ท่านนายกรัฐมนตรีบอกกับเด็กๆ ที่ท่านไปสาธิตการสอนคณิตศาสตร์ว่า ท่านใช้คณิตศาสตร์ซึ่งเป็นตรรกะชนิดหนึ่งในชีวิตประจำวันของท่านมาก ไม่ว่าในทางส่วนตัวหรือการบริหารงานบ้านเมือง
เพราะคณิตศาสตร์ช่วยสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ เช่น ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมฯ หรือ GDP ก็ช่วยในการวางแผนยุทธศาสตร์ ฯลฯ อะไรในทำนองนี้
จริงของท่านนายกฯ ว่าคณิตศาสตร์นั้นมีประโยชน์มากมายมหาศาล และมีความน่าเชื่อถือเพราะสามารถจะทำนายการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุอย่างแม่นยำ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว ดังเช่นการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา น้ำขึ้นน้ำลง รวมไปถึงการสร้างเทคโนโลยีที่มีคุณูปการต่อการพัฒนาคุณภาพการดำรงชีวิตทางกายภาพอีกมากมาย แต่ตรรกะแบบคณิตศาสตร์ก็มีข้อจำกัดและข้ออ่อนที่พึงระวังอยู่มิน้อยด้วยเช่นกัน เพราะโลกธรรมชาติของเรายับเยิน ชีวิตยุ่งเหยิง และสังคมยุ่งยากอยู่ในปัจจุบัน ก็มีเหตุมาจากการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา เราใช้วิธีคิดแบบคณิตศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ในการบริหารจัดการชีวิต สังคม ธรรมชาติ เพราะเชื่อมั่นว่าตัวเลขบ่งชี้ความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ได้ดี รายได้บอกคุณภาพชีวิต (?) GDP บอกความมั่งคั่งของประเทศและความผาสุกของประชากร (?)
นักคิดด้านนิเวศวิทยาคนหนึ่งชื่อไวซาคเคอร์ (Weizacke) เปรียบเทียบให้เห็นถึงข้อจำกัดของวิธีคิดแบบเน้นความสำเร็จของตัวเลขหรือการเน้นแต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมว่า เหมือนรถยนต์ 2 คัน วิ่งสวนกันอย่างเงียบๆ บนถนนสายหนึ่งในชนบท โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น “ความเป็นปกติ” นี้มีผลน้อยต่อการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) หรือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อคนขับคนหนึ่งเกิดใจลอยข้ามเลนไปชนโครมรถที่วิ่งสวนมา ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงที่ต่อเนื่องไปถึงรถอื่นๆ ที่วิ่งตามมาด้วย อุบัติการณ์นี้จะทำให้ GDP ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้องลั่นว่า “ยอดๆๆ !” เพราะตัวเลขต่างๆ จะวิ่งพุ่งพรวดพราดทันที มีงานให้แพทย์ พยาบาล ตำรวจ คนซ่อมรถ คนขายรถ ขายประกันภัย นักหนังสือพิมพ์ (ถ้าถึงตายก็คงเกี่ยวโยงไปถึงคนขายโลงศพ สัปเหร่อ วัด สุสาน พระ คนขายพวงหรีดดอกไม้ ฯลฯ) ทั้งๆ ที่ตัวเลขซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งหลายเหล่านี้ มิได้มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์แต่อย่างไรเลย ข้อเขียนของเขาเตือนใจเราว่า คณิตศาสตร์บอกเราได้ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณของวัตถุ ซึ่งหาได้จำเป็นว่าตัวเลขที่สวยงามเหล่านั้น จะหมายถึงความสุขสงบและสันติของสังคมโดยอัตโนมัติแต่อย่างไรไม่
ทั้งนี้เนื่องจากสรรพสิ่งในโลกนี้มิได้ดำรงอยู่ด้วยกายภาพหรือทางวัตถุเพียงส่วนเดียว และสรรพสิ่งในโลกนี้ก็มิได้สัมพันธ์กันแบบคำนวณได้ วัดได้ เห็นได้ชัดๆ หรือสัมพันธ์เป็นสมดุลกันแบบสมการ (=) ทางคณิตศาสตร์ หากแต่โลกและชีวิตของเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบใหญ่นี้ ยังมีด้านนามธรรม จิตใจ จิตวิญญาณที่มิใช่เป็นองค์ประกอบของวัตถุหรืออิงอาศัยวัตถุดังที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่อธิบาย หากเป็นอิสระโดยที่ทั้งกายภาพ-จิตวิญญาณต่างก็สัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน การเปลี่ยนแปลงขององค์รวมนี้มีความซับซ้อน กระทบถึงกันตลอดเวลา การพัฒนาแต่กายภาพย่อมกระทบจิตวิญญาณโดยตรงด้วย ปัญหาสังคมมากมายในปัจจุบันก็บอกเราเช่นนั้น
ที่สำคัญคือโลกทางจิตวิญญาณ หรือภาวะแห่งความ “สะอาด สว่าง สงบ” ของจิตมนุษย์ไม่สามารถค้นพบหรือคำนวณได้ชัดๆ แต่ต้องใช้ “ใจ” และปัญญาเป็นเครื่องรับรู้หรือช่องทางสัมผัส การพัฒนาชีวิต-สังคมจึงต้องสร้างสมดุลระหว่างนามธรรม-รูปธรรมนี้ ในแง่บุคคลคือต้องมีการพัฒนาเครื่องรับทาง “จิต” ให้สามารถเข้าถึงความสะอาด สว่าง สงบ เช่นเดียวกับผู้บริหารบ้านเมืองต้องจัดเงื่อนไขของการพัฒนาให้สมดุล ให้ประชาชนมีปัจจัย 4 ไม่อดอยากหิวโหย ในขณะเดียวกันก็ไม่กระตุ้นการบริโภควัตถุอย่างไม่รู้จักพอ รวมไปถึงจัดการศึกษา สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตวิญญาณ ฯลฯ ด้วย
คณิตศาสตร์บอกเราได้ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณของวัตถุ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าตัวเลขที่สวยงามเหล่านั้น จะหมายถึงความสงบสุขของสังคมโดยอัตโนมัติ
ข้อพึงระวังที่สำคัญอีกประการคือ วิธีคิดแบบคณิตศาสตร์จะทำให้เราปฏิเสธการดำรงอยู่ของสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นชัดไม่ได้ คำนวณและทำนายไม่ได้ อาทิ ความศรัทธา ญาณหยั่งรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ฯลฯ และพยายามทำให้ “ความจริง” ทุกสิ่งต้องวัดได้ แสดงตัวตนให้เห็นกันชัดๆ ได้ด้วยรูปธรรมที่ผ่านค่าทางตัวเลข เช่น อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เส้นวัดความยากจน ความยุติธรรมในทางรายได้ (มากกว่าทาง “โอกาส” ซึ่งฟังเป็นนามธรรม) ฯลฯ แล้วทำให้คนเชื่อว่าตัวเลขที่แสดงออกมานั้น มีความหมายและที่พึงระวังที่สุดคือคิดว่าเป็น “ความจริง”
เพราะในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เราเชื่อกันว่า ความเจริญก้าวหน้าหรือความเสื่อมถอยของประเทศให้พิจารณาจากตัวเลขทั้งหลายดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลนำมารายงานและเผยแพร่ต่อสาธารณชน ยิ่งรัฐบาลไหนที่ผู้นำเก่งคณิตศาสตร์ มีวิธีคิดแบบคณิตศาสตร์ก็ยิ่งมีความสามารถหาความนิยมหรือสร้างความชอบธรรมให้เพิ่มมากขึ้นแก่นโยบายสาธารณะของรัฐ เพราะสามารถทำทุกอย่างให้ชัดเจน มีกำหนดเวลาแน่นอน มีธงตัวเลขชัดเจน (6 เดือน, 6 ปี…) ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับภาคธุรกิจ ที่ใช้ตัวเลขมาแสดงคุณภาพของสินค้าตนเอง เช่น สระผมให้นุ่มสลวยใน 14 วัน หน้าขาวใสได้ใน 7 วัน ล่าสุดลดเอว 2-3 นิ้วได้ใน 1 ชั่วโมง ฯลฯ ผลของนโยบายหรือการใช้สินค้าในระยะยาวเป็นอย่างไร ไว้ว่ากันทีหลัง เพราะผลลัพธ์ที่ต้องการคือยอดความนิยมและยอดขายเป็นสำคัญ
ผลลัพธ์แบบ “ควิก ด่วน ทันใจ” ฯลฯ เหมาะสมสำหรับธุรกิจที่แข่งขันกันขายสินค้าและบริการ คือผลิตให้มากสุดในเวลาน้อยสุด ลงทุนให้น้อยสุดแต่ได้กำไรมากสุด ฯลฯ วิธีคิดแบบคณิตศาสตร์จึงสำคัญแก่ธุรกิจ แต่ชีวิตและสังคมของเราไม่ใช่วัตถุหรือสินค้า แม้ว่าบางอย่างจะคล้ายกัน (ความเป็นกายภาพ) เพราะมนุษย์มีเลือดเนื้อ ความคิด จิตใจ มีปากมีเสียง ฯลฯ ที่สำคัญคือมนุษย์จำเป็นต้อง “เรียนรู้” ด้วยตนเอง ตัวเลขทั้งหลายที่ปักเป็นธงไว้ให้เกิดขึ้น (ตามสั่ง) จึงอาจเป็นเหตุทำลายการเรียนรู้ของประชาชนซึ่งผู้บริหารพึงระวัง
ยกเว้นแต่ว่า ผู้บริหารสนใจแต่ยอดความนิยมมากกว่าความยั่งยืนของสังคมและธรรมชาติ