอง หลายคนทำร้ายตนเองเช่นนี้
ครั้งหนึ่งในกิจกรรมการอบรมเรียนรู้ตนเอง กระบวนกรชูแผ่นกระดาษเปล่าแล้วถามผู้เข้าร่วมว่า “เห็นอะไร” คำตอบที่ได้คือ “กระดาษเปล่า” จากนั้นกระบวนกรวาดรูปกากบาทสีแดง แล้วถามคำถามเดิม คำตอบที่ได้คือ “กากบาทสีแดง” กระบวนกรถามซ้ำ คำตอบยังคงเดิม กระบวนกรจึงถามใหม่ว่า “มีใครเห็นกระดาษส่วนที่ว่างเปล่าหรือไม่” คำตอบเริ่มแตกต่าง แต่สิ่งที่พบด้วยคือ ความใส่ใจของหลายคนมักพุ่งเป้าไปที่กากบาท หลายคนละเลยและมองข้ามส่วนที่เป็นกระดาษว่างเปล่าทั้งโดยเจตนาและไม่ตั้งใจ สิ่งที่มักเกิดขึ้นในชีวิตหลายคน คือ เรามักเพ่งจ้องไปที่สิ่งเลวร้ายในชีวิตที่เคยเกิดขึ้นในตัวเรา บาดแผลกลายเป็นสิ่งที่เราหมกหมุ่น ให้ค่า ให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องอื่นใด เราหลงลืมและละเลยด้านอื่นๆ ของชีวิต
ในแวดวงจิตวิทยา การให้คำปรึกษา การเยียวยา มีทฤษฎีแนวคิดหนึ่งที่สำคัญมากที่ช่วยเราในเรื่องการจัดวางท่าทีของเราต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คือ “ตัวของปัญหานั้นที่จริงมิใช่ปัญหา แต่วิธีจัดการกับปัญหาต่างหาก ที่เป็นปัญหาเสียเอง” หากเราสังเกตตนเองให้ดี ยามเมื่อเกิดภาวะเหตุการณ์หนึ่งๆ ปฏิกิริยาที่ตอบโต้มักออกมาเนื่องจากความเคยชิน หนี หรือ สู้ หากว่าสิ่งนั้นทำให้เรากลัว ตัดสิน วิพากษ์ตอบโต้ไปตามปฏิกิริยานั้นๆ โดยไม่ได้ตรึกตรองเท่าที่ควร ยามเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เราให้ค่าเชิงลบ ปฏิกิริยาคือ ปกป้องตนเอง แต่บ่อยครั้งการปกป้องตนเองกลับทำร้ายตนเอง เช่น เพื่อป้องกันความผิดหวังในความสัมพันธ์ หลายคนเลือกที่จะอยู่โดดเดี่ยว ไม่กล้าเปิดใจในความสัมพันธ์แบบลึกซึ้งต่อไป ไม่กล้าเปิดใจ ไม่กล้ารัก ฯลฯ ปฏิกิริยาข้างต้น คือ การเรียนรู้ที่จะอยู่รอด การเรียนรู้เพื่อรับมือกับบาดแผลชีวิต ซึ่งหากทบทวนให้ดี แนวทางการรับมือกลับทำร้ายชีวิตและจิตใจของเจ้าของชีวิตเสียเอง
บาดแผลอันเลวร้าย กลายเป็นสิ่งที่เราหมกหมุ่นให้ค่ามากกว่าเรื่องใดๆ จนทำให้เราหลงลืมด้านอื่นของชีวิต
สิ่งที่น่ามหัศจรรย์อีกประการคือ ในบาดแผลนั้นแท้จริงกลับเป็นสิ่งที่สร้างความเข้มแข็งเติบโตให้กับเรา เพราะเมื่อเรารู้จักยอมรับและเรียนรู้จากบาดแผลนั้น นั่นหมายถึงเราได้เรียนรู้และเปิดใจในส่วนเสี้ยวบางอย่างในตัวเราที่เราปฎิเสธ และเราก็ให้ค่าส่วนเสี้ยวนั้นว่า บาดแผล เช่น เราฝังใจกับการถูกทอดทิ้งโดยบุคคลรอบตัวที่เราให้ค่า เพื่อปกป้องตนเอง เราจึงเลือกทำตัวเป็นคนเฉยชา ขณะที่ส่วนเสี้ยวเล็กๆ นั้นคือ ความต้องการการใส่ใจในความสัมพันธ์ แต่เรากลับเพิกเฉยทอดทิ้งส่วนเสี้ยวนั้น และเรียกมันว่า บาดแผล นี่คือสิ่งที่เราทำกับตัวเอง แต่หากว่าเรากล้าที่จะเปิดใจ ยอมรับ และเรียนรู้ เราจะค้นพบว่าบาดแผลนั้น แท้จริงคือความต้องการที่ซ่อนลึกภายในตัวเรา นั่นคือ ความต้องการในสายสัมพันธ์ ความใส่ใจและยินดีในความสัมพันธ์ เมื่อเราเปิดรับ เรียนรู้ และยอมรับในความต้องการนี้ พร้อมที่จะดูแลความต้องการนี้ บาดแผลก็จะไม่ใช่บาดแผลอีกต่อไป แต่คือปุ๋ยที่ให้ความงอกเงย เติบโต สู่ความเป็นคนที่เข้าใจทุกข์ เข้าใจสุข และเข้าใจในชีวิต
ทั้งหมดนี้ ด่านแรกที่เราต้องเผชิญคือ การเปิดใจ ยอมรับ และเรียนรู้กับบาดแผลนั้น ก้าวแรกคือ การเผชิญกับอดีตซึ่งกลบฝังบาดแผลนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เพราะต้องอาศัยความกล้าหาญและความเข้มแข็ง
สิ่งพึงระลึกในใจ คือ “ขอความเข้มแข็ง ความกล้าหาญ จงอยู่เคียงข้างในเราทุกคน”